เทวดาจร → เทพจร → ชีพจร (บาลีวันละคำ 2,991)
เทวดาจร → เทพจร → ชีพจร
คำที่กลายพันธุ์
(๑) “เทวดาจร”
อ่านว่า เท-วะ-ดา-จอน ประกอบด้วยคำว่า เทวดา + จร
(๑) “เทวดา”
บาลีเป็น “เทวตา” (เท-วะ-ตา) รากศัพท์มาจาก เทว + ตา ปัจจัย
(ก) “เทว” (เท-วะ) รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + อ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว)
: ทิวฺ + อ = ทิว > เทว แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ”
ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา
แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังหมายถึงอีกหลายอย่าง คือ พระยม, ความตาย, สมมติเทพ, พระราชา, ท้องฟ้า, ฝน, เมฆฝน, วรุณเทพ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –
(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)
(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)
(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน)
(ข) เทว + ตา ปัจจัย
: เทว + ตา = เทวตา แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นเทวดา” (condition or state of a deva) หมายถึง เทพเจ้า; เทพยดา, พระเจ้า, นางฟ้า (divinity; divine being, deity, fairy)
“เทวตา” ก็คือที่เรารู้จักกันในภาษาไทยว่า “เทวดา” นั่นเอง
(๒) “จร”
บาลีอ่านว่า จะ-ระ รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = เที่ยวไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: จรฺ + ณ = จรณ > จร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เที่ยวไป” “ผู้ประพฤติ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จร” เป็นอังกฤษว่า –
(1) the act of going about, walking; one who walks or lives (การเที่ยวไป, การเดินไป, ผู้เดินหรืออยู่)
(2) one who is sent on a message, a secret emissary, a spy (ผู้ถูกให้ไปส่งข่าว, จารบุรุษ, คนสอดแนม)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จร ๑, จร– : (คำวิเศษณ์) ไม่ใช่ประจำ เช่น วาระจร ขาจร. (คำกริยา) ไป, เที่ยวไป; ประพฤติ. (ป., ส.), ใช้เป็นบทท้ายสมาสก็มี เช่น ขจร วนจร, ที่ใช้ควบกับคำไทยก็มี เช่น จรลู่ จรลิ่ว.”
เทวดา + จร = เทวดาจร เป็นคำประสมแบบไทย แปลจากหน้าไปหลังว่า “เทวดาผู้ท่องเที่ยวไป”
(๒) “เทพจร”
อ่านว่า เทบ-พะ-จอน ประกอบด้วยคำว่า เทพ + จร (ดูรากศัพท์ที่แสดงไว้ข้างต้น)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เทพจร : (คำนาม) ชื่อเทวดาองค์หนึ่ง; (คำโบราณ) ชีพจร.”
บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2550 มีข้อความตอนหนึ่ง ดังนี้
…………..
ชีพจรลงเท้า เป็นสำนวน มีความหมายว่า ต้องเดินทางท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ อยู่ไม่ติดที่
สำนวนนี้เดิมใช้ว่า “เทพจรลงเท้า” คำว่า เทพจร อักขราภิธานศรับท์ ของหมอปรัดเล ให้ความหมายไว้ว่า “เส้นในตัวคนที่มันเต้นอยู่ที่ข้อมือข้อเท้า” เทพจร ก็คือสิ่งที่เรียกว่า ชีพจร ในปัจจุบันนั่นเอง
…………..
(๓) “ชีพจร”
อ่านว่า ชีบ-พะ-จอน ประกอบด้วยคำว่า ชีพ + จร
(ก) “ชีพ”
บาลีเป็น “ชีว” (ชี-วะ) รากศัพท์มาจาก ชีวฺ (ธาตุ = เป็นอยู่) + อ (อะ) ปัจจัย
: ชีวฺ + อ = ชีว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุให้เป็นอยู่ได้” หมายถึง ชีวิต (ของแต่ละคน), เวลาที่ชีวิตดำรงอยู่, ช่วงของชีวิต, การเป็นอยู่; การดำรงชีพ ([individual] life, lifetime, span of life; living, livelihood)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ชีว– ๑, ชีวะ ๑ : (คำนาม) ชีพ, ความเป็น, ตรงข้ามกับ ความตาย. (ป., ส.).”
“ชีว” แปลง ว เป็น พ ตามหลักนิยม ได้รูปเป็น “ชีพ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“ชีพ, ชีพ– : (คำนาม) ชีวิต, ความเป็น, ตรงข้ามกับ ความตาย, เช่น เสียชีพอย่าเสียสัตย์; ความดำรงชีวิตอยู่ เช่น ค่าครองชีพ. (ป., ส. ชีว).”
(ข) “จร” (ดูรากศัพท์ที่แสดงไว้ข้างต้น)
ชีพ + จร = ชีพจร แปลตามศัพท์ว่า “อาการเป็นไปที่แสดงให้รู้ว่ายังมีชีวิตอยู่”
ที่ประสมคำและแปลไว้นี้เป็นการแปลตามรูปคำที่เห็นในภาษาไทย แต่ในคัมภีร์บาลียังไม่พบคำที่ประกอบรูปและมีความหมายเช่นนี้
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ชีพจร : (คำนาม) อาการที่เส้นเลือดเต้นอยู่ตามร่างกายและสัมผัสได้เช่นที่ข้อมือ.”
อภิปราย :
คำทั้ง 3 ที่แสดงมาข้างต้นมีความสัมพันธ์กันดังจะกล่าวต่อไปนี้ –
๑ “เทวดาจร” เป็นคำที่ใช้ในวิชาหมอดูแบบ “สิบสองราศี” ประกอบด้วย พระเจดีย์, ฉัตรเงิน, คนศีรษะขาด, เรือนหลวง, ปราสาททอง, ราหู, ฉัตรทอง, เทวดาจร, นักโทษ, พ่อมด, แม่มด, นาคราช
วิธีดู คือนับอายุปัจจุบันว่าตกราศีอะไร แล้วทำนายไปตามคำทำนายประจำราศีนั้นๆ
เฉพาะราศี “เทวดาจร” คำทำนายที่เป็นหลักคือ เจ้าชะตามักต้องเดินทางออกนอกถิ่น
๒ คำว่า “เทวดาจร” นั่นเองเอามาแปลงรูปเป็น “เทพจร” (เทวดา-เทพ มีความหมายเหมือนกัน) อ่านว่า เทบ-พะ-จอน และนิยมพูดควบกับคำว่า “ลงเท้า” เป็น “เทพจรลงเท้า” (เทบ-พะ-จอน-ลง-เท้า)
สมัยโบราณคนมักอยู่ประจำถิ่น และการเดินทางก็ใช้วิธี “เดิน” คือไปด้วยเท้า ใครที่มีเหตุให้ต้องเดินทางไปนั่นมานี่ไม่ค่อยได้หยุด จึงเกิดเป็นสำนวนเรียกว่า “เทพจรลงเท้า” หมายความว่า ราศี “เทวดาจร” หรือ “เทพจร” มาสถิตอยู่ที่เท้า จึงเป็นเหตุให้ต้องเดินทางอยู่เสมอ
๓ คำว่า “ชีพจร” เป็นคำเกิดใหม่ บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า the pulse
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล pulse เป็นบาลีดังนี้ –
(1) rudhiragamana รุธิรคมน (รุ-ทิ-ระ-คะ-มะ-นะ) = การดำเนินไปของเลือด, การไหลเวียนของโลหิต
(2) hadayaphandana หทยผนฺทน (หะ-ทะ-ยะ-ผัน-ทะ-นะ) = การเต้นของหัวใจ
คนสมัยใหม่ได้ยินคำว่า “เทพจร–” ไม่คุ้นหู เข้าใจไปว่า “เทพจร–” คือ “ชีพจร–” จึงพากันพูดว่า “ชีพจรลงเท้า” ทั่วไปหมด
วิธีพิสูจน์ว่า “ชีพจรลงเท้า” เป็นคำที่พูดผิด ก็คือลองแปล “ชีพจร” กับ “เทพจร” เป็นภาษาอังกฤษ
“ชีพจร” ภาษาอังกฤษว่า the pulse
“เทพจร” ภาษาอังกฤษว่า a god the traveler
“เทพจร” อาจหมายถึง the pulse ได้ถ้าเป็นคำโบราณ (ดูคำนิยามในพจนานุกรมฯ ข้างต้น)
แต่ “ชีพจร” หมายถึง “อาการที่เส้นเลือดเต้นอยู่ตามร่างกาย” จะหมายถึง a god the traveler ไม่ได้เลย
และโดยนัยกลับกัน ความหมายที่ว่า “อยู่ไม่เป็นที่, ท่องเที่ยวเดินทางไปเรื่อย ๆ” จะหมายถึง the pulse (ชีพจร) ก็ไม่ได้ ต้องหมายถึง a god the traveler เท่านั้น
และ a god the traveler ก็คือ “เทพจร” ไม่ใช่ “ชีพจร”
เมื่อพูดว่า “ชีพจรลงเท้า” แต่ไปเอาความหมายของ a god the traveler มาใช้ จึงไม่ใช่ความหมายที่ถูกต้อง
คำที่ถูกต้องก็มีอยู่แล้ว คือ “เทพจรลงเท้า” แต่พจนานุกรมฯ ก็ไปปิดประตูเสียอีก เพราะบอกว่า ปัจจุบันใช้ว่า “ชีพจรลงเท้า”
หมายความว่า ใครใช้ว่า “เทพจรลงเท้า” จะกลายเป็นใช้คำผิด
ถูกกลายเป็นผิด และผิดกลายเป็นถูก-ก็มีด้วยประการฉะนี้
…………..
คำเดิมเป็นอย่างหนึ่ง แต่คนสมัยใหม่ได้ยินแล้วเข้าใจไปอีกอีกอย่างหนึ่ง โปรดเทียบกับคำต่อไปนี้ –
(1) คำเดิม “เส้นผ่าศูนย์กลาง” คนสมัยใหม่ได้ยินคำว่า “ผ่า” เป็น “ผ่าน” จึงพูดว่า “เส้นผ่านศูนย์กลาง” แล้วบอกว่า “เส้น” ไม่สามารถจะเอาไป “ผ่า” อะไรได้ แต่สามารถลากเส้น “ผ่าน” ศูนย์กลางได้
นี่ก็คือไม่เข้าใจว่าคำว่า “ผ่า” ใช้ในความหมายอย่างไรได้บ้าง
(2) คำเดิม “สุคติ” คนสมัยใหม่นึกไม่เห็นว่า “สุ-” หมายถึงอะไร แต่เข้าใจไปว่าคำนี้คือ สุข + คติ แล้วแปลเอาเองว่า “คติคือภพภูมิที่ไปแล้วมีความสุข” พอเข้าใจอย่างนี้ก็พากันเขียนเป็น “สุขคติ”
ต่อไปคำว่า “สุขคติ” จะเป็นคำถูก เหมือน “ชีพจรลงเท้า” เป็นคำถูกไปแล้ว และ “สุคติ” จะเป็นคำที่ไม่มีใครรู้จัก เหมือน “เทพจรลงเท้า” เป็นคำที่ไม่มีใครพูดอยู่ในบัดนี้
(3) คำเดิม “ธาตุแท้” เช่นในคำว่า “เผยธาตุแท้” (“ธาตุแท้” หมายถึงนิสัยใจคอที่แท้จริงซึ่งซ่อนเร้นไว้) คนสมัยใหม่เข้าใจแต่เพียงว่า “ธาตุ” คือแร่ธาตุหรือธาตุทางวิทยาศาสตร์ ได้ยินคำว่า “เผยธาตุแท้” ไม่เข้าใจ จึงแก้เป็น “เผยท่าแท้” แล้วอธิบายว่า “ท่าแท้” หมายถึง “ท่าทีที่แท้จริง”
คำเดิม “เผยธาตุแท้” ก็เกิดเป็นคำว่า “เผยท่าแท้” ขึ้นมาอีกคำหนึ่ง
(4) คำว่า “ตลอดกาลนานเทอญ” อ่านว่า ตะ-หฺลอด-กา-ละ-นาน-เทิน คนสมัยใหม่ไม่เข้าใจว่า “กาลนาน” ออกเสียงว่า กา-ละ-นาน แต่เข้าใจไปว่าคำนี้อ่านว่า กาน-นาน พอได้ยินเสียงคำว่า “กา-ละ-นาน” ไม่เข้าใจว่าคืออะไร จับเสียง “-ละ-” เป็น “และ” จึงพูดว่า “ตลอดกาลและนานเทอญ”
เวลานี้เริ่มจะเขียนกันว่า “ตลอดกาลและนานเทอญ” มากขึ้น ต่อไปก็จะเป็นคำถูกอีกคำหนึ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่เรียนรู้รากเหง้าของตัวเอง
: ก็เหมือนนุ่งกางเกงกระเป๋ากลวง
#บาลีวันละคำ (2,991)
20-8-63