อนุโมทนาบุญ (บาลีวันละคำ 2,984)
อนุโมทนาบุญ
คำไม่ยาก
แต่ใช้ไม่ง่าย
แยกคำเป็น อนุโมทนา + บุญ
(๑) “อนุโมทนา” บาลีเป็น “อนุโมทน” ประกอบด้วย อนุ + มุทฺ + ยุ
บาลีอ่านว่า อะ-นุ-โม-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก อนุ (คำอุปสรรค = น้อย,ภายหลัง, ตามหลัง, เนืองๆ) + มุทฺ (ธาตุ = ยินดี, ชื่นชม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อุ ที่ มุ-(ทฺ) เป็น โอ (มุทฺ > โมท)
: อนุ + มุทฺ = อนุมุทฺ + ยุ > อน = อนุมุทน > อนุโมทน แปลตามศัพท์ในความหมายหนึ่งว่า “การพลอยยินดี”
“อนุโมทน” เป็นรูปนปุงสกลิงค์ ศัพท์นี้ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ เป็น “อนุโมทนา” ก็มี
“อนุโมทน” หรือ “อนุโมทนา” มีคำขยายความดังนี้ –
(1) “การชื่นชมยินดีภายหลังจากที่มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้น”
(2) “การชื่นชมยินดีภายหลังจากที่รู้หรือเห็นคนอื่นทำความดี”
(3) “เรื่องดีๆ เกิดขึ้นก่อน รู้สึกชื่นชมยินดีตามหลังมา”
(4) “การชื่นชมยินดีอยู่เสมอๆ เมื่อเห็นคนทำดี”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุโมทน” ว่า –
“according to taste”, i.e. satisfaction, thanks, esp. after a meal or after receiving gifts = to say grace or benediction, blessing, thanksgiving (“ตามรสนิยม”, คือ ความชื่นชม, การขอบคุณ, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังภัตตาหาร หรือหลังจากที่ได้รับเครื่องไทยทาน = กล่าวอนุโมทนา หรือให้พร, ประสาทพรให้, แสดงความขอบคุณ)
(๒) “บุญ” เป็นคำที่เราคุ้นกันดีในภาษาไทย คำนี้บาลีเป็น “ปุญฺญ” อ่านว่า ปุน-ยะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ปุ (ธาตุ = ชำระ สะอาด) + ณฺย ปัจจัย, ลง น อาคม, ลบ ณฺ, แปลง นฺย (คือ น อาคม + (ณฺ)-ย ปัจจัย) เป็น ญ, ซ้อน ญฺ
: ปุ + น + ณฺย = ปุนณฺย > ปุนฺย > (+ ญฺ) ญ = ปุญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “กรรมที่ชำระสันดานของตนให้สะอาด” “กรรมที่ชำระผู้ทำให้สะอาด”
(2) ปุชฺช (น่าบูชา) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ชฺช, ช และ ณ, แปลง นฺย เป็น ญ, ซ้อน ญฺ
: ปุชฺช + ชนฺ + = ปุชฺชชนฺ + ณฺย = ปุชฺชชนณฺย > ปุชนณฺย > ปุนณฺย > ปุนฺย > (+ ญฺ) ญ = ปุญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะอันทำให้เกิดความน่าบูชา”
(3) ปุณฺณ (เต็ม) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺณ, ก และ ณ, แปลง รย (คือ ร ที่ กรฺ + ย ที่ ณฺย) เป็น ญ, ซ้อน ญฺ
: ปุณฺณ + กรฺ = ปุณฺณกร + ณฺย = ปุณฺณกรณฺย > ปุกรณฺย > ปุรณฺย > ปุรฺย > ปุ (+ ญฺ) ญ = ปุญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำอันทำให้เต็มอิ่มสมน้ำใจ”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แปล “บุญ” เป็นอังกฤษว่า merit; meritorious action; virtue; righteousness; moral acts; good works. adj. meritorious; good.
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปุญฺญ” ว่า merit, meritorious action, virtue (บุญ, กรรมดี, ความดี, กุศล)
“ปุญฺญ” สันสกฤตเป็น “ปุณฺย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปุณฺย : (คำคุณศัพท์) ‘บุณย, บุณย์,’ สาธุ, บริศุทธ์, ธรรมิก; สวย, น่ารัก; หอม; virtuous, pure, righteous; beautiful, pleasing; fragrant;- (คำนาม) สทาจาร, คุณธรรม; บุณย์หรือกรรมน์ดี; ความบริศุทธิ; virtue, moral or religious merit; a good action; purity.”
“ปุญฺญ” ภาษาไทยใช้ว่า “บุญ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“บุญ, บุญ– : (คำนาม) การกระทําดีตามหลักคําสอนในศาสนา; ความดี, คุณงามความดี. (คำวิเศษณ์) ดี เช่น คนใจบุญ, มีคุณงามความดี เช่น คนมีบุญ. (ป. ปุญฺญ; ส. ปุณฺย).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้คำนิยามใหม่เป็นว่า –
“บุญ, บุญ– : (คำนาม) ความสุข เช่น หน้าตาอิ่มบุญ; การกระทําดีตามหลักคําสอนในพระพุทธศาสนา เช่น ไปทำบุญที่วัด; ความดี เช่น ปล่อยนกปล่อยปลาเอาบุญ, คุณงามความดี เช่น เขาทำบุญช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก, ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เช่น คนใจบุญ, ผลของการทำความดีจากชาติปางก่อน เช่น เขามีบุญจึงเกิดมาบนกองเงินกองทอง. (ป. ปุญฺญ; ส. ปุณฺย).”
อนุโมทนา + บุญ = อนุโมทนาบุญ เป็นคำประสมแบบไทย แปลจากหน้าไปหลังว่า “อนุโมทนาซึ่งบุญ” มีความหมายว่า พลอยชื่นชมยินดีที่คนอื่นทำบุญ
วิธีใช้ :
“อนุโมทนาบุญ” ใช้ในกรณีที่มีผู้ทำบุญ (เขาทำในส่วนของเขาไปเรียบร้อยแล้ว) แล้วมาบอกกล่าวให้เรารับรู้ เรารับรู้แล้วก็อนุโมทนา คือพลอยชื่นชมยินดีไปกับเขา แบบนี้พูดว่า “อนุโมทนาบุญ” พูดเต็มว่า “ขออนุโมทนาบุญด้วย” (“ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ” “ขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ”)
แต่ในกรณีที่เราเป็นฝ่ายทำบุญ ทำเสร็จแล้วประสงค์จะบอกกล่าวให้คนอื่นรับรู้เพื่อร่วมอนุโมทนา แบบนี้พูดว่า “อนุโมทนาบุญ” ไม่ถูก เพราะ “อนุโมทนาบุญ” ใช้ในกรณีคนอื่นบอกเรา กรณีเราบอกคนอื่นต้องพูดว่า “ขอแบ่งส่วนส่วนบุญ” (“ขอแบ่งส่วนส่วนบุญให้ด้วยนะครับ” “ขอแบ่งส่วนส่วนบุญให้ด้วยนะคะ”)
ถ้าจะใช้คำว่า “อนุโมทนาบุญ” ต้องพูดให้ครบว่า “ขอเชิญอนุโมทนาบุญร่วมกัน” คือเชิญให้เขาอนุโมทนาบุญกับเรา ไม่ใช่เราไปอนุโมทนาบุญกับเขา
คำที่เป็นหลัก :
เราทำบุญแล้วบอกคนอื่น เราพูดว่า “ขอแบ่งส่วนบุญ”
คนอื่นทำบุญแล้วบอกเรา เราพูดว่า “ขออนุโมทนาบุญ”
บุญที่เราทำบุญแล้วบอกคนอื่น เรียกว่า “ปัตติทานมัย” (บุญที่สำเร็จด้วยการแบ่งส่วนบุญ)
บุญที่เราอนุโมทนาบุญของคนอื่น เรียกว่า “ปัตตานุโมทนามัย” (บุญที่สำเร็จด้วยการอนุโมทนาบุญ)
แถม :
(๑) “ปัตติทานมัย” (ปัด-ติ-ทา-นะ-ไม)
“ปัตติ” (บาลี “ปตฺติ”) แปลว่า ส่วนบุญ, กำไร, การมอบ, การแนะนำ, การอุทิศส่วนบุญ, ทักษิณา (merit, profit, accrediting, advising, transference of merit, a gift of merit)
“ทาน” (บาลีอ่านว่า ทา-นะ) แปลว่า การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง (giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence)
ปัตติ + ทาน = ปัตติทาน แปลว่า “การให้ส่วนบุญ” หมายถึง การอุทิศส่วนบุญให้, การให้ส่วนบุญ, การแบ่งส่วนบุญให้ (an assigned or accredited gift, giving of merit, transference of merit)
“-มัย” บาลีเป็น “-มย” (มะ-ยะ) แปลว่า ทำด้วย, ประกอบด้วย (made of, consisting of) ไม่ใช้เดี่ยวๆ แต่ใช้ต่อท้ายคำอื่นเสมอ
(๒) “ปัตตานุโมทนามัย” แยกศัพท์เป็น ปัตติ + อนุโมทนา + มัย
ปัตติ + อนุโมทนา ใช้สูตร “ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง” คือลบ อิ ที่ (ปัต)-ติ (ปัตติ > ปัตต), ทีฆะ อะ ที่ อ-(นุโมทนา) เป็น อา (อนุโมทนา > อานุโมทนา)
: ปัตติ > ปัตต + อนุโมทนา = ปัตตานุโมทนา
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ยาจกเทียม คือคนไม่มีจะให้แน่ๆ
: ยาจกแท้ คือ-ถึงมีก็ไม่คิดจะให้อะไรใคร
#บาลีวันละคำ (2,984)
13-8-63