บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

โปรดถามใจตัวเอง

โปรดถามใจตัวเอง

——————–

เคยได้ยินชื่อ “สุภาษิตอิศรญาณ” หรือไม่?

“สุภาษิตอิศรญาณ” คืออะไร 

โปรดอ่านคำอธิบายต่อไปนี้ 

………………….

คำอธิบาย

เรื่องสุภาษิตอิศรญาณ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เพลงยาวเจ้าอิศรญาณ” เป็นผลงานพระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าอิศรญาณ ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศ ซึ่งทรงนิพนธ์แต่ครั้งยังทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศ ได้พระนามฉายาว่า อิสสรญาโณ มีเรื่องเล่ากันมาว่า เจ้าอิศรญาณนั้นจริตไม่สู้ปรกติ ด้วยเหตุที่ครั้งหนึ่งกระทำการขัดพระราชอัธยาศัย จนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตรัสประภาษว่าบ้า และดูเหมือนผู้อื่นจะแสดงอาการเห็นตามด้วย เจ้าอิศรญาณน้อยใจจึงแต่งเพลงยาวฉบับนี้ จากข้อความที่คมคายมีชั้นเชิงอย่างสุภาษิตสอนใจ เป็นข้อพิสูจน์ว่ามิได้เสียจริต และอาจเป็นเพราะทรงพระนิพนธ์ด้วยความน้อยเนื้อตํ่าใจ จึงมีถ้อยคำที่มีความหมายแอบแฝงอยู่ในบทเพลงยาวนั้นด้วย ผลงานของท่านจึงได้รับความนิยมกันแพร่หลาย เช่นที่ว่า “ชายข้าวเปลือกหญิงข้าวสารโบราณว่า นํ้าพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย เราก็จิตคิดดูเล่าเขาก็ใจ รักกันไว้ดีกว่าชังระวังการ”

ที่มา: ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ

………………….

สุภาษิตอิศรญาณนี้มีหลายตอนหลายท่อนหลายข้อหลายบท มีผู้นิยมยกข้อนั้นข้อนี้ไปอ้าง คือเอาไปพูดต่อๆ กันไปอย่างแพร่หลาย 

แต่ถ้าใครอ่านอย่างพินิจก็จะสังเกตเห็นว่า ถ้อยคำสำนวนที่ยกไปอ้างนั้นมักจะผิดเพี้ยนจากต้นฉบับ 

ยกตัวอย่างเช่น ต้นฉบับว่า 

………………….

อันเสาหินแปดศอกตอกเป็นหลัก

ไปมาผลักบ่อยเข้าเสายังไหว

………………….

เอาไปพูดกันว่า –

………………….

เสาศิลาแปดศอกตอกเป็นหลัก

เอามือผลักบ่อยเข้าเสายังไหว

………………….

และที่กลายเป็นสำนวนไปแล้วก็มี เช่น

ต้นฉบับว่า —

เดินตามรอยผู้ใหญ่หมาไม่กัด

เอาไปพูดกันว่า —

เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด 

ผิดเพี้ยนกันแค่คำสองคำ เป็นเรื่องใหญ่โตเชียวหรือ?

อันนี้ก็แล้วแต่ว่าใครจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์มาตรฐานว่าแค่ไหนอย่างไรเรียกว่าใหญ่โตหรือไม่ใหญ่โต

แต่หลักการก็คือ ต้นฉบับว่าอย่างไร ควรจะต้องว่าไปตามต้นฉบับ 

หรือตั้งเป็นคำถามว่า-

ก็แล้วจะพูดให้มันผิดเพี้ยนจากต้นฉบับไปทำไมกันเล่า 

พูดให้ตรงตามต้นฉบับไม่ได้หรือ 

ต้นฉบับไม่ดีกระนั้นหรือจึงต้องแก้ไขให้ผิดเพี้ยนไปเช่นนั้น 

แต่อันที่จริงเราอาจเดาสาเหตุอันเป็นความจริงได้ไม่ยาก นั่นก็คือ 

๑ เพราะความไม่ระมัดระวัง ไม่รอบคอบ หรือมักง่าย หรือชุ่ยนั่นเอง

อ่านต้นฉบับแล้ว เอาไปอ้างให้ตรงตามนั้น 

ทำไมจะทำไม่ได้

๒ เพราะไม่มีอุตสาหะที่จะศึกษาตรวจสอบเทียบทานไปให้ถึงต้นฉบับ ซึ่งก็สรุปลงในคำว่า ขี้เกียจ หรือชุ่ยอีกนั่นเอง

ถ้าไม่มั่นใจว่าจะตรงตามต้นฉบับหรือไม่ ก็อย่าเอาไปอ้างต่อ อย่าเอาไปพูดต่อ ถ้าอยากจะเอาไปพูดต่อหรือจำเป็นจะต้องเอาไปอ้างต่อ ก็ลงทุนศึกษาตรวจสอบให้แน่ใจเสียก่อน 

แบบนี้ทำไมจะทำไม่ได้

สังเกตเห็นว่า เวลานี้คนเป็นโรคขี้เกียจ มักง่าย และชุ่ยกันมากขึ้น

………………….

อ่าน “สุภาษิตอิศรญาณ” ฉบับที่ถูกต้องตรงตามต้นฉบับได้ที่ –

https://vajirayana.org/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%93

………………….

การไม่ศึกษาตรวจสอบไปให้ถึงต้นเดิมนี้ เวลานี้แม้ในวงการพระศาสนาก็มีมากขึ้น 

ยกข้อธรรมนั่นนี่โน่นขึ้นมาอ้าง ผิดบ้าง คลาดเคลื่อนบ้าง อ้างแล้วอ้างเลย ปล่อยตามเลย ผิดถูกไม่เหลียวกลับมาดู

ยังไม่รวมประเภท-อ้างหลักธรรม แต่ใส่ชื่อครูบาอาจารย์ ไม่ใส่ชื่อพระพุทธเจ้า

แต่เอาเถอะ ครูบาอาจารย์ใคร ใครก็นับถือ อยากเชิดชูคำพูดของท่าน อันนี้ไม่ว่ากัน 

เพียงแต่ขอให้ระลึกถึงหลักความจริงว่า พระพุทธศาสนาคือหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ ครูบาอาจารย์ไม่ได้ตรัสรู้ขึ้นมาเอง ท่านก็ไปเอามาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น เราจึงควรมีอุตสาหะช่วยกันศึกษาสอบสวนไปให้ถึงต้นเดิมว่า ที่ครูบาอาจารย์สอนอย่างนี้พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างไร ตรงกันหรือต่างกัน 

ทุกวันนี้จบแค่ครูบาอาจารย์ของใครของมัน ไปไม่ถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธศาสนาในบ้านเราจึงขาดเอกภาพ

อุปมาเหมือน-พอใจอยู่ที่ … 

เสาศิลาแปดศอกตอกเป็นหลัก

เอามือผลักบ่อยเข้าเสายังไหว

….

ต้นฉบับเดิมจะว่าอย่างไรก็ว่าไปเถิด ไม่สน ฉันพอใจแค่นี้

ฝ่ายท่านที่พอใจทางประนีประนอมก็จะออกมาบอกว่า จะเป็น “เสาศิลาแปดศอก” หรือ “เสาหินแปดศอก” มันก็ความหมายเดียวกันนั่นแหละ ต่างกันแต่ถ้อยคำเล็กๆ น้อยๆ จะมาเคร่งครัดอะไรกันนักหนา 

ฟังแล้วคิดอย่างไร?

คงมีคนเห็นด้วยเยอะ เออนะ จริงด้วย จะมาเคร่งครัดอะไรกันนักหนา

ถ้าวิธีการให้เหตุผลแบบนี้ถูกต้อง ต้นฉบับ “อันเสาหินแปดศอกตอกเป็นหลัก” ก็ไม่มีความหมายอะไร ไม่จำเป็นต้องรักษาไว้ ปล่อยให้สูญไปเสียก็ได้ มีไว้ก็เกะกะ 

นานไป นานไป …

“เสาศิลาแปดศอกตอกเป็นหลัก” 

อาจกลายเป็น “เถาเพกาแปดดอกออกเป็นฝัก” 

ถึงตอนนั้น เราจะทิ้ง “เสาศิลาแปดศอกตอกเป็นหลัก” เสียอีกก็ยังได้ เหมือนกับที่เคยทิ้ง “อันเสาหินแปดศอกตอกเป็นหลัก” นั่นเอง

ถ้าเราใช้หลักการแบบเดียวกันนี้กับคำสอนในพระพุทธศาสนา ต่อไปในอนาคตพระพุทธศาสนาจะเหลืออะไร?

เวลานี้มีแนวคิดเย้ยหยันพระพุทธศาสนาเถรวาทว่าเป็น “พระพุทธศาสนาแช่แข็ง” ในความหมายที่ว่า-ไม่ยอมแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักคำสอน จึงไม่ทันสมัย ไม่ทันโลก 

ฟังแล้วคิดอย่างไร?

ร่องรอยของแนวคิดนี้มีมาตั้งแต่ปลายสมัยพุทธกาล

โปรดศึกษาคัมภีร์จุลวรรค ภาค ๒ พระวินัยปิฎก ตอนปัญจสติกขันธกะ พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๖๒๐ – มีข้อความดังนี้:-

…………………

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้ชี้แจงต่อพระเถระทั้งหลายว่า ท่านเจ้าข้า เมื่อจวนจะปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะข้าพเจ้าว่า ดูก่อนอานนท์ เมื่อเราล่วงไป สงฆ์หวังอยู่ จะพึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียก็ได้ 

พระเถระทั้งหลายถามว่า ท่านอานนท์ ท่านทูลถามพระผู้มีพระภาคหรือเปล่าว่า พระพุทธเจ้าข้า สิกขาบทเหล่าไหนเป็นสิกขาบทเล็กน้อย 

ท่านพระอานนท์ตอบว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ก็สิกขาบทเหล่าไหนเป็นสิกขาบทเล็กน้อย 

(๑) พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

(๒) พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย 

(๓) พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย 

(๔) พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย 

(๕) พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย 

(๖) พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ เว้นปาฏิเทสนียะ ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย 

…………………

ถ้าพระสงฆ์ในครั้งนั้นใช้นโยบายปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขพระธรรมวินัยให้ทันสมัยเหมือนกับทัศนะของบางกลุ่มบางสำนักในสมัยนี้ พระพุทธศาสนาจะแตกกันอย่างน้อยก็ ๖ นิกายมาตั้งแต่ พ.ศ.๓ เดือน 

แต่พระอรหันตเถระที่ประชุมทำสังคายนามีมติ “ไม่ขอใช้สิทธิ์ตามที่มีพุทธานุญาต” และลงมติว่า – 

๑ ไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่ได้ทรงบัญญัติไว้ 

๒ ไม่ถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว 

๓ สมาทานประพฤติในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว 

ซึ่งมตินี้สอดคล้องกับหลัก “ภิกขุอปริหานิยธรรม” ข้อ ๓ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า –

…………………

ยาวกีวญฺจ  ภิกฺขเว  ภิกฺขู  อปญฺญตฺตํ  น  ปญฺญเปสฺสนฺติ  ปญฺญตฺตํ  น  สมุจฺฉินฺทิสฺสนฺติ  ยถาปญฺญตฺเตสุ  สิกฺขาปเทสุ  สมาทาย  วตฺติสฺสนฺติ  วุฑฺฒิเยว  ภิกฺขเว  ภิกฺขูนํ  ปาฏิกงฺขา  โน  ปริหานิ. 

ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย 

ภิกฺขู  อปญฺญตฺตํ  น  ปญฺญเปสฺสนฺติ 

ภิกษุทั้งหลายจักไม่บัญญัติสิ่งที่ตถาคตมิได้บัญญัติไว้ 

ปญฺญตฺตํ  น  สมุจฺฉินฺทิสฺสนฺติ 

จักไม่เพิกถอนสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้แล้ว 

ยถาปญฺญตฺเตสุ  สิกฺขาปเทสุ  สมาทาย  วตฺติสฺสนฺติ 

จักสมาทานประพฤติอยู่ในสิกขาบทั้งหลายตามที่ตถาคตบัญญัติไว้แล้ว 

ยาวกีวญฺจ 

ตลอดกาลเพียงไร 

ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย 

วุฑฺฒิเยว  ภิกฺขูนํ  ปาฏิกงฺขา 

ภิกษุทั้งหลายพึงหวังความเจริญอย่างเดียว 

โน  ปริหานิ.

หาความเสื่อมมิได้ (ตลอดกาลเพียงนั้น)

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร

ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๗๐ 

…………………

สิ่งที่น่ากังวลและน่ากลัวในสมัยนี้ก็คือ ผู้ที่เข้ามาอยู่ในพระพุทธศาสนาไม่ได้ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจอย่างถูกต้องถ่องแท้ หากแต่ใช้ความคิดความเชื่อความเข้าใจของตนเองนำหน้า คือเชื่อไป ประพฤติไป ทำไปตามที่ตนเองเข้าใจว่าถูกว่าดี พระธรรมวินัยบัญญัติแสดงไว้อย่างไรไม่รับรู้ 

พอดีกันกับทฤษฎีที่เริ่มจะมีผู้ชูขึ้นมาว่า-พระไตรปิฎกเป็นเอกสารโบราณ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ มีใครแทรกเสริมเติมแต่งลงไปตรงไหนบ้างก็พิสูจน์ไม่ได้ 

ผสมไปกับการขาดวิริยะอุตสาหะที่จะศึกษาสืบค้นอันเป็นสิ่งที่นอนเนื่องเป็นทุนอยู่ในนิสัย

เหล่านี้ ประมวลกันเข้าเป็นผลให้เกิดการประพฤติปฏิบัติวิปริตผิดแปลกในรูปแบบต่างๆ ที่ปรากฏตัวขึ้นในนาม “พระพุทธศาสนา” เสนอแก่ตาของสังคม

…………….

ถ้าไม่ยึดหลักเดิมไว้ให้ถูกต้องมั่นคง จะเกิดอะไรขึ้น ขอชวนให้ดูตัวอย่างดังจะกล่าวต่อไปนี้

เวลานี้พระที่เลี้ยงแม่ อุ้มแม่ กอดแม่ สังคมส่วนหนึ่งชื่นชมยินดียกย่องสรรเสริญว่าเป็นพระที่ประเสริฐ 

พระธรรมวินัยบัญญัติไว้อย่างไร ไม่รับรู้ ถือเอาความเห็นของสังคมเป็นประมาณ (ดีไม่ดีโต้แย้งหลักพระธรรมวินัยเสียด้วย เช่น อาบัติก็แค่เล็กน้อย!)

ทีนี้ดูต่อไป ต่างว่าพระภิกษุทุกวันนี้ มีเมีย มีลูก มีครอบครัว เปิดเผยออกหน้าออกตา 

เราท่านที่เป็นพวกหัวก้าวหน้าต้องการให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขพระธรรมวินัยให้ทันสมัย จะยอมรับไหมว่า-แบบนั้นท่านก็ยังเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา?

โดยเฉพาะ-บรรดาท่านที่รังเกียจพระพุทธศาสนาแบบแช่แข็งนั่นแหละ ลองตอบด้วยจิตสำนึกในปัจจุบันวันนี้ว่า ท่านจะยอมรับหรือไม่ว่า-แบบนั้นก็ยังเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาอยู่

แน่นอน หิริโอตตัปปะและสติปัญญาที่ยังมีอยู่ในสันดานของเรา ณ วันนี้ จะบอกให้รู้ว่า-แบบนั้นไม่ใช่พระแล้ว 

แต่ท่านเชื่อหรือไม่ว่า-ในอนาคตกาลไม่นานไกล สังคมสมัยโน้นเขายอมรับว่า-แบบนั้นก็ถือว่าท่านยังเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาอยู่ 

และภิกษุชนิดนั้นย่อมดำรงอยู่ได้ด้วยเหตุผลข้อสำคัญ คือ – ก็สังคมเขายอมรับอาตมา!

ไม่ใช่พูดเอาเอง – โปรดศึกษาเรื่อง “อันตรธาน” ที่ท่านบันทึกไว้ในคัมภีร์

เหมือนกับบางเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ ที่มีพระภิกษุทำแบบนั้นแบบนี้ คนส่วนหนึ่งบอกว่าขัดหูขัดตา แต่คนอีกส่วนหนึ่งชื่นชมยินดี เป็นเหตุให้ท่านพูดได้เต็มปากว่า-ก็สังคมเขายอมรับนี่

เป็นภาพจำลองแบบเดียวกันไม่ผิด 

ถ้าไม่ถือพระธรรมวินัยเป็นหลัก และถ้ายังคิดจะปรับปรุงแก้ไขพระธรรมวินัยให้ทันสมัย ภาพทำนองนี้จะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ

…………….

ในที่สุดนี้ ผมก็ยังคงพูดคำเดิม-ขอร้องขอแรงให้เราท่านทั้งหลายมีอุตสาหะศึกษาค้นคว้าหลักพระธรรมวินัยที่ถูกต้องและตั้งเป้าหมายให้ถูกทาง 

…………….

ศึกษาค้นคว้าหลักพระธรรมวินัยเพื่อความรู้ความเข้าใจ

แล้วอัญเชิญไปปฏิบัติฝึกหัดขัดเกลาตน

แล้วเผยแผ่สู่ประชาชนให้เขาเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป

เพื่อเอาความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องมาประพฤติปฏิบัติต่อไปอีก

…………….

ถ้าวงจรนี้ยังดำเนินไปอยู่ตราบใด พระพุทธศาสนาก็จะยังดำรงอยู่เพื่อชี้ทางที่ถูกต้องแก่ชาวโลกอยู่ตราบนั้น

……………….

จะเอา “เถาเพกาแปดดอกออกเป็นฝัก” หรือว่าจะว่ายทวนน้ำกลับไปหารากเหง้าเดิม “อันเสาหินแปดศอกตอกเป็นหลัก” …

ผมตอบแทนท่านไม่ได้ 

โปรดถามใจตัวเอง

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๔ กันยายน ๒๕๖๓

๑๖:๕๔

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *