บาลีวันละคำ

“เกาะ” และ “เกราะ” (บาลีวันละคำ 2,994)

เกาะ” และ “เกราะ” ในภาษาบาลี

ใช้คำผิดที่เหมือนใช้คนผิดทาง

เคยเห็นข้อความที่เขียนว่า

“เป็นเกาะป้องกันภัย”

และ –

“เป็นเกราะป้องกันภัย”

ผู้เขียนข้อความนี้จะเข้าใจหรือเปล่าว่าตนต้องการจะพูดคำไหน?

“เกาะ” หรือ “เกราะ”

ในภาษาไทย “เป็นเกาะป้องกันภัย” กับ “เป็นเกราะป้องกันภัย” สามารถตีความให้มีความหมายในทำนองเดียวกันได้ทั้ง 2 คำ ไม่ว่าคำเดิมแท้จะเป็น “เกาะ” หรือ “เกราะ” ก็ตาม

“เป็นเกาะป้องกันภัย” ก็อย่างเช่น โดยสารเรือไปในทะเล เรือแตก ว่ายน้ำไปขึ้นที่ “เกาะ” แห่งหนึ่งจึงได้รอดชีวิต

เกาะแห่งนั้นก็อยู่ในฐานะ “เป็นเกาะป้องกันภัย”

“เป็นเกราะป้องกันภัย” ก็อย่างเช่น ทหารสวมเสื้อเกราะ เมื่อถูกข้าศึกยิงจึงไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต

เสื้อเกราะที่สวมก็อยู่ในฐานะ “เป็นเกราะป้องกันภัย”

แต่ทั้งนี้ จะเป็น “เกาะ” หรือ “เกราะ” ก็ต้องสอดคล้องกับเหตุการณ์ด้วย

เรือแตก ว่ายน้ำไปขึ้นที่ “เกาะ” แห่งหนึ่ง แล้วบอกว่า “เป็นเกราะป้องกันภัย” – อย่างนี้ใช้จินตนาการอย่างไรก็ไปไม่ถูก

ทหารสวมเสื้อเกราะ แล้วบอกว่า “เป็นเกาะป้องกันภัย” – ก็ไปไม่เป็นอีกเช่นกัน

ในภาษาไทย เสียง “เกาะ” กับ “เกราะ” อาจพัลวันกันได้ แต่เมื่อสะกดเป็นตัวอักษร จะเขียนพัลวันกันไม่ได้ เพราะ “เกาะ” กับ “เกราะ” มีความหมายต่างกัน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) เกาะ ๑ : (คำนาม) ส่วนของแผ่นดินที่มีนํ้าล้อมรอบ; ละเมาะ โดยปริยายใช้เรียกพื้นที่ซึ่งมีต้นไม้เป็นต้นขึ้นหนาแน่น มีทุ่งหรือที่เตียนล้อมรอบ หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น.

(2) เกราะ ๑ : (คำนาม) เครื่องสวมใส่หรือเครื่องหุ้มสําหรับป้องกันอาวุธหรืออันตราย เช่น เสื้อเกราะ รถเกราะ.

ในภาษาบาลี :

เกาะ” คือ “ทีป

เกราะ” คือ “กวจ

(๑) “ทีป” อ่านว่า ที-ปะ รากศัพท์มาจากหลายทาง ดังนี้ –

(1) ทฺวิ (สอง) + อาป (น้ำ), ลบ ที่ ทฺวิ (ทฺวิ > ทิ) และลบ อา ที่ อาป (อาป > ), ทีฆะ อิ เป็น อี

: ทฺวิ > ทิ + อาป > : ทิ + = ทิป > ทีป แปลตามศัพท์ว่า (1) “พื้นที่เป็นที่น้ำแยกออกเป็นสองทาง” (2) “พื้นที่เป็นที่น้ำแยกออกเป็นสองทาง

(2) ทีปฺ (ธาตุ = ปรากฏ) + (อะ) ปัจจัย

: ทีปฺ + = ทีป แปลตามศัพท์ว่า “พื้นที่ที่ปรากฏอยู่ในกลางน้ำ

ทีป” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) ตามรากศัพท์นี้หมายถึง เกาะ, ทวีป (an island, continent)

(3) ทีปฺ (ธาตุ = สว่าง, รุ่งเรือง) + ปัจจัย, ลบ

: ทีปฺ + = ทีปณ > ทีป (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้สว่าง” หมายถึง ดวงประทีป, โคมไฟ, ตะเกียง (a lamp) (2) “สภาวะที่สว่างอยู่ในญาณจักษุของเหล่าพระอริยะ” หมายถึง ความปลอดพ้นจากทุกข์ภัย = นิพพาน (salvation)

(4) ทีป (เกาะ, ดวงประทีป) + ปัจจัย, ลบ

: ทีปฺ + = ทีปณ > ทีป (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สภาวะอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ผู้ถูกห้วงน้ำในสงสารพัดพาไป เหมือนเกาะเป็นที่พึ่งของสัตว์ที่ถูกกระแสคลื่นพัดพาไป” (2) “สภาวะที่เป็นเหมือนดวงประทีปสำหรับผู้หมดกิเลส” หมายถึง นิพพาน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล“ทีป” ไว้ดังนี้ –

(1) an island, continent (เกาะ, ทวีป)

(2) terra firma (พื้นดิน, ดินแข็ง)

(3) solid foundation, resting-place, shelter, refuge (ฐานที่มั่นคง, สถานที่สำหรับอาศัย, สรณะ, ที่พึ่ง)

(4) a car covered with a panther’s skin (รถที่หุ้มด้วยหนังเสือดำ)

(5) salvation (ความปลอดพ้นจากทุกข์ภัย, นิพพาน)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ทีป ๑, ทีปะ ๑ : (คำแบบ) (คำนาม) แสงไฟ. (ป., ส.).

(2) ทีป ๒, ทีปะ ๒ : (คำแบบ) (คำนาม) เกาะ. (ป.; ส. ทฺวีป).

(๒) “กวจ” อ่านว่า กะ-วะ-จะ รากศัพท์มาจาก กจฺ (ธาตุ = ผูก) + (อะ) ปัจจัย, แปลง อะ ที่ -(จฺ) เป็น อุ แล้วแผลงเป็น อุ เป็น โอ, แปลง โอ เป็น อว (กจฺ > กุจฺ > โกจ > กวจ)

: กจฺ + = กจ > กุจ > โกจ > กวจ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ผูกติดไว้กับตัว” หมายถึง เกราะสวมกันอาวุธ, เสื้อเกราะ, เครื่องป้องกันอาวุธ (a mail, a coat of mail, armour)

ถ้าเอาคำบาลีมาใส่แทน “เกาะ” และ “เกราะ” ก็ต้องพูดว่า

(1) โดยสารเรือไปในทะเล เรือแตก ว่ายน้ำไปขึ้นที่ “ทีป” แห่งหนึ่งจึงได้รอดชีวิต

ไม่ใช่ – เรือแตก ว่ายน้ำไปขึ้นที่ “กวจ” แห่งหนึ่ง …

(2) ทหารสวม “กวจ” เมื่อถูกข้าศึกยิงจึงไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต

ไม่ใช่ – ทหารสวม “ทีป” …

จะเห็นได้ว่า ในภาษาบาลีการใช้ถ้อยคำจะต้องรัดกุม ความหมายจึงจะไม่คลาดเคลื่อน

เมื่อพูดหรือเขียนภาษาไทย ถ้าเอาหลักการเดียวกันนี้มาใช้ ภาษาวิปริตหรือภาษาวิบัติก็จะเกิดขึ้นได้ยาก ทั้งไม่ต้องมาเสียเวลาอธิบายผิดให้เป็นถูกอย่างที่นิยมทำกัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ

: จึงสมควรที่สุดที่จะช่วยกันสมมุติให้หมดจดงดงาม

#บาลีวันละคำ (2,994)

23-8-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *