บาลีวันละคำ

ปัจฉาสมณะ (บาลีวันละคำ 2,974)

ปัจฉาสมณะ

พระผู้ติดตาม

อ่านว่า ปัด-ฉา-สะ-มะ-นะ

ประกอบด้วย ปัจฉา + สมณะ

(๑) “ปัจฉา

เขียนแบบบาลีเป็น “ปจฺฉา” อ่านว่า ปัด-ฉา เป็นศัพท์จำพวก “นิบาต” ศัพท์จำพวกนี้ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คือคงรูปเดิมเสมอ บาลีไวยากรณ์เรียกว่า “นิบาตมีเนื้อความต่าง ๆ” นักเรียนบาลีท่องจำกันว่า “ปจฺฉา ภายหลัง” หมายถึง ข้างหลัง, ส่วนหลัง, ภายหลัง, ถอยหลังไป; ไปทางตะวันตก (behind, aft, after, afterwards, back; westward)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปัจฉา : (คำแบบ คือคำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำวิเศษณ์) ภายหลัง, เบื้องหลัง, ข้างหลัง. (ป.).”

(๒) “สมณะ

เขียนแบบบาลีเป็น “สมณ” อ่านว่า สะ-มะ-นะ รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น

: สมฺ + ยุ > อน = สมน > สมณ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สงบจากบาปด้วยประการทั้งปวงด้วยอริยมรรค” หรือแปลสั้นๆ ว่า “ผู้สงบ” หมายถึง นักบวช, ภิกษุ, บรรพชิต

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมณ” ว่า a wanderer, recluse, religieux (นักบวช, ฤๅษี, สมณะ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สมณ-, สมณะ : (คำนาม) ผู้สงบกิเลสแล้ว โดยเฉพาะหมายถึงภิกษุในพระพุทธศาสนา. (ป.; ส. ศฺรมณ).”

ปจฉา + สมณ = ปจฉาสมณ (ปัด-ฉา-สะ-มะ-นะ)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปจฺฉาสมณ” ว่า a junior Wanderer or bhikkhu (Thera) who walks behind a senior (Thera) on his rounds. The one accompanying Gotama Buddha is Ānanda (ภิกษุผู้น้อยที่เดินตามภิกษุผู้ใหญ่. ภิกษุผู้ติดตามพระโคดมพุทธเจ้า คือพระอานนท์)

บาลี “ปจฺฉาสมณ” เขียนทับศัพท์แบบไทยเป็น “ปัจฉาสมณะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปัจฉาสมณะ : (คำนาม) สมณะผู้ตามหลัง คือ พระผู้น้อยมีหน้าที่เดินตามหลังพระผู้ใหญ่. (ป.).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

ปัจฉาสมณะ : พระตามหลัง, พระผู้ติดตาม เช่น พระพุทธเจ้ามักทรงมีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เป็นศัพท์คู่กับ ปุเรสมณะ พระนำหน้า.”

ขยายความ :

สมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปในที่ต่างๆ พระอานนท์ซึ่งเป็นพุทธอุปัฏฐากมักต้องตามเสด็จด้วยเสมอ (พุทธอุปัฏฐาก : ผู้คอยรับใช้พระพุทธเจ้าในครั้งพุทธกาล มีพระอานนท์พุทธอนุชาเป็นผู้เลิศในเรื่องนี้ และได้เป็นพระพุทธอุปฐากประจำ (นิพัทธุปัฏฐาก) ตั้งแต่เมื่อทรงบำเพ็ญพุทธกิจได้ ๒๐ พรรษาแล้วมาจนถึงพุทธปรินิพพาน)

ภาพที่พระอานนท์เดินตามหลังพระพุทธองค์นั่นเองคือที่มาของคำว่า “ปัจฉาสมณะ

ต่อมา เมื่อพระเถระผู้ใหญ่ไปไหนมาไหนก็มักมีจะมีพระผู้น้อยติดตามไปด้วยเพื่อช่วยทำกิจต่างๆ หรือไปเป็นเพื่อน ก็จึงเรียกพระผู้ติดตามนั้นว่า “ปัจฉาสมณะ” สืบมา

เสนอแบบสนุกนึก :

เวลาผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไปไหนมาไหน มีบริวารติดตามไปกันเป็นขบวน ถ้าเราเรียกบรรดาท่านผู้ติดตามเหล่านั้นว่า “พวกปัจฉาสมณะ” ก็น่าจะขำดี ถือว่าเป็นภาษาปาก หรือคำ slang ได้คำหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: มีผู้ติดตามเป็นร้อยตามหน้าที่

: ไม่เท่าผู้ติดตามด้วยความภักดีเพียงคนเดียว

#บาลีวันละคำ (2,974)

3-8-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *