บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

สองเรื่องที่อยากเล่า

สองเรื่องที่อยากเล่า

——————–

ผมโชคดีที่มีโอกาสเดินออกกำลังได้ทุกเช้า ยกเว้นเช้าวันพระกับเช้าวันหลังวันพระ

เช้าวันพระไปวัด ไปทำบุญที่วัดเหมือนชาวพุทธทั่วไป

ผมถืออุโบสถศีลทุกวันพระ (เมื่อก่อนถือวันพระวันเดียว ราวสัก ๑๐ ปีมานี้ถือวันโกนและหลังวันพระด้วย รวมเป็นสัปดาห์ละ ๓ วัน) เมื่อก่อนก็เหมือนอุบาสกอุบาสิกาในอดีตกาลทั้งหลาย คือถืออุโบสถศีลแล้วก็ค้างวัดด้วย แต่มาระยะหลัง ท่านอาจารย์ผู้หญิงที่บ้านอายุมากขึ้น อยู่กันสองคนตายาย ไม่กล้าทิ้งให้ท่านอนเฝ้าบ้านคนเดียว ผมก็เลยขออนุญาตหลวงพ่อกลับมาค้างบ้าน 

กิจวัตรเมื่อค้างวัดก็คือ ตื่นตีสี่ ลุกขึ้นไหว้พระสวดมนต์ ปฏิบัติจิตภาวนา สว่างแล้วช่วยกันกวาดวัด กินข้าวต้ม (หลวงพ่อสั่งโรงครัวให้จัดเลี้ยงพวกถืออุโบสถ) แล้วกลับบ้าน 

พอใช้วิธีกลับมาค้างบ้าน รุ่งเช้าหลังวันพระผมก็ตื่นขึ้นมาสวดมนต์คนเดียวเหมือนกับสวดที่วัด เช้าหลังวันพระก็เลยไม่ได้ออกไปเดิน 

ที่ว่าโชคดีที่มีโอกาสเดินออกกำลังได้ทุกเช้า ก็เพราะได้บริหารร่างกายด้วย ได้เห็นภูมิสถานบ้านเมืองที่ตัวเองอยู่อาศัยด้วย

บ้านผมอยู่ในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี ผมมั่นใจว่าผมรู้จักตรอกซอกซอยทุกแห่งในเขตเทศบาลดีไม่แพ้คนทำงานเทศบาล หรืออาจจะดีกว่าบางคนที่ลักษณะงานบังคับให้ต้องนั่งในสำนักงาน ไม่ได้ออกไปข้างนอก 

ทุกก้าวเดินทำให้ได้เห็นพื้นดิน เห็นต้นไม้ใบหญ้า กล่าวเป็นสำนวนก็ว่าได้เห็นทรายทุกเม็ด หญ้าทุกเส้น มดทุกตัว

ทำให้รักบ้านเมือง รักแผ่นดิน

ไม่ต้องรอโอกาสลงจากเครื่องบินแล้วก้มลงจูบพื้นคอนกรีตที่สนามบิน แล้วเผยแพร่ภาพ 

และที่วิเศษมากก็คือได้ตรวจดูสองข้างทาง เป็นโอกาสที่จะทำประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ไปในตัว 

ที่ทำเป็นประจำคือเก็บขยะและสิ่งเกะกะออกไปให้พ้นทาง

สมัยเป็นเด็ก-ผมอยู่บ้านนอกตั้งแต่เกิดจนอายุ ๑๘ จึงได้เข้ามาอยู่ในตัวเมือง-เดินตามหลังผู้ใหญ่ไปไหนๆ จะเห็นภาพหนึ่งชินตา คือผู้ใหญ่ที่เดินไปข้างหน้าจะถือมีดหรือพร้าไปด้วย ตรงไหนรกท่านก็จะใช้พร้า “หวด” ไปข้างๆ ทำให้ทางโล่ง 

“คนหลังจะได้เดินสะดวก” ท่านมักจะเปรยให้ได้ยินไปด้วย

เจอหนามไหน่สิ่งไรแตกหักตกอยู่ ก็เขี่ยก็เก็บออกให้พ้นทาง 

ผู้ใหญ่ไม่ได้สั่งสอน

แต่ท่านทำให้ดู-ซึ่งวิเศษกว่าเอ่ยปากสั่งสอน

ผมเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่สมัยนี้ไม่มีโอกาสได้เห็นบทเรียนราคาถูกๆ แต่มีค่าควรเมืองแบบนี้ 

ภาพที่เด็กสมัยใหม่ของเราได้เห็นจนชินตาก็คือการกอบโกยแก่งแย่งผลประโยชน์ใส่ตัว ไม่ใส่ใจประโยชน์ของส่วนรวมแต่อย่างใดทั้งสิ้น 

นี่ว่าถึงส่วนใหญ่นะครับ ไม่ใช่เหมาโหล เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมดีก็มี 

เมื่อถึงเวลาหนึ่งที่เหมาะสม เมล็ดพืชแห่งคุณธรรมที่ท่านหว่านลงไว้ก็งอกงามขึ้นในใจเรา

พวกเราส่วนมากเมื่อโตขึ้น ชอบทำอะไรบางอย่างก็เพราะได้แรงบันดาลใจจากภาพที่เห็นในวัยเด็ก 

……….

เดินไป เจอขยะและสิ่งเกะกะข้างทางก็จัดการไปตามควรแก่เหตุ ผมเคยคิดว่านี่ถ้าถ่ายรูปไว้แล้วเอามาโพสต์โชว์เป็นกิจวัตรประจำวันคงครึ้มดีเหมือนกัน แต่แบบนั้นไม่ใช่สเป๊กผม 

เชื่อหรือไม่ว่า “ขยะ” ที่ผมพบมากที่สุดคือถุงขนม-กินขนมหมดแล้วทิ้งถุงลงข้างทาง 

เคยอ่านความเห็นของเพื่อนในกลุ่มไลน์ มีคนหนึ่งพูดน่าคิด เขาบอกว่า มีขบวนการรณรงค์ไม่ใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว (คือที่เรียกกันว่าถุงก๊อบแก๊บหรือถุงกร๊อบแกร๊บ-สะกดอย่างไรยังไม่แน่ใจ แต่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาใช้คำว่า “ถุงพลาสติกหูหิ้ว”) ผลก็คือบรรดาร้านสะดวกซื้อทั้งหลายไม่ต้องใช้ถุงใส่สินค้าให้ลูกค้า เท่ากับเป็นการลดต้นทุน และการลดต้นทุนก็คือกำไร 

แต่น่าประหลาดที่ไม่มีใครเอ่ยถึงถุงขนมเลย

ถุงพลาสติกหูหิ้วก็คือถุงพลาสติกชนิดหนึ่ง ใช้แล้วสามารถนำกลับมาใช้ได้อีก – รณรงค์ไม่ให้ใช้

ถุงขนม ก็คือถุงพลาสติกชนิดหนึ่งเหมือนกัน แต่ใช้แล้วต้องทิ้งเลย และมีอยู่เต็มร้านสะดวกซื้อ – ไม่เคยได้ยินว่ามีใครรณรงค์ไม่ให้ใช้ และไม่มีใครเอ่ยถึงเลย

……………………………….

ตาตา  กินฺนุ  โข  อิมสฺมึ  โลเก  ทนฺธา  พหู  อุทาหุ  ปณฺฑิตาติ. 

พ่อเอย ในโลกนี้คนโง่หรือว่าคนฉลาดมีมากกว่ากัน?

ทนฺธา  อาจริย  พหู  ปณฺฑิตา  นาม  กติปยาเอว  โหนฺติ.

ท่านอาจารย์ คนโง่มีมาก คนฉลาดมีหน่อยเดียวเท่านั้นเอง

ที่มา: สัญชยวัตถุ ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๒

……………………………….

เวลาเก็บหรือจัดการสิ่งเกะกะข้างทาง ผมจะใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะสภาพแวดล้อมในเมืองไม่เหมือนบ้านนอก และคนสมัยนี้ก็คิดไม่เหมือนคนสมัยก่อน 

ดูซ้ายขวาหน้าหลัง ปลอดรถปลอดอันตรายแน่จึงทำ ผมระวังตัวมากที่จะไม่ให้พลาดพลั้งในเรื่องนี้

ถ้าเกิดรถเฉี่ยว หรือผมเกิดเป็นอะไรไป คนจะรุมกระทืบทันที

……………………………….

เขามีคนทำหน้าที่เก็บกวาดอยู่แล้ว เสือกไม่เข้าเรื่อง

ทำเป็นว่าข้านี่พลเมืองดี โธ่เอ๊ยไอ้…

แก่แล้วยังไม่เจียมตัว

แก่ไม่อยู่ส่วนแก่

โง่แล้วขยันก็งี้แหละ สมน้ำหน้า

ฯลฯ

……………………………….

รับรอง มาเป็นชุด

เดี๋ยวนี้มนุษย์ที่ถูกตั้งโปรแกรมให้คิดให้พูดให้มองแบบนี้ตลอดกาลมีเยอะมาก 

แต่มองในแง่ดีก็คือ เป็นโอกาสให้ได้ฝึกสติเพิ่มขึ้นทุกวัน

………………

นั่นเป็นเรื่องที่หนึ่งที่อยากเล่า

เรื่องที่สองก็คือ เมื่อเช้านี้ (๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๓) ผมตระเวนตามเส้นทางที่หมายใจไว้ครบแล้ว ก็แวะเข้าไปในวัดมหาธาตุ ไหว้พระแล้วขึ้นไปที่ศาลาหอฉัน 

พอดีพระกำลังฉันใกล้จะเสร็จ ผมบริจาคใส่ตู้อันเป็นกิจประจำวันประจำชีวิต เสร็จแล้วก็นั่งรอ 

ในศาลาไม่มีใคร นอกจากคนดูแลจัดภาชนะจัดสถานที่ประจำวัน 

ฉันเสร็จ พระก็ยะถาสัพพี ที่เราเรียกกันว่าอนุโมทนาหรือให้พร อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตามปกติของวัดทั่วไปในเมืองไทย 

ไม่มีโยมไม่มีใครนั่งอยู่ด้วยเลย ท่านก็อนุโมทนาตามปกติ 

วัดอื่นๆ จะทำเช่นนี้หรือเปล่า ไม่ทราบ แต่วัดมหาธาตุราชบุรียังรักษาแบบแผนธรรมเนียมเดิมนี้อยู่ 

ใครมาเห็นก็จะเข้าใจได้ทันทีเลยว่า ชาวบ้านญาติโยมสมัยก่อนใส่บาตรแล้วทำไมไม่ต้องให้พระยืนให้พรอยู่หน้าบ้าน-แบบที่ยืนให้พรข้างถนนเหมือนเดี๋ยวนี้ 

ก็เพราะเขารู้ดีว่า เมื่อพระกลับถึงวัด ฉันเสร็จท่านก็จะให้พร

เขารู้หน้าที่ รู้จังหวะเวลา รู้ว่าอะไรทำตอนไหน และเขารอได้

เมื่อก่อนเหมือนบริจาคเงินแล้วส่งอนุโมทนาบัตรตามหลังไปให้ที่บ้าน

เดี๋ยวนี้ใส่บาตรแล้วต้องขอรับพรทันที 

เหมือนบริจาคแล้วต้องได้รับอนุโมทนาบัตรตรงนั้นทันที รอไม่ได้ 

พระเดี๋ยวนี้ฉันเสร็จแล้วจะไม่อนุโมทนาเหมือนพระสมัยก่อนก็ได้ อ้างว่าอนุโมทนาไปแล้วตอนโยมใส่บาตร

ต่อไปธรรมเนียมอนุโมทนายะถาสัพพีเมื่อฉันเสร็จก็คงสูญ

นึกกันมั่งไหมครับว่า ความที่ใส่บาตรแล้วใจร้อน อยากได้พรกันสดๆ ตรงนั้นเลยจะมีผลอะไรตามมาในระยะยาว

หรือว่า-ตามเคย … พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น …

เล่าให้ฟังเฉยๆ ไม่ได้คัดค้านใคร ใครพอใจอย่างไรก็เชิญตามอัธยาศัย 

ข้อคิดของผมก็แค่- ศึกษาเรียนรู้แบบธรรมเนียมเดิมกันไว้เป็นพื้นฐาน แล้วเราจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรอย่างมีหลักมีเกณฑ์ ไม่ใช่เอาใจชอบเป็นเกณฑ์อย่างที่นิยมทำกันอยู่ทุกวันนี้

แต่ท่านผู้ใดจะท่องคาถา … พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น …ก็ไม่ว่ากันนะครับ เชิญตามอัธยาศัยเช่นกัน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๓

๑๕:๔๖

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *