บาลีวันละคำ

ศาสนิกชน (บาลีวันละคำ 2,982)

ศาสนิกชน

คุ้นหน้า แต่อาจไม่รู้ว่ามาจากไหน

อ่านว่า สา-สะ-นิ-กะ-ชน ก็ได้

อ่านว่า สาด-สะ-นิ-กะ-ชน ก็ได้

(ตามพจนานุกรมฯ ที่คำว่า ศาสน-)

ประกอบด้วยคำว่า ศาสนิก + ชน

(๑) “ศาสนิก

บาลีเป็น “สาสนิก” (สา-สะ-นิ-กะ) ประกอบรูปคำจาก สาสน + ณิก ปัจจัย

(ก) “สาสน” รากศัพท์มาจาก –

(1) สาสฺ (ธาตุ = สั่งสอน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: สาสฺ + ยุ > อน = สาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “คำอันท่านสั่งสอน” (2) “คำเป็นเครื่องสั่งสอนชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก

(2) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(สฺ) เป็น อา (สสฺ > สาส)

: สสฺ + ยุ > อน = สสน > สาสน แปลตามศัพท์ว่า “คำสั่งสอนที่เบียดเบียนกิเลส

คำว่า “สาสน” มีที่ใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ –

(1) คำสอน = teaching หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า “ศาสนา

(2) คำสั่ง (ในทางปกครองบังคับบัญชา) = order (to rule, govern)

(3) ข่าว = message คือที่เราคุ้นกันในคำว่า “สาส์น” (สาน)

ในที่นี้ใช้ในความหมายตามข้อ (1)

(ข) สาสน + ณิก ปัจจัย, ลบ (ณิก > อิก)

: สาสน + ณิก > อิก = สาสนิก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำรงอยู่ในศาสนา” “ผู้นับถือศาสนา

สาสนิก” เขียนอิงสันสกฤตเป็น “ศาสนิก” (ศา– บาลี เสือ สันสกฤต ศาลา)

คำว่า “ศาสนิก” โดดๆ ไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

(๒) “ชน

บาลีอ่านว่า ชะ-นะ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + (อะ) ปัจจัย

: ชนฺ + = ชน แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ยังกุศลหรืออกุศลให้เกิดได้” เป็นคำแปลที่ตรงตามสัจธรรม เพราะธรรมดาของคน ดีก็ทำได้ ชั่วก็ทำได้

(2) “ผู้ยังตัวตนให้เกิดตามกรรม” หมายความว่า นอกจากทำกรรมได้แล้ว ยังทำ “ตัวตน” (คน) ให้เกิดได้อีก

ชน” (ปุงลิงค์) หมายถึง บุคคล, สัตว์, คน (an individual, a creature, person, man)

สาสนิก + ชน = สาสนิกชน > ศาสนิกชน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศาสนิกชน : (คำนาม) บุคคลที่นับถือศาสนา เช่น ศาสนิกชนของพระพุทธศาสนา เรียกว่า พุทธศาสนิกชน ศาสนิกชนของคริสต์ศาสนา เรียกว่า คริสต์ศาสนิกชน.”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จงนับถือศาสนา

: แต่อย่าหลงศาสนา

#บาลีวันละคำ (2,982)

11-8-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *