บาลีวันละคำ

โอชารส (บาลีวันละคำ 3,002)

โอชารส

คำที่ยังไม่ปรากฏในพจนานุกรม

อ่านว่า โอ-ชา-รด

ประกอบด้วยคำว่า โอชา + รส

(๑) “โอชา

อ่านว่า โอ-ชา ในภาษาบาลีมี 2 คำ คือ “โอช” (โอ-ชะ) และ “โอชา” (โอ-ชา)

(ก) “โอช” รากศัพท์มาจาก โอชฺ (ธาตุ = กำลัง, เดช) + (อะ) ปัจจัย

: โอชฺ + = โอช แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่มีกำลัง

(ข) “โอชา” รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ นฺ ที่สุดธาตุ, แผลง อุ เป็น โอ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: อุ + ชนฺ = อุชนฺ + กฺวิ = อุชนกฺวิ > อุชน > อุช > โอช + อา = โอชา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยังรูปให้เกิดต่อจากการเกิดขึ้นของตน

โอช” หรือ “โอชา” หมายถึง กำลัง, แต่ใช้เฉพาะในความหมายว่า การบำรุงกำลัง, ความสำคัญในทางหล่อเลี้ยงเพื่อบำรุงกำลัง [ใช้สำหรับอาหาร] (strength, but only in meaning of strength-giving, nutritive essence [appld. to food])

บาลี “โอช” และ “โอชา” สันสกฤตเป็น “โอช” และ “โอชสฺ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

โอช, โอชสฺ : (คำนาม) อาภา, ประภา; ประกาศน์; รูป; กำลัง; อุปการะ; เงาธาตุ, ธาตุรูปประภา; ปราณศักติ์; บุรุษัตว์, ชนกศักติ์; อย่างเรี่ยม, อย่างหรู, ภาษาสรณิอันอุดมด้วยสมาส; light, splendour, manifestation; appearance; strength; support; metallic lustre; vitality; virility, the generative faculty; elaborate style, style abounding in compounds.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โอชะ, โอชา : (คำวิเศษณ์) มีรสดี, อร่อย. (คำนาม) รสที่ซึมซาบ, เครื่องหรือสิ่งบํารุงเลี้ยงให้เกิดความเจริญงอกงาม. (ป.).”

(๒) “รส

บาลีอ่านว่า ระ-สะ รากศัพท์มาจาก –

(1) รสฺ (ธาตุ = ยินดี; ติดใจ, เยื่อใย) + ปัจจัย

: รสฺ + = รส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นที่ยินดีแห่งเหล่าสัตว์” (2) “สิ่งอันเหล่าสัตว์ติดใจ” “สิ่งเป็นเหตุติดใจ

(2) (แทนศัพท์ “รม” = พอใจ) + อสฺ (ธาตุ = กิน) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ

: + อสฺ = รส + กฺวิ = รสกฺวิ > รส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่สัตว์พอใจกิน

รส” ในบาลีใช้ในความหมายหลายหลากมากกว่าที่เรารู้กันในภาษาไทย พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ รวบรวมไว้ดังนี้ –

(1) juice (น้ำผลไม้)

(2) taste as [objective] quality, the sense-object of taste (รสในฐานเป็นคุณลักษณะ [เชิงวัตถุวิสัย], รสายตนะ)

(3) sense of taste, as quality & personal accomplishment (ความรู้สึกเกี่ยวกับรสในฐานเป็นใหญ่ และความสำเร็จส่วนตน)

(4) object or act of enjoyment, sensual stimulus, material enjoyment, pleasure (วัตถุ หรือสิ่งเร้าเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน, สิ่งกระตุ้นทางอารมณ์, ความเพลิดเพลินทางวัตถุ, สุขารมณ์)

(5) flavour and its substance or substratum (รสและสาระของรส หรือสิ่งที่ประกอบขึ้นมาเป็นรส)

(6) essential property, elegance, brightness (สมบัติอันเป็นสาระสำคัญ, ความสง่างาม, ความเจิดจ้า)

(7) essential property [in philosophy] (สมบัติอันเป็นสาระสำคัญ [คำเฉพาะในทางปรัชญา])

(8) fine substance, semi-solid semiliquid substance, extract, delicacy, fineness, dust (สิ่งของที่ละเอียดอ่อน, สิ่งของครึ่งแข็งครึ่งเหลว, สิ่งที่กลั่นออกจากของอื่น, ของที่แบบบาง, ความละเอียด, ละออง)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

รส : (คำนาม) สิ่งที่รู้ได้ด้วยลิ้น เช่น เปรี้ยว หวาน เค็ม ฝาด, โดยปริยายหมายถึง ความไพเราะ เช่น กลอนบทนี้ไม่มีรส. (ป., ส.).”

โอชา + รส = โอชารส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีรสเป็นเครื่องบำรุงเลี้ยง” เข้าใจกันในความหมายว่า สิ่งที่มีรสอร่อย ถ้าหมายถึงอาหาร ก็คืออาหารที่มีรสอร่อย

โอชารส” เป็นคำที่นิยมพูดกันในภาษาไทย แต่คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ภาษาบาลี คำว่า “โอชา” มี คำว่า “รส” ก็มี แต่ โอชา + รส = โอชารส ยังไม่พบในคัมภีร์

คำบางคำแทบจะไม่มีใครรู้จักและไม่มีใครพูด แต่มีเก็บไว้ในพจนานุกรม คำบางคำมีคนรู้จักและพูดกันทั่วไป แต่ไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรม นับเป็นเรื่องชอบกลอย่างหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อาหารที่ไร้โอชารส แม้ผู้ปรุงเองก็ยังไม่ปรารถนาจะบริโภค

: วาจาอันหยาบกระด้าง ผู้พูดเองยังปรารถนาจะฟังละหรือ

#บาลีวันละคำ (3,002)

31-8-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย