ราชบัลลังก์ (บาลีวันละคำ 2,993)
ราชบัลลังก์
ของสูง
อ่านว่า ราด-ชะ-บัน-ลัง
ประกอบด้วยคำว่า ราช + บัลลังก์
(๑) “ราช”
บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –
(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย
(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
“ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”
(๒) “บัลลังก์”
บาลีเป็น “ปลฺลงฺก” อ่านว่า ปัน-ลัง-กะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ปริ (คำอุปสรรค = โดยรอบ) + อกฺ (ธาตุ = ทำตำหนิ, สลักลาย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ลบ อิ ที่ (ป)-ริ (ปริ > ปร), แปลง ร เป็น ล (ปร > ปล), ซ้อน ลฺ (ปล > ปลฺล), ลงนิคหิตอาคมที่ ล แล้วแปลงเป็น งฺ (ปลฺล > ปลฺลํ > ปลฺลงฺ-)
: ปริ + อกฺ = ปริก > ปรก > ปลก > ปลฺลก > ปลฺลํก > ปลฺลงฺก แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันเขาจำหลักไว้โดยรอบ”
(2) ปลฺล (การกำจัดกิเลส) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ซ้อน งฺ ระหว่าง ปลฺล + กรฺ (ปลฺลกรฺ > ปลฺลงฺกรฺ), ลบ รฺ ที่สุดธาตุ
: ปลฺล + กรฺ = ปลฺลกร + กฺวิ = ปลฺลกรกฺวิ > ปลฺลกร > ปลฺลงฺกร > ปลฺลงฺก แปลตามศัพท์ว่า “ที่ (นั่งเพื่อ) กระทำการกำจัดกิเลส” ความหมายนี้เล็งถึงลักษณะการนั่งซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมนิยมนั่งที่เรียกว่า “ขัดสมาธิ” มาจากมูลเดิมคือนั่งขาทับขาหรือขาขัดกันเพื่อเจริญสมาธิ แล้วเลยเรียกท่านั่งเช่นนั้นว่า “นั่งขัดสมาธิ” (-ขัด-สะ-หฺมาด)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปลฺลงฺก” ว่า –
(1) sitting cross-legged (นั่งขัดสมาธิ) :
(ก) กรณีแจกวิภัตติเป็น “ปลฺลงฺเกน” แปลว่า upon the hams (ก้นถึงพื้น)
(ข) รูปประโยค “ปลฺลงฺกํ อาภุชติ” แปลว่า to bend the legs in crosswise (นั่งคู้บัลลังก์)
(2) a divan, sofa, couch (ม้านั่งยาว, เก้าอี้นวมยาว, เก้าอี้นอน)
“ปลฺลงฺก” สันสกฤตเป็น “ปลฺยงฺก”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปลฺยงฺก : (คำนาม) ‘บัลยงก์,’ บิฐ, เตียงหรือแท่นที่ศัยยา; bedstead.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“บัลลังก์ : (คำนาม) พระแท่นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ภายใต้เศวตฉัตร เรียกว่า ราชบัลลังก์, โดยปริยายคํา ราชบัลลังก์ นี้ หมายถึงความเป็นพระมหากษัตริย์หรือสถาบันกษัตริย์ก็ได้; ที่นั่งผู้พิพากษาเมื่อพิจารณาคดีในศาล; ส่วนของสถูปเจดีย์บางแบบ มีรูปเป็นแท่นเหนือคอระฆัง. (คำกริยา) นั่งขัดสมาธิ เรียกว่า นั่งคู้บัลลังก์. (ป. ปลฺลงฺก).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้บทนิยามเป็นว่า –
“บัลลังก์ : (คำนาม) พระแท่นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร เรียกว่า พระแท่นราชบัลลังก์; ที่นั่งผู้พิพากษาเมื่อพิจารณาคดีในศาล; ส่วนของสถูปเจดีย์แบบลังกา มีรูปเป็นแท่นอยู่เหนือองค์ระฆัง. (คำกริยา) นั่งขัดสมาธิ เรียกว่า นั่งคู้บัลลังก์. (ป. ปลฺลงฺก).
ควรสังเกต :
๑ บัลลังก์– บ-ไม้หันอากาศ-ล ไม่ใช่ บรรลังก์– บ-รอหัน
๒ -ลังก์ ก ไก่การันต์ เพราะคำเดิม ปลฺลงฺก (ปัลลังกะ)
ราช + บัลลังก์ = ราชบัลลังก์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราชบัลลังก์ : (คำนาม) บัลลังก์ของพระมหากษัตริย์; ความเป็นพระมหากษัตริย์ เช่น สละราชบัลลังก์.”
…………..
เอกสารทางประวัติศาสตร์อันเกี่ยวกับการขึ้นสู่ “ราชบัลลังก์” :
…………..
…………..
คำซึ่งกล่าวว่า ได้รับสิริราชสมบัติ เป็นคำไพเราะจริงหนอ เพราะสมบัติย่อมเป็นที่ปรารถนาของบุคคลทั่วหน้า และย่อมจะคิดเห็นโดยง่าย ๆ ว่า ผู้ซึ่งได้เป็นเจ้าแผ่นดินแล้ว ย่อมจะมีเกียรติยศยิ่งกว่าคนสามัญ ย่อมจะมีอำนาจอาจจะลงโทษแก่ผู้ซึ่งไม่พึงใจ อาจจะยกย่องเกื้อกูลแก่ผู้ซึ่งพึงใจ และเป็นผู้มีสมบัติมาก อาจจะใช้สอยเล่นหัวหรือให้ปันแก่ผู้ที่พึงใจได้ตามประสงค์ ผลแห่งเหตุที่ควรยินดีกล่าวโดยย่อเพียงเท่านี้ ยังมีข้ออื่นอีกเป็นหลายประการ จะกล่าวไม่รู้สิ้น
แต่ความจริงหาเป็นเช่นความคาดหมายของคนทั้งปวงดังนั้นไม่ เวลาซึ่งกล่าวมาแล้ว อันจะพูดตามคำไทยอย่างเลว ๆ ว่ามีบุญขึ้นนั้น ที่แท้จริงเป็นผู้มีกรรมและมีทุกข์ยิ่งขึ้น ดังตัวพ่อได้เป็นมาเอง อันจะเล่าโดยย่อพอให้ทราบต่อไปนี้
…………..
…………..
บัดนี้ลูกมีอายุเท่ากับพ่อในเวลาที่ได้มีความทุกขเวทนาแสนสาหัสเช่นนั้น จึงได้มีใจระลึกถึง ประสงค์จะแนะให้รู้เค้าเงื่อนแห่งความประพฤติอันได้ทดลองมาแล้ว ในชั่วอายุเดียวเท่านี้ แต่จะถือเอาเป็นอย่างเดียวกันเหมือนตีพิมพ์ย่อมไม่ได้อยู่เอง เพราะบริษัทและบุคคลกับทั้งเหตุการณ์ภูมิพื้นบ้านเมืองผิดเวลากัน ในเวลานี้เป็นการสะดวกดีง่ายกว่าแต่ก่อนมากยิ่งนัก ตัวชายใหญ่เอง ก็ตั้งอยู่ในที่ผิดกันกับพ่อ ถ้าประพฤติตัวให้ดีจะดีได้เร็วกว่าง่ายกว่าเป็นอันมากในการภายใน แต่การภายนอกย่อมหนักแน่นขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงจะเป็นการจำเป็นที่จะทำช้าอย่างเช่นพ่อเคยทำมาไม่ได้ การสมัครสมานภายในต้องเรียบร้อยโดยเร็วไว้รับภายนอกให้ทันแก่เวลา จึงขอเตือนว่า
๑. ให้โอบอ้อมอารีต่อญาติและมิตรอันสนิท มีน้องเป็นต้น เอาไว้เป็นกำลังให้จงได้
๒. อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ ไม่ว่าเจ้านายหรือขุนนาง ฟังคำแนะนำตักเตือนในที่ควรฟัง
๓. อย่าถือว่าเกิดมามีบุญ ต้องถือว่าตัวเกิดมามีกรรมสำหรับจะเทียมแอกเทียมไถ ทำการที่หนัก การซึ่งจะมีวาสนาขึ้นต่อไปนั้น เป็นความทุกข์ มิใช่ความสุข
๔ การที่เป็นเจ้าแผ่นดินไม่ใช่สำหรับมั่งมี ไม่ใช่สำหรับคุมเหงคนเล่นตามชอบใจ มิใช่เกลียดไว้แล้ว จะได้แก้เผ็ด มิใช่เป็นผู้สำหรับจะกินสบายนอนสบาย ถ้าจะปรารถนาเช่นนั้นแล้วมีสองทาง คือ บวชทางหนึ่ง เป็นเศรษฐีทางหนึ่ง เป็นเจ้าแผ่นดินสำหรับแต่เป็นคนจน และเป็นคนที่อดกลั้นต่อสุขและทุกข์ อดกลั้นต่อความรักและความชังอันจะเกิดฉิวขึ้นมาในใจ หรือมีผู้ยุยง เป็นผู้ปราศจากความเกียจคร้าน ผลที่จะได้นั้นมีแต่ชื่อเสียงปรากฏเมื่อเวลาตายแล้ว ว่าเป็นผู้รักษาวงศ์ตระกูลไว้ได้ และเป็นผู้ป้องกันความทุกข์ของราษฎรซึ่งอยู่ในอำนาจความปกครอง ต้องหมายใจในความสองข้อนี้เป็นหลักมากว่าคิดถึงการเรื่องอื่น ถ้าผู้ซึ่งมิได้ทำใจได้เช่นนี้ ก็ไม่แลเห็นเลยว่าจะปกครองรักษาแผ่นดินอยู่ได้
…………..
………….
ที่มา: พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ) สยามมกุฎราชกุมาร
พระราชหัตถเลขาลงวันที่ 8 กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก 112
…………..
ดูก่อนภราดา!
ตำแหน่งสูง:>
: คนเขลาคิดเพียงแค่ว่า-จะขึ้นไปได้อย่างไร
: คนฉลาดคิดไกลไปถึงว่า-จะขึ้นไปทำอะไร
-และคิดต่อไปอีกว่า-จะลงได้เมื่อไร
#บาลีวันละคำ (2,993)
22-8-63