ธนกีตา (บาลีวันละคำ 3,007)
ธนกีตา
รูปงาม นามเพราะ
แต่ไม่เหมาะจะเป็นชื่อสตรี
อ่านว่า ทะ-นะ-กี-ตา
บาลีเป็น “ธนกฺกีตา” อ่านว่า ทะ-นัก-กี-ตา ประกอบด้วยคำว่า ธน + กีตา
(๑) “ธน”
บาลีอ่านว่า ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ธนฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + อ ปัจจัย
: ธนฺ + อ = ธน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้คนออกเสียงว่าเป็นของเรา” (คือแสดงความเป็นเจ้าของด้วยความชื่นชม)
(2) ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + อ ปัจจัย, แปลง ช เป็น ธ
: ชนฺ + อ = ชน > ธน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งยังภาวะคนจนให้เกิด” (คำแปลนี้ฟังเหมือนขัดแย้ง คือถ้ามี “ธน” ความจนก็จะไม่เกิด แต่มองในมุมกลับก็คือ “เพราะไม่มีสิ่งนี้ จึงทำให้มีคนจน”)
“ธน” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ทรัพย์สมบัติ, โดยปกติได้แก่ทรัพย์สินเงินทอง, ความร่ำรวย, สมบัติ (wealth, usually wealth of money, riches, treasures)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ธน, ธน– : (คำนาม) ทรัพย์สิน. (ป., ส.).”
(๒) “กีตา”
รูปคำเดิมเป็น “กีต” (กี-ตะ) รากศัพท์มาจาก กี (ธาตุ = แลกเปลี่ยนด้วยทรัพย์, ชื้อขาย) + ต ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: กี + ต = กีต แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาซื้อแล้ว” หมายถึง สิ่งที่ถูกซื้อมา (bought)
: กีต + อา = กีตา แปลตามศัพท์ว่า “(หญิง) อันเขาซื้อแล้ว”
ธน + กีตา ซ้อน กฺ = ธนกฺกีตา แปลว่า “(หญิง) อันเขาซื้อแล้วด้วยทรัพย์” หมายถึง หญิงที่ถูกซื้อมาด้วยทรัพย์ (bought for money)
“ธนกฺกีตา” (ทะ-นัก-กี-ตา) เขียนโดยอนุรูปแก่ภาษาไทยเป็น “ธนกีตา” (ทะ-นะ-กี-ตา)
ขยายความ :
ในคัมภีร์พระวินัยปิฎก ว่าด้วยอาบัติสังฆาทิเสส สิกขาบทที่ 5 (วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 431) กล่าวถึงภรรยา 10 จำพวก เรียกเป็นคำบาลีดังนี้ (คำแปลตามพระไตรปิฎกแปลฉบับหลวง)
(1) ธนกฺกีตา = ภรรยาสินไถ่
(2) ฉนฺทวาสินี = ภรรยาที่อยู่ด้วยความเต็มใจ
(3) โภควาสินี = ภรรยาที่อยู่เพราะสมบัติ
(4) ปฏวาสินี = ภรรยาที่อยู่เพราะผ้า
(5) โอทปตฺตกินี = ภรรยาที่สมรส
(6) โอภตจุมฺพฏา = ภรรยาที่ถูกปลงเทริด
(7) ทาสี จ ภริยา จ = ภรรยาที่เป็นทั้งคนใช้เป็นทั้งภรรยา
(8) กมฺมการี จ ภริยา จ = ภรรยาที่เป็นทั้งลูกจ้างทั้งเป็นภรรยา
(9) ธชาหฏา = ภรรยาเชลย
(10) มุหุตฺติกา = ภรรยาชั่วคราว
คำเรียกภรรยาในภาษาบาลีหลายคำ ถ้าเขียนเป็นคำไทยฟังดูไพเราะมาก เช่น ธนกีตา ฉันทวาสินี โภควาสินี เป็นต้น ดูเหมือนว่าเหมาะที่จะเอามาตั้งชื่อสตรี แต่ถ้าดูคำแปล อาจจะต้องคิดมากหน่อย
เช่น “ธนกีตา” ที่ยกมาเป็นบาลีวันละคำวันนี้ แปลตามศัพท์ว่า “สตรีที่ถูกซื้อมาด้วยทรัพย์”
คำแปลเช่นนี้ ในภาษาไทยชวนให้คิดว่า “สตรีที่ถูกซื้อมาด้วยทรัพย์” คือสตรีเช่นไร? คือสตรีที่ใช้เงินซื้อเอาก็ได้ใช่หรือไม่ ก็แล้วสตรีที่ใช้เงินซื้อเอาก็ได้คือสตรีเช่นไรกันเล่า? คนที่ซื้อได้ด้วยเงินคือคนเช่นไรกันเล่า?
เพราะฉะนั้น เห็นคำเพราะๆ อย่าเพิ่งหยิบเอาไปตั้งชื่อง่ายๆ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่าไว้ใจ –
: คนที่ซื้อได้ด้วยเงิน
#บาลีวันละคำ (3,007)
5-9-63