อตีต, ปจฺจุปฺปนฺน, อนาคต (บาลีวันละคำ 45)
อตีต, ปจฺจุปฺปนฺน, อนาคต
อ่านว่า อะ-ตี-ตะ, ปัด-จุบ-ปัน-นะ, อะ-นา-คะ-ตะ
เป็นคำบอกกาลเวลา เอามาใช้ในภาษาไทยว่า อดีต, ปัจจุบัน, อนาคต
เราเข้าใจความหมายของคำเหล่านี้เหมือนเป็นคำไทย จนไม่ได้นึกถึงคำแปลตามรากศัพท์
“อตีต” มาจาก อติ (ล่วง) + อิต (ไปแล้ว) = อตีต “ล่วงเลยไปแล้ว”
“ปจฺจุปฺปนฺน” มาจาก ปฏิ (เฉพาะ) แผลงเป็น ปจฺจ + อุปฺปนฺน (เกิดขึ้น) = ปจฺจุปฺปนฺน “เกิดขึ้นเฉพาะหน้า”
“อนาคต” มาจาก น (ไม่) แผลงเป็น อน + อาคต (มาแล้ว) = อนาคต “ยังไม่มา”
มีพุทธภาษิตตรัสสอนว่า –
อตีตํ นานฺวาคเมยฺย = อย่าหวนละห้อยถึงอดีต
นปฺปฏิกงฺเข อนาคตํ = อย่าฝันหวานถึงอนาคต
ปจฺจุปฺปนฺนญฺจ โย ธมฺมํ
ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ = ทำปัจจุบันวันนี้ให้แจ่มใส
บาลีวันละคำ (45)
17-6-55