บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

นัยะของผม

————

ความจริงผมยังมีเรื่อง “ความแยกไม่ออกบอกไม่ถูกของสังคมไทย” ที่ยังค้างอยู่อีก ๒ หัวข้อ แต่พอดีว่านึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาได้ ก็เลยขออนุญาตเอามาเขียนขัดตาทัพไว้ตรงนี้ก่อน เดี๋ยวลืม 

………….

เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมโพสต์ข้อความสั้นดังที่เอามาลงเป็นภาพประกอบด้วยแล้ว

……………………………………..

ดูก่อนภราดา!

ตัวเราเองแท้ๆ 

ยังเป็นอย่างที่เราอยากเป็นไม่ได้

ไฉนจะเกณฑ์คนอื่นให้เป็นอย่างที่เราอยากได้

……………………………………..

ผมเลือกโพสต์ข้อความสั้นนี้ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็เพราะมีนัยะ 

………….

ขออนุญาตแวะข้างทางนิด

“นัยะ” สะกดแบบนี้ราชบัณฑิตยฯ ท่านว่าไม่ถูกหลักภาษา แต่ผมก็ไม่รู้ว่าจะสะกดอย่างไรดีจึงจะให้อ่านว่า ไน-ยะ อย่างต้องการและที่นิยมพูดกัน 

สะกด “นัยยะ” ก็ผิด เพราะศัพท์เดิมมี ย ยักษ์ ตัวเดียว – “นย” ไม่ใช่ “นยฺย”

สะกด “นยะ” ก็ต้องอ่านว่า นะ-ยะ ไม่ตรงกับเสียง ไน-ยะ ที่ต้องการ

กัดฟันสะกดเป็น “นัยะ” คงศัพท์เดิม “นย” ไว้ได้ด้วย อ่านว่า ไน-ยะ ตรงตามต้องการได้ด้วย เป็นการบังคับให้ ย ทำหน้าที่ ๒ อย่าง 

๑ เป็นตัวสะกด คือ “นัย-” ทำให้อ่านว่า ไน ตามที่ต้องการ

๒ เป็นตัวควบสระหรือเป็นที่เกาะของสระ อะ คือ “-ยะ” ทำให้อ่านว่า ยะ ตามที่ต้องการ

เพราะฉะนั้น “นัยะ” (ไน-ยะ) จะว่าผิด ก็ไม่ผิดหมด จะว่าถูก ก็ไม่ถูกหมด ถ้าจะช่วยกันสมมุติให้เป็นการสะกดที่ใช้ได้สักคำหนึ่ง ก็ควรได้รับความกรุณายิ่งกว่าคำบางคำที่ผิดแท้ๆ แต่สมมุติกันว่าถูกไปแล้ว 

อนึ่ง โปรดทราบว่า สะกด “นัยะ” แบบนี้ มีคนสะกดนำทางมาก่อนแล้ว ผมไม่ได้คิดขึ้นเองนะครับ

เอาละครับ ไปกันต่อ 

………….

“นัยะ” ที่โพสต์ข้อความนั้นก็คือ เมื่อเทียบกันระหว่างรัชกาลที่ล่วงไปกับรัชกาลปัจจุบัน ผมสังเกตเห็นว่า ผู้คนส่วนหนึ่งยังให้คะแนนรัชกาลปัจจุบันไม่เต็มที่ ทั้งมักแสดงออกด้วยอาการต่างๆ 

เช่นก่อนหน้านั้นก็มีข่าวเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ไหนสักแห่งซึ่งคงจะถูกกำหนดตัวให้ไปร่วมพิธีถวายพระพร แสดงอาการไม่พอใจออกมา จนเป็นข่าวเป็นเรื่องเป็นราว 

ตรงนี้ก็น่าแวะข้างทาง 

คือ-สำหรับข้าราชการ เรื่องถูกกำหนดตัวให้ไปร่วมพิธี เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สุด 

ยิ่งข้าราชการทหาร-อย่างที่ผมรับราชการมา-ด้วยแล้ว เขาถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่อันมีเกียรติ ยิ่งเป็นพระราชพิธี-เกี่ยวกับเจ้านายด้วยแล้ว ถือเป็นหน้าที่อันสำคัญยิ่งและเป็นเกียรติอย่างยิ่งในชีวิตรับราชการ 

ใครถูก “เวรเฝ้า” แต่งเต็มยศ คุยฟุ้งไปได้เป็นเดือน ทั้งๆ ที่เวลาปฏิบัติจริงต้องไปยืนท้ายแถว แทบไม่ได้เห็นพระองค์ด้วยซ้ำไป แต่ก็ภาคภูมิใจเป็นที่สุด นี่เป็นเรื่องจริง 

ชอบหรือไม่ชอบ รักหรือไม่รัก เป็นเรื่องหนึ่ง 

หน้าที่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

ใครแยกเป็น ก็ทำหน้าที่ได้ด้วยความสุข 

สำหรับคนรุ่นใหม่ ที่เกิดมาก็เห็นบ้านเมืองเป็นอย่างที่เป็นอยู่ อาจมองไม่เห็นความสำคัญของสถาบัน พร้อมกับคิดแบบดูแคลนว่า-ไม่เห็นจำเป็นจะต้องมี 

………….

ผมเคยชวนให้คิดถึงพี่น้องคนจีนที่อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่อดีตกาล

ใช้ไม้คานหาบหลัว ซื้อขวดขาย จนตั้งเนื้อตั้งตัวได้ เป็นเจ้าสัวมั่งคั่ง คิดถึงคุณของไม้คาน เอาไม้คานปิดทองใส่ตู้ไว้กราบไหว้บูชา 

ลูกหลานสืบต่อมาเพียง ๓ ชั่วคน ไม่เคยหาบหลัว ไม่เคยลำบาก ไม่รู้จักไม้คาน เห็นไม้คานในตู้เป็นของเกะกะ-ไม่เห็นจำเป็นจะต้องมี 

…………………..

นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ

กตญฺญูกตเวทิตา. 

…………………..

ไม่ต้องแปลก็คงพอเดาความหมายได้

ถ้าคนรุ่นเราไม่รู้จักคุณค่าของคนรุ่นก่อน

คนรุ่นหน้าก็จะไม่รู้จักคุณค่าของคนรุ่นเรา

ถ้าใครจะประกาศว่า ข้าไม่ต้องการให้ใครมารู้จักคุณค่าหรือบุญคุณอะไรของข้า

ก็ได้ ก็เอาสิ 

แต่เราต้องอยู่กันอย่างสัตว์เดรัจฉาน 

เพราะสัตว์เดรัจฉานแม้มันจะอยู่ด้วยกัน แต่มันก็ไม่ต้องรู้จักคุณค่าหรือบุญคุณของกัน

เลือกเอาสิ

………….

มีอยู่สมัยหนึ่ง หนังสือพิมพ์ชอบลงข่าวพระประพฤติชั่ว

ข่าวพระประพฤติชั่วขึ้นพาดหัวแทบทุกวัน

ผมเคยตั้งวงถกกันว่า ทำไมเล่นแต่พระ

บาทหลวงประพฤติชั่วก็มี 

โต๊ะอิหม่ามประพฤติชั่วก็มี

ทำไมไม่เอาขึ้นพาดหัวบ้าง

ทำไมเล่นแต่พระ 

มีผู้ออกมาแก้แทนว่า ก็เมืองไทยศาสนาพุทธใหญ่กว่าเพื่อน ศาสนบุคคลมากกว่าเขาก็ต้องมองเห็นง่ายกว่าเขาเป็นธรรมดา 

ผมย้อนไปว่า เวลาจะขอให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ โผล่หน้ามาคัดค้านกันขรมว่า บ้านเมืองเรามีศาสนาอื่นอยู่ด้วย จะเอาศาสนาอื่นไปไว้ที่ไหน 

ทีแบบนั้น ทำไมไม่อ้างว่าเมืองไทยศาสนาพุทธใหญ่กว่าเพื่อน

เวลาตีหัว ตีเฉพาะหัวพุทธ

แต่เวลาแจกขนม ต้องแจกให้ศาสนาอื่นด้วย

ตรรกะแบบไหน เอาอะไรคิด

………….

พอหนังสือพิมพ์พาดหัวพระประพฤติชั่ว ก็มักมีคนออกมาประกาศ – “ต่อไปนี้กูจะไม่ใส่บาตรให้แม่งแดก”

ไม่ต้องอ้างคำบอกเล่า ผมได้ยินกับหู เป็นหลักฐานชั้น Primary sources 

ฟังแล้วก็สลดใจ ทำไมคิดยังงั้น 

พระประพฤติชั่ว ก็มีคนบกพร่องไปคนหนึ่งแล้ว

ไม่ใส่บาตร ไม่ทำบุญ คราวนี้มีคนบกพร่องเพิ่มขึ้นเป็นสองคน

………….

วิธีคิดที่จะช่วยให้แยกได้-แยกเป็น ก็คือคิดว่า หน้าที่ใครหน้าที่มัน

เรามีหน้าที่อะไร ก็ทำหน้าที่ของเราไป

ใครเขามีหน้าที่อะไร ก็ให้เขาทำหน้าที่ของเขาไป

อย่าไปเที่ยวเกณฑ์ให้คนอื่นทำหน้าที่ก่อน แล้วข้าพเจ้าจึงจะทำหน้าที่ของข้าพเจ้า

นี่คือนัยะแห่งข้อความสั้นที่ผมโพสต์

……………………………………..

ดูก่อนภราดา!

ตัวเราเองแท้ๆ 

ยังเป็นอย่างที่เราอยากเป็นไม่ได้

ไฉนจะเกณฑ์คนอื่นให้เป็นอย่างที่เราอยากได้

……………………………………..

ใครมีหน้าที่ แต่เขาไม่ทำหน้าที่ ก็เป็นความบกพร่องของเขา

ทำไมจะต้องเอาความบกพร่องของเขามาเป็นเหตุให้เราบกพร่องไปอีกคนหนึ่ง 

พอคิดอย่างนี้ คราวนี้เห็นใครไม่ทำอะไรอย่างที่เราหวังจะให้เขาทำ หรือเห็นเขาไปทำอย่างอื่นที่เราเห็นว่าเขาไม่น่าจะทำ 

อย่างเช่น-พระประพฤติชั่ว เห็นพระไม่ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย เห็นพระไม่เอาพระไตรปิฎกเป็นหลัก แต่ไปเอาวิธีคิดแบบอื่นมาเป็นหลัก หรือเห็นพระทำอะไรๆ อีกสารพัดที่ไม่ตรงกับที่เราอยากจะให้ท่านทำ 

เห็นอย่างนี้เราก็จะไม่หมดกำลังใจ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง-เราก็จะไม่ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับพระ 

ใครที่รู้จักผม และเคยเห็นปฏิปทาของผม จะยืนยันได้ว่าผมเคารพพระอย่างยิ่ง 

คนที่เคยไปไหนๆ กับผม มักเอาไปปรารภกันว่า อาจารย์ทองย้อยนี่แกยังไงของแก ผ่านวัดไหนแกยกมือไหว้ตลอด 

โปรดทราบว่าผมไม่ได้เคารพเฉพาะกิริยามารยาท แต่มันออกมาจากหัวใจ 

เห็นคนสมัยนี้เดินสวนกับพระ พระต้องหลีกทางให้โยม

ผมลมออกหูทุกทีไป

ผมเจอพระ ไม่ว่าจะในที่ไหนๆ ผมน้อมนมัสการท่านทันทีและทุกรูปทุกวัด 

บางรูปผมรู้ว่าท่านประพฤติไม่เรียบร้อย แต่ผมก็น้อมนมัสการ ไม่เคยเอาความไม่เรียบร้อยของท่านมาเป็นเหตุให้ผมกลายเป็นคนไม่เรียบร้อยไปอีกคนหนึ่ง

ผมประกาศนโยบายของผมว่า ผมเข้าข้างพระทุกกรณี – กรุณาขีดเส้นใต้คำว่า “ทุกกรณี” ด้วย

พระมีเรื่องกับชาวบ้าน ผมเข้าข้างพระ-แม้จะรู้ว่าพระผิด

พระกับพระมีเรื่องกันเอง ผมอยู่ตรงกลาง คือเข้าทั้งสองข้าง 

คติหรือเหตุผลของผม-ที่เข้าข้างพระ ไม่ใช่เพราะเห็นด้วยกับพระทุกเรื่อง หรือสนับสนุนให้พระทำผิดต่อไป 

แต่เพราะผมมีหลักอยู่ว่า –

เรารักใคร จงเป็นพวกเดียวกับเขา 

ความเป็นพวกเดียวกันทำให้เราได้สิทธิ์ที่จะทักท้วงเตือนติงเมื่อเห็นสิ่งใดที่ไม่ถูกไม่ควร 

การอยู่กันคนละพวกก็เหมือนอยู่คนละฟากคลอง ทำได้แค่ตะโกนด่ากัน ซึ่งไม่เกิดประโยชน์สร้างสรรค์อันใด

ถ้าไม่อยากเห็นใครเดินตกเหว ก็จงเข้าประชิดตัวเขาไว้ ไม่ใช่ตีจาก

แต่เพราะเราไม่อาจได้อะไรทุกอย่างที่เราอยากได้หรืออยากให้เป็น เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นใครไม่เป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น เราก็ต้องมีหลักยึด คือ 

๑ อย่าเกลียดเขา

๒ ทำหน้าที่ของเราให้เต็มที่

๓ ถ้าหวังดีต่อกันจริง จงหาวิธีบอกเขาว่าเขาบกพร่องอะไร ไม่ใช่เอ็ดตะโรใส่เขา

เกณฑ์วัดความฉลาดของเราก็คือ เรามีเทคนิค มีศิลปะ หรือมี “กึ๋น” แค่ไหนที่จะบอกเขา-คนที่คิดไม่เห็นเป็นไม่ได้อย่างใจเรา-ให้เขารู้ตัวจนยอมรับว่าเขาบกพร่องต้องแก้ไข 

อย่างนิทานเรื่อง “ไล่ควายเข้าไห”

………….

พ่อติดการพนัน เล่นโป 

สวนหมดเป็นขนัดๆ 

นาหมดเป็นแปลงๆ 

ควายหมดเป็นฝูงๆ 

ลูกๆ ได้แต่นั่งมอง ไม่รู้จะเตือนพ่อได้อย่างไร เตือนกันตรงๆ น่ะไม่กล้าอยู่แล้ว

แต่ลูกชายคนหนึ่งค่อนข้างฉลาด หาวิธีจนได้ 

วันหนึ่ง พ่อตื่นเช้า ออกมานั่งที่นอกชาน วางแผนว่าวันนี้จะไปเล่นโปที่บ่อนไหนดี 

ลูกชายเอาไหใบหนึ่งมาตั้งที่ลานหน้าบ้าน จูงควายมาตัวหนึ่ง ไล่ควายให้เดินวนรอบไห ปากก็พูดซ้ำๆ 

“เข้าไป เข้าไหไป” 

พ่อเห็นก็ตะโกนถามว่า ไอ้ทิด เอ็งจะทำบ้าอะไรของเอ็ง 

เข้าแผน ลูกชายร้องตอบไปว่า ฉันจะไล่ควายเข้าไห 

พ่อหัวเราะเยาะ เอ็งจะบ้าเรอะ ควายตัวเบ้อเร้อ ปากไหนิดเดียว มันจะเข้าไปได้ยังไง 

ลูกชายตอบชัดถ้อยชัดคำว่า มันต้องเข้าได้สิพ่อ ก็ทีรูโปเล็กนิดเดียว สวนเป็นขนัดๆ นาเป็นแปลงๆ ควายเป็นฝูงๆ มันยังเข้าไปได้ นี่ปากไหเบ้อเร้อเบ้อร่าทำไมควายตัวเดียวจะเข้าไม่ได้

แค่นั้นเอง พ่อเกิด insight 

เลิกเล่นการพนันทุกชนิดตั้งแต่วันนั้น 

………….

อย่าหมดกำลังใจ-เมื่อเห็นใครไม่ทำอะไรอย่างที่เราหวัง

แต่จงมีกำลังใจที่จะทำหน้าที่ของเราต่อไปให้มั่นคง

การหาวิธีเตือนให้คนที่เรารักทำหน้าที่ของเขา ก็เป็น “หน้าที่” อย่างหนึ่งของเราด้วย 

นี่คือ “นัยะ” ของผมครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑ สิงหาคม ๒๕๖๓

๑๖:๒๖

………………………………………

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *