บาลีวันละคำ

กากนิธิ (บาลีวันละคำ 2,141)

กากนิธิ

ปลาตกคลัก

และที่มาของบุญปล่อยปลา

อ่านว่า กา-กะ-นิ-ทิ

ประกอบด้วยคำว่า กาก + นิธิ

(๑) “กาก

บาลีอ่านว่า กา-กะ รากศัพท์มาจาก –

(1) กา (เสียงว่า “กา”) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย ลบ รฺ ที่สุดธาตุ

: กา + กรฺ > + = กาก = “ผู้ทำเสียงว่ากา

(2) กา (เสียงว่า “กา”) + กา (ธาตุ = ส่งเสียง) + ปัจจัย ลบ อา ที่ธาตุ

: กา + กา > + = กาก = “ผู้ส่งเสียงว่ากา

กาก” (ปุงลิงค์) หมายถึงสัตว์จำพวกนกที่เราเรียกกันว่า “กา” หรือ “อีกา

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กาก” ว่า the crow

ในภาษาไทย คำว่า “กาก” มีความหมายแบบไทย ตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

กาก : (คำนาม) สิ่งที่เหลือเมื่อคั้นหรือคัดเอาส่วนดีออกแล้ว เช่น กากมะพร้าว; หยากเยื่อ; เดนเลือก (ใช้เป็นคําด่า) เช่น กากมนุษย์ คนกาก.”

ส่วนที่มีความหมายตรงตามบาลี คำไทยเขียน “กา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กา ๑ : (คำนาม) ชื่อนกขนาดกลางชนิด Corvus macrorhynchos Wagler วงศ์ย่อย Corvinae ในวงศ์ Corvidae ปากใหญ่หนาแบนข้าง ตาสีดำ ตัวสีดำ ร้องเสียง “กา ๆ ”, อีกา ก็เรียก; ชื่อหนึ่งของดาวฤกษ์ธนิษฐา เห็นเป็นรูปอีกา เช่น แม้นดาวกามาใกล้ในมนุษย์ (อภัย), ดาวไซ ดาวเศรษฐี ดาวศรวิษฐา หรือ ดาวธนิษฐะ ก็เรียก.”

กา” หรือ “อีกา” นี้ผู้ร้อนวิชารุ่นเก่าเคยเขียนเป็น “กาก์” (การันต์ที่ ท้ายศัพท์ อ่านว่า “กา”) เพราะเชื่อว่าชื่อนกชนิดนี้มาจากบาลีสันสกฤตว่า “กาก” แน่นอน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “กาก” บอกไว้ดังนี้ –

(1) (คำนาม) กาก์; คนเสียขา a crow; a cripple, one whose legs are useless.

(2) ฝูงกาก์ an assemblage of crows.

(3) (คำคุณศัพท์) อหังการ, ไม่มีความละอาย; arrogant, shameless.

ในคัมภีร์มักเอ่ยถึง “กาก” ในฐานะสัตว์ขี้ขโมย นิสัยไม่ดี ชอบมั่วสุมกับสัตว์จำพวกเลวในสถานที่ที่น่ารังเกียจ

คัมภีร์อังคุตรนิกาย ทสกนิบาต (พระไตรปิฎกเล่ม 24 ข้อ 77) แสดงลักษณะเลวของ “กาก” ไว้ 10 อย่าง คือ –

(1) ธํสี = ระราน

(2) ปคพฺโภ = อวดกล้า

(3) ตินฺติโณ = อยากจัด

(4) มหคฺฆโส = กินจุ

(5) ลุทฺโธ = โลภมาก

(6) อการุณิโก = ใจร้าย

(7) ทุพฺพโล = อ่อนแอ

(8) โอรวี = ปากพล่อย

(9) มุฏฺฐสฺสติ = ปล่อยตัว

(10) เนจยิโก = งก

(คำบาลี : จากพระไตรปิฎก

คำแปล : แปลแบบขบความ)

บุรุษหรือสตรีก็ตาม หากมีโทษสมบัติทั้งสิบนี้ ควรนับว่าเป็น “กาก” คือคนหมดดี หรือเดนเลือก ตามความหมายในภาษาไทยได้อย่างแน่นอน

(๒) “นิธิ

รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, ลบ อา ที่ ธา (ตามสูตรว่า “ลบสระหน้า” เพราะอยู่หน้า อิ ปัจจัย) : ธา + อิ > + อิ

: นิ + ธา = นิธา > นิธ + อิ = นิธิ แปลตามศัพท์ว่า “ทรัพย์อันเขาฝังไว้

นิธิ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) การวางลง, ที่เก็บ; ทรัพย์สมบัติที่ฝังไว้ (setting down, receptacle; hidden treasure)

(2) การใส่, เสื้อคลุม (putting on, a cloak)

กาก + นิธิ = กากนิธิ แปลว่า “ขุมทรัพย์ของกา

ขยายความ :

ในคัมภีร์ไม่มีศัพท์ตรงตัวว่า “กากนิธิ” แต่มีคาถาบาทหนึ่งในคัมภีร์ชาดก (มัจฉชาดก วรุณวรรค เอกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 75) และคัมภีร์จริยาปิฎก (มัจฉราชจริยา จริยาปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม 33 ข้อ 30) ข้อความว่า –

นิธึ  กากสฺส  นาสย

(นิธิง กากัสะ นาสะยะ)

แปลว่า “จงยังขุมทรัพย์ของกาให้พินาศไป

คำว่า “ขุมทรัพย์ของกา” แปลจากคำบาลีว่า “นิธึ  กากสฺส

– เรียงลำดับคำใหม่ตามรูปคำปกติเป็น “กากสฺส นิธิ” (กา-กัด-สะ นิ-ทิ)

– สมาสเป็นคำเดียวกันเป็น “กากนิธิ

เรื่องย่อในคัมภีร์ก็คือ พระโพธิสัตว์เกิดในกำเนิดปลา อาศัยอยู่ในบึงแห่งหนึ่งพร้อมกับฝูงปลาทั้งหลาย คราวหนึ่งฝนแล้งจัด น้ำในบึงแห้งขอด ฝูงปลาไปตกคลักรวมกันอยู่ ฝูงกาก็มาจิกกินฝูงปลาเป็นอาหารได้ตามสบาย

ปลาที่ไปตกคลักอยู่นั่นเองจึงเรียกว่า “กากนิธิ” แปลว่า “ขุมทรัพย์ของกา” ด้วยประการฉะนี้

คำว่า “ตกคลัก” นี้คนเมืองหรือคนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จัก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ตกคลัก, ตกคลั่ก : (คำกริยา) อาการที่ปลาเป็นต้นมารวมกันอยู่ในบ่อหรือหนองที่นํ้างวด, ตกปลัก ก็ว่า; ในการเล่นดวดหมายถึงลักษณะที่หมาก ๓ ตัวเดินไปถึงที่สุด มารวมกันอยู่ในตาที่จะสุกจวนจะออกแล้ว แต่ทอดแต้มออกไม่ได้; โดยปริยายหมายถึงอาการที่คนมารวมกันมาก ๆ ไปไหนไม่ได้.”

เรื่องในคัมภีร์กล่าวต่อไปว่า ปลาโพธิสัตว์สงสารฝูงปลาที่จะต้องพากันพินาศลงในครั้งนี้ จึงทำสัจกิริยา คืออธิษฐานเอาความสัตย์จริงเป็นที่ตั้งขอให้ฝนตก ฝนก็ตกลงมาจนน้ำเต็มบึง ฝูงปลาจึงรอดตายไปได้

คาถาที่เป็นคำอธิษฐานของปลาโพธิสัตว์บทหนึ่งว่าดังนี้ –

…………..

เอเตน  สจฺจวชฺเชน

ปชฺชุนฺโน  อภิวสฺสตุ 

อภิตฺถนย  ปชฺชุนฺน

นิธึ  กากสฺส  นาสย.

(เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ

ปัชชุนฺโน อะภิวัสสะตุ

อะภิตถะนะยะ ปัชชุนนะ

นิธิง กากัสสะ นาสะยะ)

ที่มา: มัจฉราชจริยา คัมภีร์จริยาปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม 33 ข้อ 30

แปลว่า –

ด้วยสัจวาจานี้

ขอเมฆีจงยังฝนให้ตกลงมาห่าใหญ่

เมฆเอย จงไหลหลั่งฝนคำรนสายฟ้า

ยังขุมทรัพย์ของกาให้พินาศไปเถิด

…………..

คนทั้งหลายที่มีจิตเป็นกุศล เมื่อไปเห็น “กากนิธิ” หรือ “ปลาตกคลัก” หวังจะช่วยชีวิตสัตว์เอาบุญ จึงจับปลาไปปล่อยในแหล่งน้ำ เป็นที่มาของการทำบุญปล่อยปลาที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

เมื่อจะปล่อยนกปล่อยปลา เคยถามตัวเองบ้างหรือเปล่าว่า –

: ตั้งใจจะช่วยเขาให้พ้นทุกข์

: หรือที่แท้ก็หวังสุขให้ตัวเอง

———–

ภาพประกอบ: จาก google

#บาลีวันละคำ (2,141)

23-4-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *