บาลีวันละคำ

ศิลปาชีพ [2] (บาลีวันละคำ 2,983)

ศิลปาชีพ [2]

ศิลป์ไทยใครจะสู้ไม่ได้สิบ

อ่านว่า สิน-ละ-ปา-ชีบ

ประกอบด้วยคำว่า ศิลป + อาชีพ

(๑) “ศิลป

เป็นรูปคำสันสกฤต “ศิลฺป” บาลีเป็น “สิปฺป” (สิบ-ปะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) สปฺปฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย, ลง อิ อาคมต้นธาตุ (สปฺป > สิปฺป)

: สปฺป > สิปฺป + = สิปฺป แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องดำเนินไปแห่งชีวิต” = อาศัย “สิ่งนั้น” จึงเลี้ยงชีวิต คือทำชีวิตให้ดำเนินไปได้

(2) สิ (ธาตุ = เสพ) + ปัจจัย, ซ้อน ปฺ

: สิ + ปฺ + = สิปฺป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้ปรารถนาประโยชน์แห่งตนเสพอาศัย” = ถ้าต้องการประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ต้องอาศัยศึกษาเรียนรู้ “สิ่งนั้น” จนทำได้ทำเป็น แล้วใช้สิ่งนั้นยังประโยชน์ให้เกิดตามต้องการ

สิปฺป” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ศิลปะ, แขนงของความรู้, การช่าง (art, branch of knowledge, craft)

บาลี “สิปฺป” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ศิลป

กฎการสะกด :

(ก) คำนี้ถ้าอยู่คำเดียว

– ต้องการให้อ่านว่า สิน-ละ-ปะ เขียนว่า “ศิลปะ” (ประวิสรรชนีย์ที่ )

– ต้องการให้อ่านว่า สิน เขียนว่า “ศิลป์” (การันต์ที่ )

– เขียนว่า “ศิลป” จะอ่านว่า สิน-ละ-ปะ ไม่ได้ อ่านว่า สิน ก็ไม่ได้

(ข) ถ้าสมาสกับคำอื่น อยู่ต้นหรือกลางคำ และอ่านว่า สิน-ละ-ปะ ไม่ต้องประวิสรรชนีย์ที่ เช่น ศิลปศาสตร์ (สิน-ละ-ปะ-สาด) ไม่ใช่ ศิลปะศาสตร์

คำว่า สิปฺป > ศิลป หมายถึงอะไรได้บ้าง :

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สิปฺป” คำหนึ่งว่า art

พจนานุกรมสอ เสถบุตร แปล art ว่า วุฒิสามารถ, เล่ห์กระเท่ห์, อุบาย

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล art กลับเป็นบาลีว่า –

(1) sippa สิปฺป (สิบ-ปะ) = หลักความรู้

(2) kosalla โกสลฺล (โก-สัน-ละ) = ความฉลาด

(3) nepuñña เนปุญฺญ (เน-ปุน-ยะ) = ความจัดเจน

(4) cittakamma จิตฺตกมฺม (จิด-ตะ-กำ-มะ) = ภาพวาด, การวาดภาพ

(5) kalā กลา (กะ-ลา) = ชั้นเชิง > กล

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศิลป-, ศิลป์ ๑, ศิลปะ : (คำนาม) ฝีมือ, ฝีมือทางการช่าง, การทำให้วิจิตรพิสดาร, เช่น รูปสลักวีนัสเป็นรูปศิลป์ เขาทำดอกไม้ประดิดประดอยอย่างมีศิลปะ ผู้หญิงสมัยนี้มีศิลปะในการแต่งตัว; การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์ด้วยสื่อต่าง ๆ อย่างเสียง เส้น สี ผิว รูปทรง เป็นต้น เช่น วิจิตรศิลป์ ศิลปะการดนตรี ศิลปะการวาดภาพ ศิลปะการละคร. (ส. ศิลฺป; ป. สิปฺป ว่า มีฝีมืออย่างยอดเยี่ยม).”

สิปฺป” (สิบ-ปะ) ในบาลี หมายถึง ความรู้ความสามารถที่จะจัดจะทำอะไรๆ ได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นๆ จะเป็นอะไรก็ตาม ชั้นที่สุดเอาใบไม้มาเป่ากับปากให้เป็นเพลง ก็เรียกว่า “สิปฺป” หรือ “ศิลปะ” ได้เช่นกัน

(๒) “อาชีพ

บาลีเป็น “อาชีว” (อา-ชี-วะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ชีวฺ (ธาตุ = เป็นอยู่) + (อะ) ปัจจัย

: อา + ชีวฺ = อาชีว + = อาชีว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การเป็นเหตุให้เป็นอยู่ได้” คือ “การเลี้ยงชีวิต

อาชีว” ใช้ในภาษาไทย แผลง เป็น เป็น “อาชีพ” แต่ที่คงเป็น “อาชีว” ก็มี โดยเฉพาะเมื่อมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย เช่น อาชีวศึกษา

สังเกตการให้ความหมาย :

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาชีว” ว่า livelihood, mode of living, living, subsistence (การทำมาหากิน, วิถีดำรงชีวิต, ความเป็นอยู่, อาชีวะ)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อาชีว : (คำนาม) เครื่องอาศรัยเลี้ยงชีพ, เครื่องอาศรัย; livelihood, subsistence, means of living.”

พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกไว้ว่า –

(1) อาชีพ, อาชีวะ : n. adj. a trade, an occupation, a vocation, a profession; professional (boxer)

(2) อาชีวศึกษา : n. vocational training, vocational education

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาชีพ, อาชีว-, อาชีวะ : (คำนาม) การเลี้ยงชีวิต, การทํามาหากิน; งานที่ทําเป็นประจําเพื่อเลี้ยงชีพ. (ป., ส.).”

จะเห็นได้ว่า “อาชีวอาชีพ” ความหมายตามบาลีสันสกฤตเน้นไปที่ “การมีชีวิตรอด” (ยังไม่ตาย) ซึ่งเป็นความหมายเดิมแท้ แต่ความหมายตามภาษาไทยและที่แปลออกจากภาษาไทยเน้นไปที่ “การประกอบอาชีพ” (การทำงาน)

ความหมายสั้นๆ ของ “อาชีวอาชีพ” ก็คือ วิธีการที่จะอยู่รอด หรือวิธีการที่จะไม่อดตาย

ศิลป + อาชีพ = ศิลปาชีพ (สิน-ละ-ปา-ชีบ) แปลตามศัพท์ได้ 2 นัย คือ –

(1) งานฝีมือเพื่อการเลี้ยงชีพ

(2) การเลี้ยงชีพด้วยการผลิตงานฝีมือ

คำว่า “ศิลปาชีพ” เป็นชื่อมูลนิธิที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ยากไร้ในชนบท โดยการส่งเสริมอาชีพอื่นเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

ขยายความ :

ความหมายและความเป็นมาของศิลปาชีพ

ศิลปาชีพ หมายถึง การส่งเสริมให้คนไทยในภูมิภาคต่างๆ ผลิตงานด้านศิลปหัตถกรรมเป็นอาชีพเสริม นอกเหนือจากการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลัก งานศิลปาชีพอยู่ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้พระราชทานกำเนิดแก่มูลนิธิ ทรงเป็นประธานกรรมการบริหารของมูลนิธิฯ การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ นอกจากจะเป็นการเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรและราษฎรผู้มีรายได้น้อยแล้ว ยังช่วยอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนไทย และพัฒนาคุณภาพของฝีมือให้ดียิ่งขึ้น จนสามารถผลิตสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งสร้างสรรค์งานฝีมือชิ้นเยี่ยมไว้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติอีกด้วย

ที่มา:

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 29 เรื่องที่ 1 ศิลปาชีพ

มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน

โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร

มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

…………..

ดูเพิ่มเติม: “ศิลปาชีพ” [1] บาลีวันละคำ (817) 13-8-57

…………..

๏ ทรงชุบชีพเสริมชีพสมบัติชาติ

สรรพศิลป์สรรพศาสตร์ไม่สูญสาย

งานประดิษฐ์ประดับประดาดาย

ทั้งถักทอท้าทายฝีมือทิพย์

๏ อวดโลกให้โลกตะลึงรู้

ว่าศิลป์ไทยใครจะสู้ไม่ได้สิบ

ที่จวนร้างจางละลายไม่หายลิบ

พระบรรจงทรงหยิบมายาใจ

๏ เมื่อครั้งรัชกาลก่อนกราบบพิตร

ดังดวงจันทราทิตย์อุทัยไข

ยามหนาวนึกพระคุณอบอุ่นไอ

ยามร้อนผ่อนภัยให้ผ่อนเพลา

๏ ชมบุญพระบารมีปีละหน

ทรงช่วยทุกข์ไทยท้นกว่าหลายเท่า

ราษฎร์เหนื่อยแล้วหายสบายเบา

แต่ทรงเหนื่อยนานเนามาเนิ่นนาน

๏ สำนึกพระเมตตาการุณยภาพ

ก้มกราบแก้วสามเป็นแก่นสาร

เด็ดดวงดอกประดู่ประดับพาน

ทูนเทิดอธิษฐานถวายพระพร

๏ อัญเชิญฤทธิ์พระไตรรัตน์

กุศลสัตย์สโมสร

ทวยเทพผู้ธรรมธร

ทั้งเดชบุญพระบารมี

๏ คุ้มองค์บรมนาถ

ให้ผ่องผาดพิสิฐศรี

พิษร้ายและไพรี

ฤๅพาลภัยอย่าพ้องพาน

๏ สิ่งทรงประสงค์สรรพ

ประสิทธิ์สรรพเกษมศานต์

บัวบุญจงเบ่งบาน

ในกลางธารพระหฤทัย

๏ แม้ทรงหมายอมตธรรม

จงชื่นฉ่ำเป็นโชคชัย

เป็นขวัญชีพประชาไทย

อยู่ชั่วนิตย์นิรันดร์เทอญ๚ะ๛

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

ข้าพระพุทธเจ้า นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

ผู้เขียนบาลีวันละคำ


ภาพประกอบ: จาก google

#บาลีวันละคำ (2,983)

12-8-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *