โรคศิลปะ (บาลีวันละคำ 1,867)
โรคศิลปะ
ไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร
อ่านตามพจนานุกรมฯ ว่า โรก-สิน-ละ-ปะ
แยกศัพท์เป็น โรค + ศิลปะ
(๑) “โรค”
บาลีอ่านว่า โร-คะ รากศัพท์มาจาก รุชฺ (ธาตุ = เสียดแทง, ทำลาย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ รุ-(ชฺ) เป็น โอ (รุชฺ > โรช), แปลง ชฺ เป็น ค
: รุชฺ + ณ = รุชณ > รุช > โรช > โรค แปลตามศัพท์ว่า (1) “อาการที่เสียดแทง” (2) “อาการที่ทำลายอวัยวะน้อยใหญ่” หมายถึง ความเจ็บป่วย, ความไข้ (illness, disease)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โรค, โรค– : (คำนาม) ภาวะที่ร่างกายทํางานได้ไม่เป็นปรกติเนื่องจากเชื้อโรคเป็นต้น. (ป., ส.).”
(๒) “ศิลปะ”
เป็นรูปคำสันสกฤต “ศิลฺป” บาลีเป็น “สิปฺป” (สิบ-ปะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) สปฺปฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ ปัจจัย, ลง อิ อาคมต้นธาตุ (สปฺป > สิปฺป)
: สปฺป > สิปฺป + อ = สิปฺป แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องดำเนินไปแห่งชีวิต” = อาศัย “สิ่งนั้น” จึงเลี้ยงชีวิต คือทำชีวิตให้ดำเนินไปได้
(2) สิ (ธาตุ = เสพ) + ป ปัจจัย, ซ้อน ปฺ
: สิ + ปฺ + ป = สิปฺป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้ปรารถนาประโยชน์แห่งตนเสพอาศัย” = ถ้าต้องการประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ต้องอาศัยศึกษาเรียนรู้ “สิ่งนั้น” จนทำได้ทำเป็น แล้วใช้สิ่งนั้นยังประโยชน์ให้เกิดตามต้องการ
“สิปฺป” หมายถึง ศิลปะ, แขนงของความรู้, การช่าง (art, branch of knowledge, craft)
สิปฺป ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น ศิลป
(ก) คำนี้ถ้าอยู่คำเดียว หรือสมาสคำอื่นอยู่ท้ายคำ
– ต้องการให้อ่านว่า สิน-ละ-ปะ เขียนว่า “ศิลปะ” (ประวิสรรชนีย์ที่ ป)
– ต้องการให้อ่านว่า สิน เขียนว่า “ศิลป์” (การันต์ที่ ป)
– เขียนว่า “ศิลป” จะอ่านว่า สิน-ละ-ปะ ไม่ได้ อ่านว่า สิน ก็ไม่ได้
(ข) ถ้าสมาสกับคำอื่น อยู่ต้นหรือกลางคำ และอ่านว่า สิน-ละ-ปะ ไม่ต้องประวิสรรชนีย์ที่ ป เช่น ศิลปศาสตร์ (สิน-ละ-ปะ-สาด) ไม่ใช่ ศิลปะศาสตร์
คำว่า สิปฺป > ศิลป หมายถึงอะไรได้บ้าง :
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สิปฺป” คำหนึ่งว่า art
พจนานุกรมสอ เสถบุตร แปล art ว่า วุฒิสามารถ, เล่ห์กระเทห์, อุบาย
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล art กลับเป็นบาลีว่า –
(1) sippa สิปฺป (สิบ-ปะ) = หลักความรู้
(2) kosalla โกสลฺล (โก-สัน-ละ) = ความฉลาด
(3) nepuñña เนปุญฺญ (เน-ปุน-ยะ) = ความจัดเจน
(4) cittakamma จิตฺตกมฺม (จิด-ตะ-กำ-มะ) = ภาพวาด, การวาดภาพ
(5) kalā กลา (กะ-ลา) = ชั้นเชิง > กล
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศิลป-, ศิลป์ ๑, ศิลปะ : (คำนาม) ฝีมือ, ฝีมือทางการช่าง, การทำให้วิจิตรพิสดาร, เช่น เขาทำดอกไม้ประดิดประดอยอย่างมีศิลปะ ผู้หญิงสมัยนี้มีศิลปะในการแต่งตัว รูปสลักวีนัสเป็นรูปศิลป์; การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์ด้วยสื่อต่าง ๆ อย่างเสียง เส้น สี ผิว รูปทรง เป็นต้น เช่น ศิลปะการดนตรี ศิลปะการวาดภาพ ศิลปะการละคร วิจิตรศิลป์. (ส. ศิลฺป; ป. สิปฺป ว่า มีฝีมืออย่างยอดเยี่ยม).”
โรค + สิปฺป = โรคสิปฺป > โรคศิลปะ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โรคศิลปะ : (คำนาม) การปฏิบัติเพื่อรักษาโรค.”
ขยายความ :
ความหมายที่ถูกต้องของคำว่า สิปฺป > ศิลปะ ก็คือ ความสามารถถึงขั้นปฏิบัติการได้เป็นอย่างดีในเรื่องนั้นๆ เช่น
– ปฏิบัติการได้เป็นอย่างดีในการทำอาหาร ถึงขั้นทำเลี้ยงแขกได้เป็นร้อยเป็นพัน ก็เรียกว่า ผู้มีศิลปะในการทำอาหาร (ที่นิยมเรียกเป็นคำฝรั่งว่า chef)
-ปฏิบัติการได้เป็นอย่างดีในเรื่องโรค ไม่ว่าจะเป็นการตรวจอาการ การวินิจฉัย ตลอดจนการลงมือรักษา ก็เรียกว่า มีศิลปะในเรื่องโรค หรือเรียกเป็นศัพท์ว่า “โรคศิลปะ”
…………..
อภิปราย :
ในพจนานุกรมฯ มีคำว่า “เภสัชกร” บอกไว้ดังนี้ –
“เภสัชกร : (คำนาม) แพทย์ปรุงยา, ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาเภสัชกรรม.”
ทำให้ได้ความรู้ว่า ยังมีคำว่า “ผู้ประกอบโรคศิลปะ” อีกด้วย
ในพจนานุกรมมีคำว่า “ผู้ประกอบการ” และ “ผู้ประกอบธุรกิจ” แต่ไม่มีคำว่า “ผู้ประกอบโรคศิลปะ”
“โรคศิลปะ” อ่านตามหลักภาษาว่า โร-คะ-สิน-ละ-ปะ หรือ โรก-คะ-สิน-ละ-ปะ
ถ้าเขียน “โรคศิลป์” (การันต์ที่ ป) อ่านตามหลักภาษาว่า โร-คะ-สิน หรือ โรก-คะ-สิน หรือถ้าไม่สะดวกปาก จะอ่านว่า โรก-สิน ก็คงได้ แต่ก็จะเพิ่มจำนวนคำที่อ่านผิดจนถูกให้มากขึ้นอีกคำหนึ่ง
คำว่า “โรคศิลป์” เคยได้ยินมีผู้พูดว่า โรก-สิน เช่นเรียกใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะว่า ใบ-ประ-กอบ-โรก-สิน (ใบประกอบโรคศิลป์)
ในพจนานุกรมมีคำว่า “ใบอนุญาตขับขี่” แต่ไม่มีคำว่า “ใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ” หรือ “ใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์”
อนึ่ง โปรดทราบว่า คำว่า “โรคศิลป์” ก็ไม่มีในพจนานุกรมฯ เช่นกัน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: โรคจนรักษาได้ด้วยการรู้จักพอ
: ไม่ต้องรอใบประกอบโรคศิลปะ
20-7-60