บาลีวันละคำ

ประกาศนียบัตร (บาลีวันละคำ 2,973)

ประกาศนียบัตร

ไม่ใช่ตัวชี้วัดความสามารถ

อ่านว่า ปฺระ-กา-สะ-นี-ยะ-บัด ก็ได้

อ่านว่า ปฺระ-กาด-สะ-นี-ยะ-บัด ก็ได้

(ตามพจนานุกรมฯ)

ประกอบด้วยคำว่า ประกาศนีย + บัตร

(๑) “ประกาศนีย

เขียนแบบบาลีเป็น “ปกาสนีย” (ปะ-กา-สะ-นี-ยะ) รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + กาสฺ (ธาตุ = ส่องแสง, ส่งเสียง) + อนีย ปัจจัย

: + กาสฺ = ปกาสฺ + อนีย = ปกาสนีย แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาพึงส่งเสียงไปทั่ว” หมายถึง การอธิบาย, การทำให้ทราบ, ข่าวสาร, หลักฐาน, การชี้แจง, การประกาศ, การเผยแพร่ (explaining, making known; information, evidence, explanation, publicity)

ปกาสนีย” เขียนอิงสันสกฤตเป็น “ประกาศนีย

(๒) “บัตร

บาลีเป็น “ปตฺต” (ปัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก ปตฺ (ธาตุ = ตก) + ปัจจัย

: ปตฺ + = ปตฺต (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะร่วงหล่นโดยไม่นาน

ปตฺต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ปีกนก, ขนนก (the wing of a bird, a feather)

(2) ใบไม้ (a leaf)

(3) แผ่นโลหะบางๆ เล็กๆ ที่พิณ (a small thin strip of metal at the lute)

บาลี “ปตฺต” สันสกฤตเป็น “ปตฺร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปตฺร : (คำนาม) ‘บัตร์’ ใบ, แผ่น; ยานทั่วไป; หางนก; ภู่ศร, ภู่หรือขนนกอันท่านติดไว้ที่ลูกศรหรือลูกดอก; ใบนารล, ‘นารลบัตร์’ ก็เรียก; ใบหนังสือ; ทองใบ; ฯลฯ ; ธาตุทั่วไปอันแผ่แล้วเปนแผ่นบาง; จดหมาย; ลายลักษณ์อักษรทั่วไป; a leaf; a vehicle in general; the wing of a bird; the feather of an arrow; the leaf of the Laurus cassia; the leaf of a book, goldleaf &c.; any thin sheet or plate of metal; a letter; any written document.”

เดิมเราขีดเขียนอักษรลงบนใบไม้เพื่อใช้ส่งสารติดต่อถึงกัน ต่อมาเมื่อพัฒนาขึ้นเป็นแผ่นกระดาษ จึงเรียกกระดาษหรือสิ่งที่เป็นแผ่นใช้เขียนลายลักษณ์อักษรว่า ปตฺต > ปตฺร ใช้ในภาษาไทยว่า บัตร

คำว่า “บัตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บัตร : (คำนาม) แผ่นเอกสารแสดงสิทธิของผู้ใช้เป็นต้น มักทำด้วยกระดาษรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เช่น บัตรประจำตัว บัตรเลือกตั้ง บัตรสมนาคุณ; ภาชนะทำด้วยกาบกล้วย เป็นรูปกระบะสำหรับวางเครื่องเซ่นสังเวย; ใบไม้, กลีบดอกไม้ เช่น ปทุมบัตร; ขนปีก, ปีก เช่น หากันกระสันโบย บัตรเรียกมารังเรียง (สมุทรโฆษ). (ส. ปตฺร; ป. ปตฺต).”

ประกาศนีย + บัตร = ประกาศนียบัตร

ประกาศนียบัตร” ถ้าแปลงกลับเป็นคำบาลีก็จะเป็น “ปกาสนียปตฺต” (ปะ-กา-สะ-นี-ยะ-ปัด-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “ใบอันเขาพึงส่งเสียงไปทั่ว” คือ แผ่นกระดาษหรือสิ่งที่เป็นแผ่นอันประกาศถึงเรื่องราวอันใดอันหนึ่ง

แต่พึงทราบว่า รูปคำ “ปกาสนียปตฺต” ยังไม่พบว่ามีใช้ในคัมภีร์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ประกาศนียบัตร : (คำนาม) เอกสารแสดงคุณวุฒิ ตามปรกติตํ่ากว่าระดับอุดมศึกษา.”

อภิปรายขยายความ :

คำนี้ยังมีคนพูดหรือใช้ไม่ถูกอยู่ 2 เรื่อง คือ –

๑ มีคนพูดหรือออกเสียงว่า ปฺระ-กาด-นี-ยะ-บัด คือไปแยกคำเป็น ประกาศ + นียบัตร

โปรดระลึกไว้ว่า ในคำว่า “ประกาศนียบัตร” นี้ ไม่มีคำว่า “ประกาศ” ที่เราคุ้นหูคุ้นตาอยู่ด้วยแต่ประการใดทั้งสิ้น มีแต่ “ปกาสนีย-” (ปะ-กา-สะ-นี-ยะ-) เขียนอิงสันสกฤตเป็น “ประกาศนีย-” เวลาอ่านหรือพูดจึงต้องมี –สะ– อีกพยางค์หนึ่งก่อนจะถึง -นี-

๒ มักมีคนชอบพูดว่า “ใบประกาศนียบัตร” คือมีทั้ง “ใบ” มีทั้ง “บัตร” ซึ่งไม่ถูกหลักภาษา

หลักภาษาคือ คำที่เป็นศัพท์ลงท้ายด้วย “-บัตร” เวลาพูดไม่ต้องเติม “ใบ” เข้าข้างหน้า เช่น “ปวารณาบัตร” ไม่ต้องพูดว่า “ใบปวารณาบัตร” ถ้าอยากจะมีคำว่า “ใบ” ก็พูดว่า “ใบปวารณา” ไม่ต้องมี “บัตร”

เฉพาะคำว่า “ประกาศนียบัตร” ถ้าอยากจะให้มีคำว่า “ใบ” มีคนพูดย่อว่า “ใบประกาศ” แต่พึงเข้าใจว่าไม่ใช่คำที่ดี ซ้ำยังชวนให้เข้าใจผิดว่าคำนี้มีคำว่า “ประกาศ” ซึ่งผิดความจริง

ประกาศนียบัตร” ไม่มีคำว่า “ประกาศ” มีแต่คำว่า “ประกาศนีย-” เพราะฉะนั้น พูดคำเต็มๆ ว่า “ประกาศนียบัตร” เป็นดีที่สุด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จะอนุโมทนาบุญใคร อย่าวัดด้วยจำนวนเงินบริจาค

: ความสามารถน้อยหรือมาก อย่าวัดด้วยกระดาษแผ่นเดียว

#บาลีวันละคำ (2,973)

2-8-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *