บาลีวันละคำ

ภวังค์ (บาลีวันละคำ 2,972)

ภวังค์

เคยได้ยิน แต่อาจจะยังไม่เข้าใจ

อ่านว่า พะ-วัง

ภวังค์” เขียนแบบบาลีเป็น “ภวงฺค” อ่านว่า พะ-วัง-คะ แยกศัพท์เป็น ภว + องฺค

(๑) “ภว

อ่านว่า พะ-วะ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อู ที่ ภู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (ภู > โภ > ภว)

: ภู + = ภูณ > ภู > โภ > ภว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะที่เจริญ” (2) “เหตุเป็นเครื่องเจริญแห่งเหล่าสัตว์” (3) “ที่เป็นที่เกิดขึ้น” (4) “เหตุที่ทำให้มีการเกิดขึ้น” หมายถึง ความเกิดใหม่, ภพ, รูปกำเนิด, ความมี, ชีวิต (becoming, form of rebirth, state of existence, a life)

(๒) “องฺค

อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + (อะ) ปัจจัย

: องฺคฺ + = องฺค (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” คือทำให้รู้ต้นกำเนิด (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นอวัยวะ

องฺค” ในบาลีหมายถึง ส่วนของร่างกาย, แขนขา, ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ, เหตุ, เครื่องหมาย (part of the body, a limb, part, member, cause, reason, status symbol); ส่วนประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือขององค์ (a constituent part of a whole or system or collection)

บาลี “องฺค” ใช้ในภาษาไทยว่า “องค์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(1) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ, (ราชาศัพท์) ตัว (ใช้แก่หม่อมเจ้า) เช่น รู้สึกองค์ แต่งองค์.

(2) ส่วนย่อยที่เป็นองค์ประกอบ เช่น มรรคมีองค์ ๘.

(3) ในราชาศัพท์ใช้เป็นลักษณนามเรียกอวัยวะ สิ่งของ หรือคำพูด เป็นต้น ของกษัตริย์หรือเจ้านาย เช่น พระทนต์ ๑ องค์ (ฟัน ๑ ซี่) พระสุพรรณภาชน์ ๑ องค์ พระศรี ๑ องค์ (หมาก ๑ คำ) พระที่นั่ง ๑ องค์ พระบรมราโชวาท ๒ องค์.

(4) ลักษณนามใช้เรียกสิ่งที่เคารพบูชาบางอย่างในทางศาสนา เช่น พระพุทธรูป ๑ องค์ พระเจดีย์ ๒ องค์, (ภาษาปาก) ลักษณนามใช้เรียกภิกษุสามเณร เช่น ภิกษุ ๑ องค์.

ภว + องฺค = ภวงฺค แปลว่า “องค์แห่งภพ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภวงฺค” ไว้ดังนี้ –

constituent of becoming, function of being, functional state of subconsciousness, i. e. subliminal consciousness or subconscious life-continuum, the vital continuum in the absence of any process [of mind, or attention] (องค์หรือส่วนประกอบแห่งการเป็นไป, หน้าที่แห่งการมีการเป็น, หน้าที่ของจิต คือ องค์ของจิตที่หยั่งลงสู่ภพ หรือภวังคจิต, จิตหยั่งลงสู่ภวังค์)

บาลี “ภวงฺค” ใช้ในภาษาไทยเป็น ภวังค์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “ภวังค์” และ “ภวังคจิต” บอกไว้ดังนี้ –

(1) ภวังค-, ภวังค์ : (คำนาม) ส่วนที่สืบต่อระหว่างปฏิสนธิกับจุติ มิได้เสวยอารมณ์ในทวารทั้ง ๖ มีจักษุทวารเป็นต้น. (ป.); ความเป็นอยู่โดยไม่รู้สึกตัว.

(2) ภวังคจิต : (คำนาม) จิตเป็นภวังค์. (ป.).

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายความหมายของ “ภวังค์” ไว้ที่คำว่า “ภวังคจิต” ดังนี้

…………..

ภวังคจิต : จิตที่เป็นองค์แห่งภพ, ตามหลักอภิธรรมว่า จิตที่เป็นพื้นอยู่ระหว่างปฏิสนธิและจุติ คือ ตั้งแต่เกิดจนถึงตายในเวลาที่มิได้เสวยอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ มีจักขุทวารเป็นต้น แต่เมื่อใดมีการรับรู้อารมณ์ เช่น เกิดการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ก็เกิดเป็นวิถีจิตขึ้นแทนภวังคจิต เมื่อวิถีจิตดับไป ก็เกิดเป็นภวังคจิตขึ้นอย่างเดิม

ภวังคจิต นี้ คือมโน ที่เป็นอายตนะที่ ๖ หรือมโนทวาร อันเป็นวิบาก เป็นอัพยากฤต ซึ่งเป็นจิตตามสภาพ หรือตามปกติของมัน ยังไม่ขึ้นสู่วิถีรับรู้อารมณ์ (เป็นเพียงมโน ยังไม่เป็นมโนวิญญาณ)

พุทธพจน์ว่า “จิตนี้ประภัสสร (ผุดผ่อง ผ่องใส บริสุทธิ์) แต่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่จรมา” มีความหมายว่า จิตนี้โดยธรรมชาติของมันเอง มิใช่เป็นสภาวะที่แปดเปื้อนสกปรก หรือมีสิ่งเศร้าหมองเจือปนอยู่ แต่สภาพเศร้าหมองนั้นเป็นของแปลกปลอมเข้ามา ฉะนั้น การชำระจิตให้สะอาดหมดจดจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้; จิตที่ประภัสสรนี้ พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า ได้แก่ ภวังคจิต.

…………..

เราเคยได้ยินคำพูดว่า อยู่ในห้วงภวังค์ หรือ จิตตกภวังค์ ตอนนี้คงพอรู้บ้างแล้วว่า “ภวังค์” หมายถึงอะไร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าคิดเพียงแค่ว่า-อะไรบ้างที่ทำให้ยังไม่ตาย

: แต่จงคิดให้ไกลไปอีกว่า-อะไรบ้างที่ยังไม่ได้ทำ

#บาลีวันละคำ (2,972)

1-8-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *