อัญประกาศ (บาลีวันละคำ 2,070)
อัญประกาศ
อ่านว่า อัน-ยะ-ปฺระ-กาด
ประกอบด้วย อัญ + ประกาศ
(๑) “อัญ”
บาลีเป็น “อญฺญ” (อัน-ยะ, ญ หญิง 2 ตัว) รากศัพท์มาจาก น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + ญา (ธาตุ = รู้) + อ ปัจจัย, แปลง น เป็น อ, ซ้อน ญฺ ระหว่างนิบาตกับธาตุ (น + ญฺ + ญา), “ลบสระหน้า” คือลบ อา ที่ ญา (ญา > ญ)
: น > อ + ญฺ + ญา = อญฺญา > อญฺญ + อ = อญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาไม่รู้”
“อญฺญ” (คุณศัพท์) หมายถึง อื่น, ไม่เหมือนกัน, ต่างกัน, อันอื่น, คนอื่น (other, not the same, different, another, somebody else)
“อญฺญ” ภาษาไทย ถ้าเป็นส่วนหน้าของคำสมาส ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “อัญ-”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อัญ-, อัญญะ : (คำวิเศษณ์) อื่น, ต่างไป, แปลกไป. (ป. อญฺญ; ส. อนฺย).”
(๒) “ประกาศ”
บาลีเป็น “ปกาส” อ่านว่า ปะ-กา-สะ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + กาสฺ (ธาตุ = ส่องแสง, ส่งเสียง) + อ ปัจจัย
: ป + กาสฺ = ปกาสฺ + อ = ปกาส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ส่องสว่างทั่ว” “ผู้ส่งเสียงไปทั่ว”
“ปกาส” ในบาลีมักใช้ในความหมายว่า แสงสว่าง, ความสว่าง (light)
ถ้าใช้ในความหมายว่า การอธิบาย, การทำให้ทราบ, ข่าวสาร, หลักฐาน, การชี้แจง, การประกาศ, การเผยแพร่ (explaining, making known; information, evidence, explanation, publicity) บาลีนิยมใช้ในรูป “ปกาสน” (ปะ-กา-สะ-นะ) (ป + กาสฺ + ยุ > อน = ปกาสน)
ปกาส สันสกฤตเป็น “ปฺรกาศ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปฺรกาศ : (คำนาม) ‘ประกาศ,’ สูรยาตบะ, สูรยาโลก, แสงแดด; โศภา, ประภา; ความเบิกบาน, ความสร้าน, ความแสดงไข; หัวเราะ; ยิ้ม; ความเปิดเผยหรือแพร่หลาย; ธาตุสีขาวหรือธาตุหล่อระฆัง; sunshine; luster, light, expansion, diffusion, manifestation; a laugh; a smile; publicity; white or bellmetal.”
ในภาษาไทยใช้อิงรูปสันสกฤตเป็น “ประกาศ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประกาศ : (คำกริยา) ป่าวร้อง, แจ้งให้ทราบ, เช่น ประกาศงานบุญงานกุศล. (คำนาม) ข้อความที่แจ้งให้ทราบทั่วกัน เช่น ประกาศของวัด ประกาศของบริษัท; ข้อความที่ทางราชการแจ้งให้ประชาชนทราบหรือวางแนวทางให้ปฏิบัติ เช่น ประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศกระทรวง ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี. (ส. ปฺรกาศ; ป. ปกาส).”
อญฺญ + ปกาส = อญฺญปกาส > อัญประกาศ แปลตามศัพท์ว่า “การแสดงแจ้งคำที่ยกมาจากที่อื่น”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อัญประกาศ : (คำนาม) เครื่องหมายวรรคตอนรูปดังนี้ “ ” สําหรับเขียนคร่อมคําหรือข้อความ เพื่อแสดงว่าข้อความนั้นเป็นคําพูด หรือเพื่อเน้นความนั้นให้เด่นชัดขึ้นเป็นต้น.”
…………..
ขยายความ :
“อัญประกาศ” เป็นคำที่บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า quotation marks ภาษาปากเรียกว่า “เครื่องหมายคำพูด”
เครื่องหมาย “อัญประกาศ” ตามชนิดของอักษรที่นิยมใช้กันในปัจจุบันจะมี 2 รูป คือ อัญประกาศเปิด กับ อัญประกาศปิด
ถ้าเป็นรูปแบบมีหัว:
อัญประกาศเปิด หัวอยู่ล่าง
อัญประกาศปิด หัวอยู่บน
ถ้าเป็นรูป 2 ขีดเอน:
อัญประกาศเปิด ด้านบนเอนซ้าย
อัญประกาศปิด ด้านบนเอนขวา
คำว่า “อัญประกาศเปิด” และ “อัญประกาศปิด” นี้ ไม่มีในพจนานุกรมฯ
พจนานุกรมฯ มีคำว่า “อัญประกาศเดี่ยว” อีกคำหนึ่ง หมายถึงรูปอัญประกาศที่เป็นขมวดเส้นเดียว ต่างจาก “อัญประกาศ” ธรรมดาที่เป็นขมวดเส้นคู่
อภิปราย :
คำว่า “อัญประกาศ” ที่มาจากคำอังกฤษว่า quotation marks สื่อความหมายให้รู้ว่า คนเรานิยมที่จะอ้างอิงคำพูดหรือความคิดของคนอื่น ไม่ว่าจะเพื่อสนับสนุนหรือแย้งค้านก็ตาม แสดงให้เห็นว่าในการอยู่ร่วมกันควรมีการรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อมีการเสนอความคิดอะไรสักอย่างขึ้นมา คนไทยหรือสังคมไทยมักจะให้ความสำคัญแก่ตัวบุคคลเจ้าของความคิดมากกว่าเรื่องที่เขาคิด
ถ้าชอบคนคิด ก็พร้อมที่จะเห็นด้วยไม่ว่าเรื่องที่คิดนั้นจะบกพร่องแค่ไหน
แต่ถ้าชังคนคิด แม้เรื่องที่เขาคิดจะดีเลิศแค่ไหนก็ไม่เอาด้วย
…………..
ดูก่อนภราดา!
ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน?
: ระบบราชการไทย มองแค่ว่าใครเป็นคนสั่ง
: ระบบราชการฝรั่ง มองไปที่คำสั่งว่าให้ทำอะไร
#บาลีวันละคำ (2,070)
11-2-61