บาลีวันละคำ

สีทันดร (บาลีวันละคำ 2,975)

สีทันดร

คุ้นหู แต่อาจจะยังไม่รู้ความหมาย

อ่านว่า สี-ทัน-ดอน

บาลีเป็น “สีทนฺตร” อ่านว่า สี-ทัน-ตะ-ระ แยกศัพท์เป็น สีท + อนฺตร

(๑) “สีท

อ่านว่า สี-ทะ รากศัพท์มาจาก สิทฺ (ธาตุ = จม) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อิ ต้นธาตุเป็น อี (สิทฺ > สีท)

: สิทฺ + = สิทณ > สิท > สีท แปลตามศัพท์ว่า “(มหาสมุทร) เป็นที่จมลง” (sinking)

สีท” ใช่เป็นคุณศัพท์ หมายถึงมหาสมุทรที่ล้อมเขาพระสุเมรุ คำบาลีว่า “สีทสมุทฺท” (สี-ทะ-สะ-มุด-ทะ)

(๒) “อนฺตร

อ่านว่า อัน-ตะ-ระ รากศัพท์มาจาก อติ (ธาตุ = ผูก) + อร ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุ (อติ > อํติ) แล้วแปลงนิคหิตเป็น นฺ (อํติ > อนฺติ), ลบสระที่สุดธาตุ (-ติ > )

: อติ > อํติ > อนฺติ > อนฺต + อร = อนฺตร (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “จุดที่ผูกสองข้างไว้” หมายถึง ภายใน, ระหว่าง (inside, in between)

บาลี “อนฺตร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อันตร-” (อัน-ตะ-ระ-) ตามบาลีก็มี แปลงรูปเป็น “อันดร” (อัน-ดอน) ก็มี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) อันตร– : (คำนาม) ช่อง. (คำวิเศษณ์) ภายใน, ชั้นใน; ใกล้เคียง, เกือบ; ระหว่าง; อื่น, ต่างไป. (ป., ส.).

(2) อันดร : (คำนาม) ภายใน, ระหว่าง, มักใช้เข้าสนธิกับคําอื่น เป็นส่วนท้ายของคําสมาส เช่น พุทธ + อันดร = พุทธันดร นิร + อันดร = นิรันดร. (ป., ส. อนฺตร).

สีท + อนฺตร = สีทนฺตร (สี-ทัน-ตะ-ระ) แปลว่า “ระหว่างแห่งมหาสมุทรเป็นที่จมลง” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สีทันดร” (สี-ทัน-ดอน)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สีทันดร : (คำนาม) ชื่อทะเล ๗ แห่ง อยู่ระหว่างภูเขาพระสุเมรุกับภูเขายุคนธร ๑ ระหว่างภูเขายุคนธรกับภูเขาอิสินธร ๑ ระหว่างภูเขาอิสินธรกับภูเขากรวิก ๑ ระหว่างภูเขากรวิกกับภูเขาสุทัสนะ ๑ ระหว่างภูเขาสุทัสนะกับภูเขาเนมินธร ๑ ระหว่างภูเขาเนมินธรกับภูเขาวินตกะ ๑ ระหว่างภูเขาวินตกะกับภูเขาอัสกัณ ๑.”

คำนี้ในหนังสือเก่ามักเรียกว่า “นทีสีทันดร” หรือ “ทะเลสีทันดร”

ขยายความ :

คัมภีร์จักกวาฬทีปนี กัณฑ์ที่ 3 ชลาสยนิทฺเทส บรรยายความกว้างความลึกของ “สีทันดร” ไว้อย่างละเอียด ขอยกคำแปลตามต้นฉบับมาเสนอไว้เพื่อศึกษาสำนวนบาลี ดังนี้ –

…………..

อันสมุทรเป็น 2 อย่างคือ สีทสมุทรและอสีทสมุทร. ใน 2 อย่างนั้น สีทสมุทรพึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้ในคัมภีร์มีอรรถกถาเป็นต้น. จริงอยู่ พระอรรถกถาจารย์เมื่อจะพรรณนาอรรถแห่งบาทคาถาว่า “อทฺทส สีทนฺตเร นเค” (พระเจ้าเนมิราชได้ทอดพระเนตรเห็นสีทันดรและภูเขา) ได้กล่าวว่า “ได้ยินว่าน้ำในมหาสมุทรนั้นละเอียด ของที่ตกลงไปแม้เพียงขนปีกนกยูงก็ไม่อาจที่จะลอยอยู่ได้ ย่อมจมลงไปทีเดียว เพราะฉะนั้น จึงเรียกมหาสมุทรนั้นว่า สีทมหาสมุทร” แล้วได้แสดงสีทสมุทร ๗ อย่างไว้ในอรรถวรรณนาแห่งบาทคาถาว่า “สุทสฺสโน กรวีโก” โดยนัยมีคำว่า “สีทันดรสมุทรอันหนึ่งมีอยู่ระหว่างภูเขาทั้งสองนั้น” ดังนี้เป็นต้น.

ส่วนในฎีกาแห่งขัชชนียวรรคในขันธกวรรคกล่าวไว้ว่า “สมุทรในระหว่างภูเขาทั้งหลายมีภูเขายุคนธรเป็นต้นชื่อสีทันดรสมุทร. ได้ยินว่าในสีทันดรสมุทรนั้นลมไม่พัด ของที่ตกลงไปในสีทันดรนทีนั้นไม่ว่าสิ่งใดย่อมจมลงทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ภูเขาทั้งหลายมียุคนธรเป็นต้นที่ตั้งล้อมสีทันดรสมุทรนั้นไว้จึงชื่อว่า สีทันดรบรรพต. คำว่า ‘ราวกะมหาสมุทรอันสงบนิ่งในสีทันดร’ ท่านกล่าวหมายสีทันดรบรรพตนั้น.”

แม้ในฎีกาพระวินัยก็กล่าวว่า “ชลาศัยชื่อสีทสมุทรอยู่ในระหว่างภูเขาทั้งหลายมีสิเนรุและยุคนธรเป็นต้น. ได้ยินว่าน้ำในสีทสมุทรนั้นละเอียด ของที่ทิ้งลงไปแม้เพียงขนปีกนกยูงก็ไม่อาจที่จะลอยอยู่ได้ ย่อมจมลงไปทีเดียว เพราะฉะนั้น สมุทรเหล่านั้นจึงเรียกว่าสีทสมุทร.”

สมุทรในระหว่างเขาสิเนรุและเขายุคนธรกว้าง 84,000 โยชน์. ส่วนลึกตรงที่ใกล้เมรุ (เขาสิเนรุ) ก็ประมาณเท่านั้น.

สมุทรในระหว่างเขายุคนธรและอิสินธรกว้าง 42,000 โยชน์. ส่วนลึกตรงที่ใกล้เขายุคนธรก็ประมาณเท่านั้น. แต่นั้นไปก็ตื้นขึ้นโดยลำดับ ตรงที่ใกล้เขาอิสินธรลึก 21,000 โยชน์.

สมุทรในระหว่างเขาอิสินธรและเขากรวิกกว้าง 21,000 โยชน์. ส่วนลึกตรงที่ใกล้เขาอิสินธรก็ประมาณเท่านั้น. ตรงที่ใกล้เขากรวิกลึก 10,500 โยชน์.

สมุทรในระหว่างเขากรวิกและเขาสุทัสนะกว้างและลึกตรงที่ใกล้เขากรวิก 10,500 โยชน์. ตรงที่ใกล้เขาสุทัสนะลึก 5,250 โยชน์.

สมุทรในระหว่างเขาสุทัสนะและเขาเนมินธรกว้างและลึกตรงที่ใกล้เขาสุทัสนะ 5,250 โยชน์. ตรงที่ใกล้เขาเนมินธรลึก 2,652 โยชน์.

สมุทรในระหว่างเขาเนมินธรและเขาวินตกะกว้างและลึกตรงที่ใกล้เขาเนมินธร 2,652 โยชน์. ตรงที่ใกล้เขาวินตกะ 1,312 โยชน์ 2 คาวุต.

สมุทรในระหว่างเขาวินตกะและเขาอัสกัณกว้างและลึกตรงที่ใกล้เขาวินตกะ 1,312 โยชน์ 2 คาวุต. ตรงที่ใกล้เขาอัสกัณลึก 656 โยชน์ 1 คาวุต.

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนพาล ปล่อยใจให้จมลงในกิเลสตลอดชีวิต

: บัณฑิต พยายามยกจิตให้พ้นจากกิเลสมาร

#บาลีวันละคำ (2,975)

4-8-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *