คำแบ่งบุญ
คำแบ่งบุญ
———–
วัดมหาธาตุ ราชบุรี จัดงานประจำปีเป็นปีที่ ๗๒ งานประจำปีของวัดมหาธาตุเอาเทศกาลมาฆบูชาเป็นหลัก
เนื้อๆ ของงานคือเทศน์มหาชาติ ๑๓ กัณฑ์
ผมเป็นสามเณรมาอยู่วัดมหาธาตุตั้งแต่ปี ๒๕๐๖ เทศน์มหาชาติก็มีมาแล้ว ตอนนั้นตั้งธรรมาสน์เทศน์บนวิหารหลวง วงปี่พาทย์รวมบรรเลงของครูรวม พรหมบุรี มาตั้งวงบรรเลงรับเทศน์เป็นเจ้าประจำ
เสียงพระเทศน์ทำนองมหาชาติที่ดังออกมาจากลำโพงเครื่องขยายเสียงยังติดหูมาจนทุกวันนี้-แต่ยังไม่ติดใจ
ที่จำได้แม่น ช่วงมีงานปีพระเณรไม่ต้องออกบิณฑบาต เพราะวัดตั้งโรงครัวเลี้ยงพระเลี้ยงคนที่มาช่วยงาน
พระเณรทั้งวัดมีหน้าที่ทำงานแผนกต่างๆ เหน็ดเหนื่อยกันโดยทั่วหน้า
พอได้เรียนบาลี และหาวิชาประกอบใส่ตัวไปเรื่อยๆ ก็ได้รู้จักสำนวนร่ายยาวในมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์ต่างๆ
——————–
ตอนบวชเณรพรรษาแรก ผมเคยถูกนิมนต์เทศน์มหาชาติทีหนึ่ง หลวงลุงที่ผมอยู่ด้วยท่านบังคับ เริ่มจากให้เอาคัมภีร์ใบลานกัณฑ์ที่จะเทศน์มาฝึกอ่าน
ตอนนั้นผมเข้าใจว่า เทศน์มหาชาติ ๑๓ กัณฑ์มีอยู่เฉพาะในคัมภีร์ใบลาน
ตอนมาอยู่วัดมหาธาตุแล้วจึงได้เห็นร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์มีรวมพิมพ์เป็นเล่มหนังสือด้วย
ตอนที่ถูกบังคับให้เทศน์มหาชาติผมอายุ ๑๖ ปี ไม่มีความรู้เกี่ยวกับมหาเวสสันดรชาดกแต่อย่างใดทั้งสิ้น อาศัยที่ชอบอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียวจึงพออ่านได้
และที่ผมบอกว่าเคยเทศน์มหาชาตินั้น ข้อเท็จจริงก็คือเคยขึ้นไปอ่านคัมภีร์เทศน์มหาชาติให้ญาติโยมฟังบนธรรมาสน์-แค่นี้เท่านั้น อื่นจากนี้หาใช่ “เทศน์มหาชาติ” อันมีแบบแผนแบบฉบับแต่ประการใดไม่
กัณฑ์ที่สามเณรทองย้อยขึ้นไป “อ่าน” บนธรรมาสน์ให้โยมฟังคือกัณฑ์กุมาร จำได้แม่น
ผมเป็นคนเสียงค่อย อ่านไปได้หน่อยโยมก็ตะโกนว่า-ดังๆ หน่อยเณร พออ่านไปได้สักพัก โยมก็ตะโกนอีกว่า-ข้ามๆ ไปมั่งก็ได้เณร คงจะรำคาญที่ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง
อย่าว่าแต่คนฟัง คนเทศน์เองก็ไม่รู้เรื่องเหมือนกัน
แต่ก็ชอบกล ผมจำบางตอนของสำนวนร่ายยาวกัณฑ์กุมารได้ขึ้นใจแม้เวลาจะผ่านไปนานนักหนา ทั้งๆ ที่อ่านครั้งนั้นแล้วก็ไม่ได้หวนกลับไปอ่านอีกเลย
เช่น –
อสฺสโม อันว่าพระอาศรมบรมนิเวศน์วงกต
เป็นที่เจริญพรตพรหมวิหาร
แสนสนุกรัมณิยรโหฐานทิพาวาส
ดังชะลอบัณฑุกัมพลศิลาลาดมาลอยลง
สี่กษัตริย์เสด็จดำรงสำรวมกิจ
ถือเพศผนวชเป็นนักสิทธิ์สืบโบราณ
โดยอุปนิสัยสมภารหน่อพุทธางกูร
ท้าวเธอสู้เสียสละซึ่งมไหสูรย์สวรรยางค์
ออกมาก่อสร้างซึ่งพระสมดึงสบารมี …
……
และที่สั้นๆ ตอนสองกุมารหนีไปซ่อนในสระ …
……
แล้วเสียรอยถอยหลังลงสู่สระศรี
เอาวารีนั้นบังองค์
เอาใบบุษบงบังพระเกศ
หลบพระบิตุเรศกับพราหมณ์ด้วยความกลัว
อยู่ในสระบัวนั้นแล
……
ผมนึกไปถึงชาวบ้านที่จำพระอภัยมณีได้เป็นตอนๆ จำขุนช้างขุนแผนได้เป็นเล่มๆ
นึกถึงพระสงฆ์ที่จำทรงพระไตรปิฎกได้ทั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์
มนุษย์เช่นนี้มีอยู่ในโลกนี้ได้แน่นอน
——————–
ต่อมาผมก็มีโอกาสได้ฟังเทศน์มหาชาติบ่อยๆ ได้มีโอกาสรู้จักพระที่ชำนาญเฉพาะกัณฑ์ ทำให้ค่อยๆ ซึมซับเอาท่วงทำนองเทศน์มหาชาติเข้าไว้ได้บ้าง พอรู้เป็นเลาๆ ว่ากัณฑ์ไหนท่วงทำนองเป็นแบบไหน พอช่วยให้ฟังเทศน์มหาชาติเกิดอรรถรสขึ้นบ้างเท่านั้น
รู้แบบคนกินกับข้าวก็รู้ว่านี่แกงส้มนี่แกงเผ็ด-แค่นั้น ไม่ลึกไปกว่านั้น
แต่ที่สำคัญก็คือให้แกงเองก็แกงไม่เป็น
หลายปีมานี้-เอาเป็นว่าตั้งแต่เกษียณอายุราชการ-ผมก็พยายามแสวงบุญจากงานประจำปีของวัดมหาธาตุมากขึ้น
เลี่ยงงานที่สามารถเลี่ยงได้
อุทิศเวลาให้กับการฟังเทศน์มหาชาติแบบเต็มๆ
ปีที่แล้ว-๒๕๖๑-ผมทำได้เต็มเวลา แม้บางกัณฑ์จะขาดหัวม้วนไปบ้างเพราะไปไม่ทัน
ปีนี้-ตั้งแต่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ถึง ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒-รวม ๔ วัน ผมฟังเทศน์มหาชาติบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงเต็มเวลาตั้งแต่ต้นจนจบครบทุกกัณฑ์ รวมทั้งกัณฑ์คาถาพันด้วย
ผมนั่งพับเพียบกับพื้น ไม่ลุกไปไหน ประนมมือฟังตั้งแต่ต้นจนจบทุกกัณฑ์
กัณฑ์ปกติ ตั้งแต่ทศพรถึงนครกัณฑ์ ใช้เวลาเทศน์กัณฑ์ละประมาณ ๑ ชั่วโมง +
ผมนั่งพลิกขากัณฑ์ละ ๒ – ๓ ครั้ง
เฉพาะกัณฑ์คาถาพันซึ่งเทศน์นำกัณฑ์อื่นๆ ไปก่อนวันหนึ่ง ผมนั่งพับเพียบอยู่กับที่ฟังตั้งแต่ต้นจนจบใช้เวลารวดเดียว ๓ ชั่วโมงครึ่ง
พลิกขา ๑๓ ครั้งเท่าจำนวนกัณฑ์
มาฆบูชาสำหรับผมเป็นช่วงเวลาบำเพ็ญขันติธรรม เพิ่มพูนสติและปัญญาเต็มๆ
……………….
ขอแบ่งส่วนบุญอันได้ตั้งใจบำเพ็ญในครั้งนี้ให้แก่ญาติมิตรทั้งปวง ขอได้โปรดอนุโมทนาโดยทั่วกันเทอญ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
๑๗:๐๙