บัณฑุปลาส (บาลีวันละคำ 2,976)
บัณฑุปลาส
หนึ่งในผู้ที่มีพุทธานุญาตให้กินก่อนพระ
อ่านว่า บัน-ดุ-ปะ-ลาด
ประกอบด้วยคำว่า บัณฑุ + ปลาส
(๑) “บัณฑุ”
บาลีเป็น “ปณฺฑุ” (ปัน-ดุ) รากศัพท์มาจาก ปฑิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อุ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น ณฺ (ปฑิ > ปํฑิ > ปณฺฑิ), ลบสระหน้า คือ อิ ที่ (ป)-ฑิ (ปฑิ > ปฑ)
: ปฑิ > ปํฑิ > ปณฺฑิ > ปณฺฑ + อุ = ปณฺฑุ แปลตามศัพท์ว่า “สีที่ถึงการนับว่าเป็นสีเดียวกัน” (คือเป็นแม่สี มิใช่สีผสม) หมายถึง แดงซีด หรือเหลือง, ค่อนข้างแดง, เหลืองอ่อน, เทา (pale-red or yellow, reddish, light yellow, grey)
บาลี “ปณฺฑุ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บัณฑุ” (บัน-ดุ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บัณฑุ : (คำวิเศษณ์) เหลืองอ่อน, ขาวเหลือง, ซีด. (คำนาม) ช้างเผือก. (ป. ปณฺฑุ; ส. ปาณฺฑุ).”
(๒) “ปลาส”
บาลีอ่านว่า ปะ-ลา-สะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ป (แทนศัพท์ว่า “ปการ” = ประการต่างๆ) + ลสฺ (ธาตุ = ชอบใจ) + อ (อะ) ปัจจัย, ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ ล-(สฺ) เป็น อา (ลสฺ > ลาส)
: ป + ลสฺ = ปลสฺ + อ = ปลส > ปลาส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ชอบใจโดยประการต่างๆ”
(2) ป (ลม) + ลสฺ (ธาตุ = ไป) + อ (อะ) ปัจจัย, ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ ล-(สฺ) เป็น อา (ลสฺ > ลาส)
: ป + ลสฺ = ปลสฺ + อ = ปลส > ปลาส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่หลุดร่วงไปด้วยลม”
“ปลาส” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) ในบาลีหมายถึง –
(1) ต้นทองหลาง หรือต้นทองกวาว (the tree Butea frondosa or Judas tree)
(2) ใบไม้ (a leaf; leaves)
ปณฺฑุ + ปลาส = ปณฺฑุปลาส (ปัน-ดุ ปะ-ลา-สะ) แปลตามศัพท์ว่า “ใบไม้เหลือง” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า a withered leaf (ใบไม้ที่เหี่ยวแห้ง)
ในที่นี้เขียนแบบไทยเป็น “บัณฑุปลาส” อ่านแบบไทยว่า บัน-ดุ-ปะ-ลาด
ขยายความ :
ในบาลี คำว่า “ปณฺฑุปลาส” (บัณฑุปลาส) มีความหมายเด่น 2 อย่าง คือ
(๑) “ปณฺฑุปลาส” หมายถึง ใบไม้เหลือง คือใบไม้ที่เหี่ยวแห้งหลุดจากขั้ว
ดังข้อความในคัมภีร์ว่า –
…………..
เสยฺยถาปิ นาม ปณฺฑุปลาโส พนฺธนา ปวุตฺโต อภพฺโพ หริตตฺตาย เอวเมว ภิกฺขุ ปาทํ วา ปาทารหํ วา อติเรกปาทํ วา อทินฺนํ เถยฺยสงฺขาตํ อาทิยิตฺวา อสฺสมโณ โหติ อสกฺยปุตฺติโย เตน วุจฺจติ ปาราชิโก โหตีติ.
ใบไม้เหลืองหล่นจากขั้วแล้ว ไม่อาจจะเป็นของเขียวสดขึ้นได้แม้ฉันใด ภิกษุถือเอาทรัพย์อันเขาไม่ได้ให้โดยความเป็นขโมย หนึ่งบาทก็ดี ควรแก่หนึ่งบาทก็ดี เกินกว่าหนึ่งบาทก็ดี ก็ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตรฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่า เป็นปาราชิก
ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 89
…………..
(๒) “ปณฺฑุปลาส” หมายถึง ผู้ที่เตรียมตัวจะบวชและไปอยู่ที่วัด
คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยปิฎก ภาค 1 ตติยปาราชิกวัณณนา อธิบายเรื่องภิกษุสามารถปรุงยาให้แก่ใครได้บ้างโดยไม่ถือว่าผิดพระวินัยในข้อว่าด้วยประกอบเวชกรรม (หากินในทางรักษาโรค) มีข้อความตอนหนึ่งว่าดังนี้ –
…………..
อปเรสํปิ ปญฺจนฺนํ กาตุํ วฏฺฏติ มาตาปิตูนํ ตทุปฏฺฐากานํ อตฺตโน เวยฺยาวจฺจกรสฺส ปณฺฑุปลาสสฺสาติ. ปณฺฑุปลาโส นาม โย ปพฺพชฺชาเปกฺโข ยาว ปตฺตจีวรํ ปฏิยาทิยติ ตาว วิหาเร วสติ.
ควรทำยาให้แก่คนนี้ 5 จำพวกแม้อื่นอีก คือ มารดา 1 บิดา 1 คนบำรุงมารดาบิดานั้น 1 ไวยาจักรของตน 1 คนบัณฑุปลาส 1
คนผู้ที่ชื่อว่า “บัณฑุปลาส” ได้แก่คนผู้เตรียมตัวตั้งใจบรรพชา ยังอยู่ในวัดตลอดเวลาที่ยังตระเตรียมบาตรและจีวร
ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 1 ตติยปาราชิกวัณณนา หน้า 688
…………..
ครั้นถึงตอนอธิบายเรื่อง “อนามัฏฐบิณฑบาต” คืออาหารที่ภิกษุไปบิณฑบาตได้มาและยังไม่ได้ฉันจะหยิบยื่นให้ฆราวาสกินก่อนมิได้ ถือว่าเป็นการทำศรัทธาไทย คือทำของที่เขาถวายด้วยศรัทธาให้เสียหาย คือเสียความตั้งใจที่ถวายเพื่อให้ภิกษุฉัน แต่กลับเอาไปให้ผู้อื่นกินก่อน
แต่ทั้งนี้ยกเว้นบุคคล 5 จำพวกที่กล่าวในกรณีปรุงยา และเพิ่มอีก 2 จำพวก ที่ภิกษุสามารถยก “อนามัฏฐบิณฑบาต” ให้กินก่อนได้โดยไม่ผิดพระวินัย 1 ในนั้นคือ “บัณฑุปลาส”
บุคคล 6 จำพวก (บิดา + มารดา รวมเป็นจำพวกเดียวกัน) ที่มีพุทธานุญาตให้กินอาหารก่อนพระได้มีดังนี้ –
(1) บิดามารดาของตนเอง
(2) คนที่ปฏิบัติบิดามารดาของภิกษุรูปนั้น
(3) ไวยาวัจกร คือคนที่พระมอบหมายให้ทำงานบางอย่างแทนพระ หรือผู้ที่อยู่รับใช้ทำกิจของวัด
(4) คนเตรียมบวชที่มาอยู่ในวัด ซึ่งกำลังฝึกหัดกิริยามารยาทหรือวัตรปฏิบัติต่างๆ เพื่อเตรียมที่จะเป็นพระ (เรียกเป็นศัพท์ว่า บัณฑุปลาส)
(5) คนร้ายที่บุกเข้ามาในวัด ซึ่งอาจทำอันตรายแก่พระ หรือทำเหตุเสียหายให้แก่วัดได้ (เรียกเป็นศัพท์ว่า ทามริก)
(6) เจ้านาย หรือผู้ปกครองบ้านเมือง ซึ่งผ่านเข้ามา และเป็นบุคคลที่อาจสนับสนุนหรือทำลายพระศาสนาได้ (ในคัมภีร์ใช้คำว่า อิสรชน)
จะเห็นได้ว่า บุคคลจำพวก “บัณฑุปลาส” คือผู้ตั้งใจบวชเรียน พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญและให้เกียรติอย่างยิ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ตั้งใจทำความดี
: สิทธิพิเศษก็มีทันตาเห็น
#บาลีวันละคำ (2,976)
5-8-63