บาลีวันละคำ

การเวก (บาลีวันละคำ 2,995)

การเวก

ปักษาสวรรค์

การเวก” บาลีเป็น “กรวิก” (กะ-ระ-วิ-กะ) และ เป็น “กรวีก” (กะ-ระ-วี-กะ) รากศัพท์มาจาก กล (เสียงวังเวง) + รุ (ธาตุ = ส่งเสียง) + อิก ปัจจัย, ลบ หน้าธาตุ (กล > ), แผลง อุ ที่ รุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (รุ > โร > รว)

: กล + รุ = กลรุ > กรุ > กโร > กรว + อิก = กรวิก (ทีฆะ อิ เป็น อี เป็น กรวีก บ้าง) แปลตามศัพท์ว่า “นกที่ส่งเสียงร้องวังเวง” คือนกที่เราเรียกในภาษาไทยว่า การเวก

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กรวีก” ว่า the Indian cuckoo (นกดุเหว่าอินเดีย) และมีลูกคำว่า “กรวีกภาณี” (กะ-ระ-วี-กะ-พา-นี) แปลไว้ว่า speaking like the cuckoo, i. e. with a clear and melodious voice, one of the mahāpurisa-lakkhaṇas (พูดเหมือนนกดุเหว่า, คือพูดชัดและเพราะเหมือนเสียงดนตรี, เป็นลักษณะอันหนึ่งของมหาบุรุษ)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “การเวก” ที่หมายถึงนก ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) การเวก ๑ : (คำนาม) ชื่อนกในเรื่องปรัมปรา เชื่อกันว่ามีอยู่ในป่าหิมพานต์ บินสูงเหนือเมฆ ร้องเพราะ สัตว์ทั้งหลายได้ยินก็หยุดชะงักไป.

(2) การเวก ๒ : (คำนาม) ชื่อนกขนาดเล็กถึงขนาดกลางหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Paradisaeidae แต่ละชนิดมีสีสันหลากหลาย อาจมี ๕-๑๐ สีในตัวเดียวกัน ตัวผู้สีสดกว่าตัวเมีย พบในเกาะนิวกินี เกาะใกล้เคียง และทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย ในประเทศไทยมีผู้นำมาเลี้ยงตามบ้าน เช่น ชนิด Paradisea apoda Linn.

สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 2 ที่คำว่า “การเวกนก” อธิบายไว้ดังนี้ –

…………..

การเวก ๑ – นก:

นกในแบบสัตว์หิมพานต์ มีอยู่ในป่าหิมพานต์ บินสูงเหนือเมฆ กินลมเป็นภักษาหาร มีเสียงร้องเพราะ สัตว์ทั้งหลายได้ยินก็หยุดชะงักด้วยจับใจในเสียงที่ร้อง “เสือกำลังจะกินเนื้อ ครั้นได้ยินเสียงนกการเวกก็ลืมกิน เด็กอันท่านไล่ตีและแล่นหนีไป ครั้นได้ยินเสียงนกนั้นร้อง ก็มิรู้สึกที่จักแล่นหนีได้เลย นกอื่นกำลังบินอยู่ ได้ยินเสียงนกการเวกร้อง ก็มิรู้สึกที่จะบิน ปลาที่กำลังว่ายน้ำอยู่ ก็มิรู้สึกที่จะว่ายไป” นกนี้ลางแห่งเรียกว่า นกการวิก เช่น การวิกระวังวนกุณาล (สมุทรโฆษ) อีกอย่างหนึ่งเป็นชื่อนกในสกุล Paradisea มีมากชนิดด้วยกัน ขนงาม ลางชนิดหางเป็นพู่ยาว มีอยู่ในเกาะนิวกินีและในที่อื่น ๆ แถวนั้น ชื่อนกชนิดหลัง คงได้ชื่อชนิดแรกมาตั้งให้โดยอนุโลม ยังมีนกแบบสัตว์หิมพานต์อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า นกวายุภักษ์ แปลว่านกกินลมเป็นภักษาหาร ถ้าเทียบลักษณะความเป็นอยู่กับนกการเวกชนิดแรก ซึ่งมีปรกติอยู่ในเมฆบนท้องฟ้ากินลมเป็นภักษาหาร ก็เห็นได้ว่านกวายุภักษ์และนกการเวกลงรูปเป็นนกตัวเดียวกัน ที่เราตั้งชื่อนกชนิดหลังว่า นกการเวก ก็คงเป็นเพราะนกชนิดนี้ไม่มีในประเทศไทย ได้แต่ขนมันมาปักหมวก ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Paradise bird แปลว่านกสวรรค์ นกฟ้า พอจะอนุโลมเรียกว่านกการเวกได้ จึงได้ตั้งชื่อเป็นเช่นนั้น. ส.ก.

…………..

คัมภีร์ปปัญจสูทนี ภาค 3 หน้า 276 ตอนอธิบายพรหมายุสูตร กล่าวถึงนกการเวกในตอนที่บรรยายถึงมหาปริสลักษณะข้อว่า “กรวีกภาณีมีเสียงดุจเสียงนกการเวก” ไว้ดังนี้ –

…………..

กรวิกสกุเณ  กิร  มธุรรสํ  อมฺพปกฺกํ  มุขตุณฺฑเกน  ปหริตฺวา  ปคฺฆริตรสํ  สายิตฺวา  ปกฺเขน  ตาลํ  ทตฺวา  วิกูชมาเน 

ได้ยินว่าเมื่อนกการเวกจิกมะม่วงสุกอันมีรสหวานอร่อยด้วยจะงอยปาก ลิ้มรสที่ไหลออกแล้วให้จังหวะด้วยปีกขานขันอยู่

จตุปฺปทาทีนิ  มตฺตานิ  วิย  ลฬิตุํ  อารภนฺติ.

สัตว์จตุบาทเป็นต้นย่อมเหมือนเคลิบเคลิ้มเริ่มงงงวย

โคจรปฺปสุตาปิ  จตุปฺปทา  มุขคตานิปิ  ติณานิ  ฉฑฺเฑตฺวา  ตํ  สทฺทํ  สุณนฺติ.

สัตว์จตุบาทแม้ที่กำลังหากินก็ทิ้งหญ้าทั้งที่อยู่ในปากเสีย ฟังเสียงนกนั้น

วาฬมิคาปิ   ขุทฺทกมิเค  อนุพนฺธมานา  อุกฺขิตฺตปาทํ  อนุกฺขิปิตฺวาว  ติฏฺฐนฺติ.

แม้พาฬมฤคกำลังติดตามเนื้อน้อย ๆ อยู่ เท้าที่ยกขึ้นแล้วก็ไม่ยอมย่างกลับหยุดฟังอยู่

อนุพทฺธมิคาปิ  มรณภยํ  หิตฺวาปิ  ติฏฺฐนฺติ.

แม้เนื้อที่ถูกติดตามเล่าก็เลิกกลัวตายหยุดฟังอยู่

อากาเส  ปกฺขนฺนปกฺขิโนปิ  ปกฺเข  ปสาเรตฺวา  ติฏฺฐนฺติ.

แม้นกที่บินไปในอากาศก็กางปีกหยุดเฉยอยู่

อุทเก  มจฺฉาปิ  กณฺณปฏลํ  น  อปฺโปเฐนฺตา  ตํ  สทฺทํ  สุณมานาว  ติฏฺฐนฺติ.

ทั้งปลาในน้ำเล่าก็ไม่โบกครีบ หยุดแหวกว่ายฟังแต่เสียงนกนั้น

เอวํ  มญฺชุรุตา  กรวิกา.

นกการเวกร้องไพเราะด้วยประการฉะนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สัตว์ใช้เสียงลวงกันให้หลงพลาด

: คนใช้คำพิฆาตกันให้หลงผิด

#บาลีวันละคำ (2,995)

24-8-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *