บาลีวันละคำ

อาสาฬฺห (บาลีวันละคำ 433)

อาสาฬฺห

คำบาลี อ่านว่า อา-สาน-หะ

อาสาฬฺห” เป็นชื่อหมู่ดาว

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แสดงความหมายของศัพท์ไว้ว่า –

อาสาฬฺโห  นาม  ภตีนํ  ทณฺโฑ, ตํสณฺฐานตฺตา  อาสาฬฺหา = ดาวที่มีรูปร่างเหมือนไม้คานของคนรับจ้าง

เมื่อดวงจันทร์โคจรผ่านกลุ่มดาวนี้จึงเรียกชื่อเดือนนั้น “อาสาฬฺห” คือเดือน ๘ ทางจันทรคติ ตกราวมิถุนายน – กรกฎาคม

คำสำคัญที่เกี่ยวกับเดือนนี้คือ “อาสาฬหบูชา” ซึ่งมีความหมายว่า “การบูชาในเดือน ๘” หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน ๘ เพื่อรำลึกถึงคุณพระรัตนตรัยเป็นการพิเศษ เนื่องในวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ทำให้เกิดมีปฐมสาวก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ และเกิดสังฆรัตนะคำรบพระรัตนตรัย

ในภาษาไทย มีปัญหาว่าจะอ่านคำ “อาสาฬห” ว่าอย่างไร ?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกคำอ่านไว้ 2 แบบ คือ อ่านว่า อา-สาน-หะ และอ่านว่า อา-สาน-ละ-หะ

ความจริง มีคำอ่านอีกแบบหนึ่งที่มีคนอ่าน แต่ พจน.42 ไม่ได้บอกไว้ คือ อา-สา-ละ-หะ

หลักตัดสินก็คือ ในภาษาบาลี ตัว เมื่อซ้อนอยู่หน้า เป็นตัวสะกดอย่างเดียว ไม่ต้องออกเสียง

คำเทียบที่เห็นได้ชัดคือ

ทัฬหีกรรม (การกระทําให้มั่นคงขึ้น) อ่านว่า ทัน-ฮี-กํา

วิรุฬห์ (เจริญ, งอกงาม) อ่านว่า วิ-รุน

วิรุฬหก (ชื่อท้าวจาตุมหาราชองค์หนึ่ง ประจําทิศทักษิณ) อ่านว่า วิ-รุน-หก

สาเหตุ :-

ทั-” ยังออกเสียงเองไม่ได้ ส่วน “วิรุ-” แม้จะออกเสียงเองได้ แต่ก็ยังชวนให้มองหาตัวสะกดอีก จึงรู้ได้ชัดว่า “” เป็นตัวสะกด จึงไม่มีใครอ่านว่า ทัน-ละ-ฮี-กำ หรือ วิ-รุน-ละ-หก

แต่ “อาสาฬห” –สา– เมื่ออ่านตามที่ตาเห็น สามารถออกเสียงได้เอง ไม่ทำให้รู้สึกว่า “” เป็นตัวสะกด จึงอ่านเป็น อา-สา-ละ-หะ หรือ อา-สาน-ละ-หะ ได้ง่าย

: ห้ามคนอื่นไม่ให้ทำผิด – ยาก

: ห้ามตัวเราเองไม่ให้ทำผิด – ยิ่งยาก

——————–

(ตามคำชี้แนะของท่าน พระมหารุ่งอรุณ อรุณโชติ – กราบขอบพระคุณยิ่ง)

บาลีวันละคำ (433)

22-7-56

พระมหารุ่งอรุณ อรุณโชติ

๒๑ ก.ค.๕๖

เจริญพรโยมอาจารย์ อยากให้อาจารย์ช่วยลงคำว่า อาสาฬหบูชาด้วยครับ ช่วยอธิบายหน่อยครับว่า อ่านอย่างไหนถูกผิด มีที่มาที่ไปอย่างไร เจริญขอบคุณอาจารย์มากๆครับ

คำเทียบ

มุฬฺโห วุฬฺโห ทฬฺห วิรุฬห พาฬห (มาก, แน่น) อารุฬฺห ปริโยคาฬฺห คูฬฺหก (ซ่อน)

ทัฬหีกรรม

  [ทันฮีกํา] น. การกระทําให้มั่นคงขึ้น ได้แก่การที่ทําซํ้าลงไปเพื่อให้มั่นคงในกรณีที่การกระทําครั้งแรกไม่สมบูรณ์ มักใช้ในพิธีสงฆ์ เช่น ทําทัฬหีกรรม สวดทัฬหีกรรม. (ป. ทฬฺหีกมฺม; ส. ทฺฤฒี + กรฺมนฺ).

วิรุฬห์

  ว. เจริญ, งอกงาม. (ป.; ส. วิรูฒ).

วิรุฬหก

  [-รุนหก] น. ชื่อท้าวจาตุมหาราชองค์หนึ่ง ประจําทิศทักษิณ. (ป.).

อาสาฬฺห ๑ ดาวอาสาฬหะ, ดาวราชสีห์, ดาวแตรงอน (ศัพท์วิเคราะห์)

อาสาฬฺโห นาม ภตีนํ ทณฺโฑ, ตํสณฺฐานตฺตา อาสาฬฺหา ดาวที่มีรูปร่างเหมือนไม้คานของคนรับจ้าง

อาสาฬฺห ๒ เดือนแปด

อาสาฬฺหาย ปุณฺณจนฺทยุตฺเตน นกฺขตฺเตน ยุตฺโต มาโส อาสาฬฺโห เดือนที่ประกอบด้วยดาวอาสาฬหะที่มีพระจันทร์เต็มดวง (อาสาฬฺหา + ณ)

อาสาฬฺหา และ อาสาฬฺหี (บาลี-อังกฤษ)

ชื่อของเดือน (มิถุนายน-กรกฎาคม) และชื่อของนักขัตฤกษ์; เฉพาะในสมาสเป็น อาสาฬฺห และ อาสาฬฺหิ เช่น อาสาฬฺหนกฺขตฺต อาสาฬฺหิปุณฺณมา

= มาส :

วสฺสูปนายิกาย ปุริมภาเค อาสาฬฺหมาโส

(ปรมัตถโชติกา ภาค ๒ อรรถกถาสุตตนิบาต (ธัมมิกสูตร) หน้า ๒๖๗);

คิมฺหานํ ปจฺฉิเม มาเสติ อาสาฬฺหิมาเส

(ปรมัตถทีปนี อรรถกถาวิมานวัตถุ (อัมพวิมาน) หน้า ๔๒๘)

อาสาฬฺห ป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ชื่อเดือน (ตกราวมิถุนายน – กรกฎาคม)

อาสาฬฺหี ค.

เกี่ยวกับกลุ่มดาวอาสาฬห.

อาสาฬหะ (ประมวลศัพท์)

เดือน ๘ ทางจันทรคติ

อาสาฬหบูชา

“การบูชาในเดือน ๘“ หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๘ เพื่อรำลึกถึงคุณพระรัตนตรัยเป็นการพิเศษ เนื่องในวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ทำให้เกิดมีปฐมสาวก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ และเกิดสังฆรัตนะคำรบพระรัตนตรัย

อาสาฬหปุรณมี

วันเพ็ญเดือน ๘, วันกลางเดือน ๘, วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘

อาษาฒ (สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน)

ชื่อเดือน; the name of a month

อาษาฒา

ชื่อนักษัตร; name of lunar mansion

อาสาฬห-, อาสาฬห์

  [-สานหะ-, -สานละหะ-, -สาน] น. เดือนที่ ๘ แห่งเดือนจันทรคติ. (ป.; ส. อาษาฒ).

อาสาฬหบูชา

  [-สานหะ-, -สานละหะ-] น. การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๘ ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา.

อาสาฬหบูชา โดย ศ.จำนงค์ ทองประเสริฐ 

อาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา นับว่าเป็นวันที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่งตามศัพท์ก็แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๘” คำนี้บางทีก็อ่านเป็น “อา-สาน-ละ-หะ-บู-ชา” ซึ่งที่ถูกแล้วควรอ่านว่า “อา-สาน-หะ-บู-ชา” เพราะมาจากคำบาลีว่า “อาสาฬฺห” ซึ่งแปลว่า เดือน ๘ ในภาษาบาลี ตัว ฬ เมื่อซ้อนอยู่หน้า ห ไม่ต้องออกเสียงเป็น ละ เช่นเดียวกับคำว่า “มุฬฺโห” (หลงแล้ว) หรือ “วุฬฺโห” (จมแล้ว) เวลาอ่านก็ไม่ต้องออกเสียง ฬ เป็น ละ คำว่า “อาสาฬหบูชา” ก็เช่นเดียวกัน ไม่ต้องออกเสียงเป็น อา-สาน-ละ-หะ-บู-ชา”

เหตุที่ประชาชนชาวไทยถือว่าวันอาสาฬหบูชาเป็นวันที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง นอกเหนือจากวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา และวันเข้าพรรษานั้นก็เนื่องมาจากว่า วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วได้ ๒ เดือน พระองค์ได้เสด็จไปโปรดพระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี และได้ทรงแสดงปฐมเทศนา โปรดพระปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรก “ปฐมเทศนา” ซึ่งแปลว่า “เทศนาครั้งแรก” นั้น มีชื่อในภาษาบาลีว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” เหตุที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยถือว่าวันนี้เป็นวันสำคัญก็เพราะเหตุสำคัญ ๔ ประการด้วยกัน คือ

๑. เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา

๒. เป็นวันแรกที่พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมจักรประกาศสัจธรรมอันเป็นองค์แห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ

๓. เป็นวันที่พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกบังเกิดขึ้นในโลก นั่นคือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ซึ่งเป็นหัวหน้าพระปัญจวัคคีย์ได้รับ เอหิภิกขุอุปสัมปทา จากพระพุทธเจ้าในวันนั้น

๔. เป็นวันแรกที่เกิดพระสงฆ์ หรือสังฆรัตนะ สมบูรณ์เป็นรัตนตรัย คือมีทั้งพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ

วันอาสาฬหบูชานี้ประเทศอื่น ๆ แม้จะนับถือพระพุทธศาสนาส่วนมากก็มิได้จัดงานที่ระลึก แต่ประเทศไทยเรามีศรัทธามั่นในพระพุทธเจ้าจึงได้ถือว่าวันนี้เป็นวันสำคัญ และทางราชการได้หยุดราชการเพื่อให้ประชาชนไปทำบุญตักบาตร ถือศีลฟังเทศน์ด้วย.

ผู้เขียน : ศ.จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม

ที่มา : ภาษาไทยไขขาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. ๒๕๒๘. หน้า ๒๗-๒๘.

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย