บาลีวันละคำ

สรณบุคคล (บาลีวันละคำ 3,001)

สรณบุคคล

คือบุคคลเช่นไร

อ่านว่า สะ-ระ-นะ-บุก-คน

ประกอบด้วยคำว่า สรณ + บุคคล

(๑) “สรณ

อ่านว่า สะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = กำจัด, เบียดเบียน; คิดถึง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น

: สรฺ + ยุ > อน = สรน > สรณ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมเป็นเครื่องกำจัดกิเลสโดยเฉพาะแห่งมรรคสี่” (2) “การเบียดเบียน” (3) “ที่เป็นที่นึกถึงการกระทำที่ดีและไม่ดี

สรณ” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) ที่กำบัง, บ้าน (shelter, house)

(2) ที่พึ่ง, สรณะ (refuge, protection)

(3) การระลึกถึง (remembrance; remembering)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สรณ-, สรณะ : (คำนาม) ที่พึ่ง, ที่ระลึก; ความระลึก. (ป.; ส. ศรณ).”

(๒) “บุคคล

บาลีเป็น “ปุคฺคล” (ปุก-คะ-ละ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ปุ (นรก) + คลฺ (ธาตุ = เคลื่อน) + (อะ) ปัจจัย, ซ้อน คฺ

: ปุ + คฺ + คลฺ = ปุคฺคลฺ + = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เคลื่อนไปสู่นรก

(2) ปูติ (ของบูดเน่า) + คลฺ (ธาตุ = กิน) + (อะ) ปัจจัย, รัสสะ อู ที่ ปู-(ติ) เป็น อุ แล้วลบ ติ (ปูติ > ปุติ > ปุ), ซ้อน คฺ

: ปูติ > ปุติ > ปุ + คฺ + คลฺ = ปุคฺคลฺ + = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กินอาหารคือของบูดเน่า

(3) ปุคฺค (อาหารที่ยังอายุของสัตว์ให้เต็ม) + ลา (ธาตุ = กิน) + (อะ) ปัจจัย, ลบ อา ที่ ลา (ลา > )

: ปุคฺค + ลา = ปุคฺคลา > ปุคฺคล + = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กินอาหารที่ยังอายุของสัตว์ให้เต็มเป็นไป” (คือต้องกินจึงจะมีชีวิตอยู่ได้)

(4) ปูร (เต็ม) + คล (เคลื่อน), รัสสะ อู ที่ ปู-(ร) เป็น อุ แล้วลบ (ปูร > ปุร > ปุ), ซ้อน คฺ ระหว่าง ปูร + คล

: ปูร > ปุร > ปุ + คฺ + คล = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำหมู่สัตว์โลกให้เต็มและเคลื่อนไปสู่ธรรมดาคือจุติและอุบัติ” (คือเกิดมาทำให้โลกเต็มแล้วก็ตาย)

ปุคฺคล” ในบาลีหมายถึง –

(1) ปัจเจกชน, บุคคล, คน (an individual, person, man)

(2) สัตว์, สัตว์โลก (being, creature)

ปุคฺคล” ใช้ในภาษาไทยว่า “บุคคล” (อ่านว่า บุก-คน, ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า บุก-คะ-ละ-, บุก-คน-ละ-)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

บุคคล, บุคคล– : (คำนาม) คน (เฉพาะตัว); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) คนซึ่งสามารถมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า บุคคลธรรมดา; กลุ่มบุคคลหรือองค์กรซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ใช่บุคคลธรรมดา และให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า นิติบุคคล. (ป. ปุคฺคล; ส. ปุทฺคล).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเหลือเพียง –

บุคคล, บุคคล– : (คำนาม) คน (เฉพาะตัว); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล. (ป. ปุคฺคล; ส. ปุทฺคล).”

สรณ + บุคคล = สรณบุคคล แปลตามศัพท์ว่า “บุคคลเป็นที่ระลึกถึง

อภิปราย :

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้เห็นคำว่า “สรณบุคคล” ในวารสารเมืองโบราณ (ตามภาพประกอบ) แรกเห็นก็รู้สึกแปลกตา คำว่า “สรณ” เคยเห็น คำว่า “บุคคล” ก็เคยเห็นบ่อย แต่เอา 2 คำมารวมกันเป็น “สรณบุคคล” ยังไม่เคยเห็น

เมื่อดูรายชื่อบุคคลที่เป็น “สรณบุคคล” ของวารสารเมืองโบราณแล้ว เท่าที่ทราบ ล้วนแต่เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงในวงการประวัติศาสตร์และโบราณคดีทั้งสิ้น

ดังนั้น คำว่า “สรณบุคคล” จึงน่าจะมีความหมายว่า เป็นบุคคลที่ควรแก่การระลึกถึงในสาขาวิชาการหรือแขนงงานนั้นๆ และน่าจะมีความหมายคล้ายๆ กับคำว่า “ปูชนียบุคคล” นั่นเอง

ขอชาวเราพึงพิจารณาโดยโยนิโสมนสิการเทอญ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เพราะการอบรมกล่อมเกลา

: จึงทำให้คนเราต่างกัน

#บาลีวันละคำ (3,001)

30-8-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย