สถาบัน [2] (บาลีวันละคำ 2,985)
สถาบัน [2]
ฉันมาจากไหน
แล้วฉันจะไปทางไหน
อ่านว่า สะ-ถา-บัน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สถาบัน : (คำที่ใช้ในสังคมศาสตร์) สิ่งซึ่งคนในส่วนรวม คือ สังคม จัดตั้งให้มีขึ้นเพราะเห็นประโยชน์ว่ามีความต้องการและจําเป็นแก่วิถีชีวิตของตน เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันการศึกษา สถาบันการเมือง สถาบันการเงิน. (ส.)”
“สถาบัน” เป็นคำที่เราเขียนอิงคำสันสกฤตว่า “สฺถาปน”
“สฺถาปน” บาลีเป็น “ฐาปน” (ถา-ปะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = วาง, ตั้ง, ยืน) แปลง ฐา เป็น ฐปฺ + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ทีฆะ อะ ที่ ฐ-(ปฺ) เป็น อา (ฐปฺ > ฐาป)
: ฐา > ฐปฺ + ยุ > อน = ฐปน > ฐาปน แปลตามศัพท์ว่า “การยัง-ให้ตั้งอยู่”
ศัพท์นี้ในภาษาบาลี รูปที่นิยมใช้มากกว่าคือ “ปติฏฺฐาปน” (ปะ-ติด-ถา-ปะ-นะ) ที่ใช้ในภาษาไทยว่า “ประดิษฐาน” (ปติฏฺฐาน > ประดิษฐาน)
ปติฏฺฐาน และ ปติฏฺฐาปนา หมายถึง การจัด, การตั้งขึ้น, การสนับสนุน, การช่วยเหลือ, ความตั้งมั่นเพื่อความหลุดพ้น (fixing, setting up, support, help, ground for salvation)
บาลี “ฐาปน” สันสกฤตเป็น “สฺถาปน”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“สฺถาปน : (คำนาม) การวาง, การกำหนดหรือตั้ง; การบัญชา, การจัด; บ้าน, ที่อาศรัย; การจัดบทละคอนหรือโรงละคอน; placing, fixing or erecting; ordering, directing; a dwelling, a habitation; arranging a drama, or stage management.”
สันสกฤต “สฺถาปน” เราเอามาใช้ในภาษาไทยรูปใกล้เคียงกันมากที่สุดคือ “สถาปนา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สถาปนา : (คำกริยา) ยกย่องโดยแต่งตั้งให้สูงขึ้นเช่นเลื่อนเจ้านายให้สูงศักดิ์ขึ้น หรือยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง, ตั้งขึ้น (มักใช้แก่หน่วยราชการหรือองค์การที่สำคัญ ๆ ในระดับกระทรวง ทบวง มหาวิทยาลัย) เช่น วันสถาปนากระทรวงมหาดไทย วันสถาปนาราชบัณฑิตยสถาน วันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (ส. สฺถาปน; ป. ฐาปน).”
: ฐาปน > สฺถาปน > สถาปนา > สถาบัน
อภิปราย :
จะเห็นได้ว่า “ฐาปน > สฺถาปน” ในบาลีสันสกฤต มีความหมายอย่างกว้าง แต่เมื่อมาเป็น “สถาปนา” ในภาษาไทยความหมายก็แคบลงไป และเมื่อมาเป็น “สถาบัน” ความหมายก็แคบเข้าไปอีก คือหมายถึง “สิ่งซึ่งสังคมจัดตั้งให้มีขึ้น” (ดูความหมายตามพจนานุกรมฯ ข้างต้น)
ที่เด่นมากก็นิยมใช้กับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็น- สถาบันชาติ สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์
ตามกระแสสังคม-การเมืองทุกวันนี้ เมื่อเอ่ยคำว่า “สถาบัน” เช่น “หมิ่นสถาบัน” “ล้มล้างสถาบัน” ผู้คนก็เข้าใจความหมายแคบหนักเข้าไปอีก คือเป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
ไม่ว่าจะในความหมายกว้างหรือแคบ “สถาบัน” ย่อมมีความสำคัญต่อผู้คนในสังคมเสมอ
คนสมัยใหม่มักตั้งข้อสงสัยว่า บรรดา “สถาบัน” ที่ตั้งขึ้นมานั้นมีความจำเป็นต่อสังคมมากน้อยแค่ไหน บางคนหรือบางพวกถึงกับปลงใจเชื่อว่า บางสถาบัน แม้ไม่มี สังคมคือชาติบ้านเมืองหรือประชาชนก็ยังสามารถดำรงอยู่ได้
แนวคิดเช่นนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก “สถาบัน” เกิดมีขึ้นตามสภาพของสังคมในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง คนสมัยใหม่เกิดมาเมื่อสภาพเช่นนั้นผ่านพ้นไปแล้ว จึงไม่เคยได้สัมผัสหรือลิ้มรสความจริงที่เกิดขึ้น และดังนั้นจึงไม่ซาบซึ้งหรือไม่ประจักษ์ใจถึงคุณค่าของสถาบัน
ข้อนี้หากลองนึกเทียบกับครอบครัวซึ่งถือกันว่าเป็น “สถาบัน” อย่างหนึ่งในสังคม ก็อาจจะได้แนวคิดที่ควรคำนึง
นั่นคือ คนสมัยใหม่มีความเห็นว่า พ่อแม่-ซึ่งก็คือคนในครอบครัว-ไม่มีบุญคุณต่อลูก พ่อแม่เสพสุขกันลูกก็เกิดมา จึงเป็นหน้าที่ของคนที่ทำให้ลูกเกิดมาจะต้องรับผิดชอบเลี้ยงดู จะมาอ้างว่ามีบุญคุณหาได้ไม่ ยิ่งบรรพบุรุษในครอบครัวเช่นปู่ย่าตายายและที่เหนือชั้นขึ้นไปด้วยแล้ว นอกจากจะไม่มีบุญคุณอะไรแล้ว ยังไม่จำเป็นจะต้องรู้จักหรือนึกถึงด้วยซ้ำไป
พูดให้ชัดลงไป ไม่จำเป็นต้องมีพ่อแม่ ไม่จำเป็นต้องมีปู่ย่าตายาย ลูกก็อยู่กันได้ เหมือนกับไม่จำเป็นต้องมี “สถาบัน” ประเทศชาติและประชาชนก็ยังสามารถดำรงอยู่ได้
ฉันใดก็ฉันนั้น-อย่างนี้ใช่หรือไม่?
ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่มีความประสงค์จะชักชวนให้ใครเชื่อใคร แต่ประสงค์จะเชิญชวนให้ทุกคนรู้จักใช้-และเชื่อสติปัญญาของตัวเอง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่ได้ค้าน ที่จะทะยานไปข้างหน้า
: เพียงแค่ขอให้ศึกษารากเหง้าของตัวเอง
#บาลีวันละคำ (2,985)
14-8-63