บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อ่านโคลงโลกนิติ พินิจพระธรรมบท (๑)

อ่านโคลงโลกนิติ พินิจพระธรรมบท (๑)

—————————————-

เมื่อวันก่อน (๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๓) ผมอ่านโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง ท่านยกโคลงโลกนิติที่ว่าด้วยความคิดของเด็กกับผู้ใหญ่มาประกอบการแสดงความเห็นของท่าน

โคลงที่ยกมามีข้อความดังนี้

………………………………

คนใดยืนอยู่ร้อย พรรษา

ใจบ่มีปรีชา โหดไร้

วันเดียวเด็กเกิดมา ใจปราชญ์

สรรเพชญบัณฑูรไว้ เด็กนั้นควรยอฯ

คนใดยืนเหยียบร้อย ขวบปี

ความอุตส่าห์ฤามี เท่าก้อย

เด็กเกิดขวบหนึ่งดี เพียรพาก

พระตรัสว่าเด็กน้อย นี่เนื้อเวไนยฯ

อายุถึงร้อยขวบ เจียรกาล

ธัมโมชอันโอฬาร บ่รู้

เด็กน้อยเกิดประมาณ วันหนึ่ง

เห็นถ่องธรรมยิ่งผู้ แก่ร้อยพรรษาฯ

………………………………

ผมแสดงความคิดเห็นสั้นๆ ไปที่โพสต์ของท่านแล้ว แต่เห็นว่าเรื่องนี้น่าสนใจ คือน่าศึกษา จึงขออนุญาตยกขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาร่วมกัน

ควรสรุปไว้ก่อนว่า เจตนาของท่านที่ยกโคลงโลกนิติมาเสนอนั้นก็เพื่อจะบอกว่า อย่าดูถูกความคิดของเด็ก เด็กที่คิดดีคิดถูกกว่าผู้ใหญ่ก็มี 

…………

เรื่องที่ผมอยากชวนให้ศึกษาก็คือ “ที่มา” ของโคลงโลกนิติทั้ง ๓ บท

ในโพสต์ของท่านที่กล่าวข้างต้นก็ได้เอ่ยถึงประวัติที่ไปที่มาของคำประพันธ์ที่เรียกว่า “โคลงโลกนิติ” ไว้ด้วยย่อๆ 

แต่ที่ผมจะกล่าวต่อไปนี้จะเจาะลงไปที่ “ที่มา” ของโคลงทั้ง ๓ บท

คำว่า “ที่มาของโคลงทั้ง ๓ บท” ไม่ได้หมายถึง-โคลงโลกนิติ ๓ บทนั้นอยู่ในหนังสือชื่ออะไร ใครแต่ง แต่หมายถึง-แนวคิดที่เอามาแต่งเป็นคำโคลงนั้นผู้แต่งเอามาจากไหน 

เผื่อใครยังงงอยู่ ยกตัวอย่างเลย –

คนใดยืนอยู่ร้อย พรรษา

ใจบ่มีปรีชา โหดไร้

วันเดียวเด็กเกิดมา ใจปราชญ์

สรรเพชญบัณฑูรไว้ เด็กนั้นควรยอ

นี่คือแนวคิดหรือใจความในโคลงโลกนิติ

แนวคิดหรือใจความนี้ผู้แต่งโคลงโลกนิติไม่ได้คิดขึ้นเอง แต่ไปเก็บ ไปถอด หรือไปหยิบเอามาจากภาษิตหรือคัมภีร์อื่นอีกต่อหนึ่ง

ภาษิตหรือคัมภีร์อื่นนี่แหละคือ “ที่มา” ที่กำลังพูดถึงนี้

คำนำหนังสือ “ประชุมโคลงโลกนิติฉบับหอสมุดแห่งชาติ” บอกไว้ว่า

………………………………

โคลงโลกนิติเป็นโคลงสุภาษิตเก่าแก่ แต่งมาแต่โบราณครั้งกรุงเก่า เดิมนักปราชญ์แต่งเที่ยวเลือกหาคาถาสุภาษิตภาษาบาลีและสันสกฤต อันมีอยู่ในคัมภีร์ต่าง ๆ คือ คัมภีร์โลกนิติบ้าง คัมภีร์โลกนัยบ้าง คัมภีร์อื่น ๆ เช่น ชาดก เป็นต้นบ้าง ตลอดจนคัมภีร์พระธรรมบทก็มี เลือกคาถาสุภาษิตเหล่านั้นมาตั้ง แล้วแปลแต่งเป็นคำโคลงไปทุก ๆ คาถา รวมเป็นเรื่องเรียกว่า โคลงโลกนิติ เป็นสุภาษิตที่นับถือกันมาช้านาน ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน เมื่อปีเถาะ พ.ศ.๒๓๗๔ มีพระราชประสงค์จะให้จารึกโคลงโลกนิติลงในแผ่นศิลา ติดไว้เป็นธรรมทานในวัดพระเชตุพน จึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเดชาดิศร แต่ยังเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนเดชอดิศร ทรงรวบรวมโคลงโลกนิติของเก่ามาชำระแก้ไข ให้ประณีตและไพเราะ เพราะของเก่าลอกคัดกันต่อ ๆ มา ปรากฏว่ามีถ้อยคำวิปลาสผิดพลาดมาก ครั้นสมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร ทรงชำระแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้จารึกในแผ่นศิลาติดไว้ในวัดพระเชตุพน โคลงโลกนิติจึงปรากฏแพร่หลายแต่นั้นมา

………………………………

“ที่มา” ของโคลงทั้ง ๓ บทนั้น ปรากฏว่า มาจากคัมภีร์พระธรรมบท

คัมภีร์พระธรรมบทเป็นคัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎก ชื่อบาลีว่า “ธมฺมปท” (ทำ-มะ-ปะ-ทะ) หรือ “ธมฺมปทคาถา” (ทำ-มะ-ปะ-ทะ-คา-ถา) คนไทยเรียกกันเป็นคำสามัญว่า “ธรรมบท” (ทำ-มะ-บด) พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐของไทยเราพิมพ์รวมไว้กับคัมภีร์อื่นๆ ชั้นพระไตรปิฎกด้วยกันเป็นเล่มที่ ๒๕

คัมภีร์ “ธมฺมปท” รจนาไว้เป็นคำกลอน ที่เรียกเป็นภาษาบาลีว่า “คาถา” แบ่งเรื่องเป็นหมวดๆ เรียกว่า “วรรค” แต่ละวรรคมีชื่อประจำวรรค โดยใช้คำที่เป็นความหมายเด่นในวรรคเป็นชื่อ เช่น วรรคที่ว่าด้วยเรื่องบาป ตั้งชื่อว่า “ปาปวคฺค” (ปา-ปะ-วัก-คะ) วรรคที่ว่าด้วยเรื่องคนพาล ก็ตั้งชื่อว่า “พาลวคฺค” (พา-ละ-วัก-คะ) อย่างนี้เป็นต้น

คัมภีร์ “ธมฺมปท” นี้มีคัมภีร์ที่แต่งอธิบายขยายความอีกชั้นหนึ่ง ที่เราเรียกกันว่า “อรรถกถา” คัมภีร์ขยายความคัมภีร์ “ธมฺมปท” นี้ เรียกกันว่า “ธมฺมปทฏฺฐกถา” เขียนแบบไทยว่า “ธัมมปทัฏฐกถา” (ทำ-มะ-ปะ-ทัด-ถะ-กะ-ถา) แต่งเป็นภาษาบาลีตลอดเรื่อง พิมพ์เป็นอักษรไทยแบ่งเป็นเล่มได้ ๘ เล่ม เรียกกันว่า “ภาค” คือภาค ๑ ถึงภาค ๘ 

คัมภีร์ “ธัมมปทัฏฐกถา” นี้ วงการบาลีเมืองไทยนิยมเรียกขานกันสั้นๆ ว่า “ธรรมบท” คำเดียวกับที่เรียกคัมภีร์ “ธมฺมปท” ชั้นพระไตรปิฎกนั่นเอง แล้วต่อด้วยตัวเลขบอกภาค เช่น “ธรรมบทภาค ๑” “ธรรมบทภาค ๕”

คัมภีร์ “ธัมมปทัฏฐกถา” นี้แหละที่ใช้เป็นหลักสูตรเบื้องต้นของนักเรียนบาลีในเมืองไทย ต้องสอบผ่าน “ธัมมปทัฏฐกถา” ให้ได้จึงจะมีสิทธิ์เป็น “มหา” 

มองภาพออกแล้วนะครับ 

ต่อไปนี้ก็มาเจาะเข้าประเด็น

“ที่มา” ของโคลงโลกนิติทั้ง ๓ บทนั้นคือคัมภีร์พระธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๘ หมวดสหัสสวรรค แปลว่า “หมวดว่าด้วยจำนวนพัน”

คัมภีร์อรรถกถา คือ “ธัมมปทัฏฐกถา” ยกเอาไปอธิบายขยายความ อยู่ใน “ธรรมบทภาค ๔” (ธมฺมปทฏฺฐกถา จตุตฺโถ ภาโค) ข้อความในต้นฉบับชุดที่ยกเอาไปแปลเป็นโคลงโลกนิติมีทั้งหมด ๖ บท แต่ในตัวโคลงโลกนิติพบเพียง ๕ บท

ตอนหน้า: ศึกษาข้อธรรมในคัมภีร์พระธรรมบททั้ง ๖ บท

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓

๑๑:๕๕

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *