บาลีวันละคำ

สัญญัติ (บาลีวันละคำ 1,295)

สัญญัติ

: แขกแปลกหน้า

สัญญัติ” บาลีเป็น “สญฺญตฺติ” อ่านว่า สัน-ยัด-ติ รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ญา (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ญฺ (สํ > สญฺ), ซ้อน ตฺ, ลบสระที่สุดธาตุ (สูตรไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า” หมายถึงสระที่อยู่หน้าปัจจัย ในที่นี้คือ อา ที่ ญา : ญา > )

: สํ > สญฺ + ญา = สญฺญา > สญฺญ + ตฺ + ติ = สญฺญตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “การทำให้รู้พร้อมกัน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สญฺญตฺติ” ว่า

(1) informing, convincing (แจ้งให้ทราบ, การทำให้เชื่อมั่น)

(2) appeasing, pacification (การเอาใจ, การปลอบ)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

สัญญัติ : (ในคำว่า “อุปัชฌายะชื่ออะไรก็ตาม ตั้งสัญญัติลงในเวลานั้นว่าชื่อติสสะ”) การหมายรู้ , ความหมายรู้ร่วมกัน , ข้อสำหรับหมายรู้ร่วมกัน , ข้อตกลง.”

ข้อความที่พจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ ยกมาอ้างนี้อยู่ในหนังสือ วินัยมุข เล่ม 3 พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส กัณฑ์ที่ 27 บรรพชาและอุปสมบท หน้า 105-106 มีข้อความเต็มๆ ดังนี้ –

…….

เมื่อพระศาสนาแผ่มาถึงนานาประเทศที่คนมีชื่อในภาษาของเขา จึงต้องขนานชื่อมคธแห่งอุปสัมปทาเปกขะและบอกนามแห่งอุปัชฌายะ. เมื่อการให้อุปสมบททำแพร่หลายออกไป จนถึงทำในสงฆ์ผู้ไม่รู้บาลี เพียงจะออกชื่อในกรรมวาจาเปลี่ยนวิภัตติตามแบบบาลีก็ยังเป็นอันทำได้ยาก อาจารย์ในปูนหลังจึงวางแบบกรรมวาจาอุปสมบทใช้ชื่อยืนที่ เอาอย่างจากอนุฎีกาชื่อวิมติวิโนทนี อันวางอุทาหรณ์ไว้ว่า ต่างว่าอุปสัมปทาเปกขะชื่อ นาคะ อุปัชฌายะชื่อ ติสสะ ให้สวดว่าอย่างนั้นๆ ขนานชื่ออุปสัมปทาเปกขะว่านาคะทุกรูป อุปัชฌายะชื่ออะไรก็ตาม ตั้งสัญญัติลงในเวลานั้นว่าชื่อติสสะ

…….

มหาเถรสมาคมในสมัยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีประกาศออกมาฉบับหนึ่งเรียกชื่อว่า “ข้อสัญญัติในการตั้งทุนสงเคราะห์แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษา” มีข้อความเริ่มต้นว่า –

…….

อาศัยข้อความตามประกาศมหาเถรสมาคม เรื่องการตั้งทุนสงเคราะห์นักเรียนชั้นประถมศึกษา ที่ได้ประกาศไว้ ณ วันที่ ๑ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ ตอนที่แจ้งไว้ว่าการดำเนินงานเรื่องการตั้งทุนนั้น ให้เป็นไปตามข้อสัญญัติท้ายประกาศ จึงให้ข้อสัญญัติในเรื่องการตั้งทุนไว้ดังต่อไปนี้

…….

เป็นอันได้ความว่า “สัญญัติ” หมายถึง ข้อตกลงที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจตรงกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

มีปัญหาว่า “สัญญัติ” ในภาษาไทยอ่านว่าอย่างไร ?

ถ้าเทียบกับคำว่า “ญัตติ” ซึ่งรากศัพท์เดียวกับ “-ญัติ” ก็ควรอ่านว่า สัน-ยัด

แต่ถ้าเทียบกับคำว่า “บัญญัติ” ซึ่ง “-ญัติ” อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ก็น่าจะอ่านว่า สัน-หฺยัด

ข้อสังเกต :

คำว่า “ข้อตกลง” พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลเป็นอังกฤษว่า an agreement

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล agreement เป็นบาลีว่า sammuti สมฺมุติ (สำ-มุ-ติ)

คำว่า “สัญญัติ” เป็นคำที่รากศัพท์มีความหมายตรงกับ “สมมุติ” ทุกอย่าง กล่าวคือ:

สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ญา (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย = สัญญัติ

สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + มุ (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย = สมมุติ

สมมุติ” มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ในภาษาไทยหมายถึงยอมรับตกลงกันเองโดยปริยาย โดยไม่คํานึงถึงสภาพที่แท้จริง

แต่ “สัญญัติ” ไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน รูปคำเหมือนเป็นศัพท์บัญญัติที่ไม่คุ้นตา หรือบัญญัติแล้วไม่มีใครใช้ตาม ยังไม่มีนิยามความหมายที่แน่นอน อยู่ในฐานะภาษาแขกที่แปลกหน้าคำหนึ่ง

: ข้อตกลงเป็นเรื่องของคนสมมุติ

: รักษาสัจจะให้ถึงที่สุดเป็นเรื่องของคนจริง

————

(ตามคำขอของท่านอาจารย์ พิมพ์ วศินธรรมนนท์‎)

15-12-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย