บาลีวันละคำ

ขาณุวรลักษบุรี (บาลีวันละคำ 3,006)

ขาณุวรลักษบุรี

ชื่อดีของเมืองแสนตอ

อ่านว่า ขา-นุ-วอ-ระ-ลัก-สะ-บุ-รี

ประกอบด้วยคำว่า ขาณุ + วร + ลักษ + บุรี

(๑) “ขาณุ

อ่านว่า ขา-นุ รากศัพท์มาจาก ขนฺ (ธาตุ = ขุด) + ณุ ปัจจัย, ลบ นฺ ที่สุดธาตุ (ขนฺ > ), ทีฆะ อะ ที่ -(นฺ) เป็น อา (ขนฺ > ขาน)

: ขนฺ + ณุ = ขนณุ > ขณุ > ขาณุ (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาขุดออก” “สิ่งที่ต้องขุดออก” หมายถึง ตอไม้, ไม้หมุดหรือเข็มที่ตอกลงไปในดิน (a stump [of a tree], a stake)

คำว่า “ขาณุ” (-ณุ ณ เณร) นี้ บางทีสะกดเป็น “ขานุ” (-นุ น หนู)

(๒) “วร

บาลีอ่านว่า วะ-ระ รากศัพท์มาจาก วรฺ (ธาต = ปรารถนา) + (อะ) ปัจจัย

: วรฺ + = วร แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันบุคคลปรารถนา” เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า ประเสริฐ, วิเศษ, เลิศ, อริยะ (excellent, splendid, best, noble) เป็นคำนาม (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) แปลว่า ความปรารถนา, พร, ความกรุณา (wish, boon, favour)

ในภาษาไทย “วร” คงใช้เป็น “วร” ก็มี แปลง เป็น ตามหลักนิยมของไทยเป็น “พร” ก็มี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “วร” และ “พร” บอกไว้ว่า –

(1) วร– [วะระ-, วอระ-] : (คำนาม) พร; ของขวัญ. (คำวิเศษณ์) ยอดเยี่ยม, ประเสริฐ, เลิศ. (ป., ส.).

(2) พร [พอน] : (คำนาม) คําแสดงความปรารถนาให้ประสบสิ่งที่เป็นสิริมงคล เช่น ให้พร ถวายพระพร, สิ่งที่ขอเลือกเอาตามประสงค์ เช่น ขอพร. (ป. วร).

ในที่นี้ “วร” หมายถึง ยอดเยี่ยม, ประเสริฐ, เลิศ

(๓) “ลักษ

บาลีเป็น “ลกฺข” (ลัก-ขะ) รากศัพท์มาจาก ลกฺขฺ (ธาตุ = กำหนด) + (อะ) ปัจจัย

: ลกฺขฺ + = ลกฺข (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งอันเขากำหนดไว้เพื่อยิง” (2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาใช้กำหนดหมาย

ลกฺข” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เครื่องหมาย (a mark)

(2) เป้า (a target)

(3) เงินเดิมพันในการพนัน (a stake at gambling)

(4) จำนวนสูง, แสน (a high numeral, a lac or 100,000)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ลักขะ : (คำนาม) เครื่องหมาย, เป้า; จํานวนแสนหนึ่ง. (ป.; ส. ลกฺษ).”

ในที่นี้ “ลักข” หมายถึง จํานวนแสนหนึ่ง และใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ลักษ

(๔) “บุรี

บาลีเป็น “ปุรี” รากศัพท์มาจาก ปุร + อี ปัจจัย

(ก) “ปุร” (ปุ-ระ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ปุ (ธาตุ = รักษา) + ปัจจัย

: ปุ + = ปุร แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่รักษาประชาชนจากอำนาจของศัตรู

(2) ปุรฺ (ธาตุ = รักษา) + (อะ) ปัจจัย

: ปุรฺ + = ปุร แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่รักษาประชาชน

ปุร” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้

(1) เมือง, ป้อม, บุรี (a town, fortress, city)

(2) ที่อยู่อาศัย, บ้านหรือส่วนที่แยกกันของบ้าน (dwelling, house or divided part of a house)

ความหมายในข้อ (2) นี้ เช่นในคำว่า “อนฺเตปุร” หมายถึง ห้องของสตรี, ที่อยู่ของสนมกำนัล, สำนักนางใน (lady’s room, harem)

(3) ร่างกาย (the body)

(ข) ปุร + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ปุร + อี = ปุรี (ปุ-รี) มีความหมายเท่ากับ “ปุร

ปุรี” ภาษาไทยใช้เป็น “บุรี” (บาลี ปลา, ภาษาไทย ใบไม้)

การประสมคำ :

ขาณุ + วร = ขาณุวร แปลว่า “ตอไม้อันประเสริฐ

โปรดสังเกต “ขาณุวร” คำขยายอยู่หลังคำที่ถูกขยาย

เรารู้กันว่า ในภาษาบาลี คำขยายอยู่หน้าคำนามที่ถูกขยาย แต่หลักที่คนส่วนมากไม่รู้ก็คือ คำขยายในภาษาบาลีที่อยู่หลังคำที่ถูกขยาย (ตรงกันข้ามกับที่เข้าใจกัน) ก็มี โดยเฉพาะคำว่า “วร” ที่อยู่หลังคำที่ถูกขยายก็อย่างเช่น –

ชินวร = พระชินเจ้าผู้ประเสริฐ เป็นคำที่ใช้เรียกพระพุทธเจ้า (the noble victor) คำนี้คือที่เราใช้ในภาษาไทยและอ่านว่า ชิน-นะ-วอน

ธมฺมวร = ธรรมอันประเสริฐ (the best norm)

นครวร = อริยนคร (the noble city)

รตนวร = แก้วอันเลิศ (the best of gems)

ราชวร = พระราชาที่มีพระนามกระเดื่อง (famous king)

ลักษณะเช่นนี้ภาษาไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “วิเสสนุตรบท” = บทที่มีคำขยายอยู่หลัง โดยเฉพาะบทที่มีคำว่า “วร” เป็นคำขยายอยู่หลังเช่นนี้จะพบได้ทั่วไปในคัมภีร์บาลี

วร” ที่ขยาย “ขาณุ” ในที่นี้เป็นเพียงลีลาหรือความไพเราะของถ้อยคำเท่านั้น มิได้มีเจตนาจะเน้นว่า มี “ตอ” ที่ “ประเสริฐ” อยู่จริง

ขาณุวร + ลักษ = ขาณุวรลักษ แปลว่า “ตอที่ประเสริฐจำนวนแสน” > แสนตอ

ขาณุวรลักษ + บุรี = ขาณุวรลักษบุรี แปลเอาความว่า “เมืองที่มีตอนับแสน” > เมืองแสนตอ

ชื่อ “ขาณุวรลักษบุรี” นี้ คนในพื้นที่มักเรียกสั้นๆ ว่า “ขาณุ” ก็เป็นที่รู้กัน

คำว่า “ลักษ” ในชื่อ “ขาณุวรลักษบุรี” นี้ ถ้าฟังแต่เสียงและมองเผินๆ เพลินๆ ไป คนมักเข้าใจผิดคิดว่าเป็น “ลักษณ” เมื่อออกเสียง “ลัก” บางคนก็เลยสะกดเป็น “ขาณุวรลักษณ์บุรี

ลักษ” (ลัก-สะ) ไม่ใช่ “ลักษณ” เป็นคนละคำคนละความหมายกัน

ลักษ” แปลว่า “แสน” หมายถึง จำนวนแสน คือเอาชื่อ “แสนตอ” มาแปลงเป็นคำบาลีว่า “ขาณุวรลักษ

ขยายความ :

…………..

ขาณุวรลักษบุรี : อำเภอ ขึ้น จ.กำแพงเพชร ละติจูด ๑๖^0 ๐๓’.๖ เหนือ ลองจิจูด ๙๙^0 ๕๑’. ๗ ตะวันออก ตั้งที่ว่าการที่ ต.แสนตอ บนฝั่งขวาของแม่น้ำปิง ทิศเหนือ ติดต่อกับ อ.คลองขลุง และ อ.บึงสามัคคี ทิศตะวันออกติดต่อกับ อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ทิศใต้ติดต่อกับ อ.ลาดยาว และ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ทิศตะวันตกติดต่อกับ อ.ปางศิลาทอง

การคมนาคมจากเมืองไปอำเภอโดยทางหลวงหมายเลข ๑๐๘๔ ระยะทาง ๖๓ กม. แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๐๗๔ ระยะทางอีก ๒ กม. รวมระยะทาง ๖๕ กม.

อำเภอนี้เดิมเป็นเมืองเรียกว่า เมืองขาณุ เคยเป็นยุทธภูมิสำคัญในสงครามไทย-พม่าสมัยธนบุรี ยุบเป็น อ.ขาณุ เมื่อจัดการปกครองท้องที่เป็นอำเภอ ต่อมาลดฐานะเป็นกิ่งอำเภอ เรียก อ.แสนตอ ตามชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๓ เปลี่ยนชื่อว่า อ.ขาณุวรลักษบุรี ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๐ ยกฐานะเป็นอำเภอตามเดิม

อ.ขาณุวรลักษบุรี มี ๑๑ ตำบล คือ ๑. แสนตอ ๒. เกาะตาล ๓. โค้งไผ่ ๔. ดอนแตง ๕. บ่อถ้ำ ๖. ปางมะค่า ๗. ป่าพุทรา ๘. ยางสูง ๙. วังชะพลู ๑๐. วังหามแห ๑๑. สลกบาตร

ที่มา: อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนเปลี่ยนชื่อได้

: แต่ชื่อเปลี่ยนคนไม่ได้

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

#บาลีวันละคำ (3,006)

4-9-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย