บรรณาลัย (บาลีวันละคำ 3,011)
บรรณาลัย
ไม่รู้แน่ว่าคืออะไร แต่แปลได้ตามรูปศัพท์
อ่านว่า บัน-นา-ไล
ประกอบด้วยคำว่า บรรณ + อาลัย
(๑) “บรรณ”
บาลีเป็น “ปณฺณ” (ปัน-นะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ปูร (ธาตุ = เต็ม) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง ปูร เป็น ปณฺณ
: ปูรฺ + อ = ปูร > ปณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ทำให้เต็ม” (คือทำให้ต้นไม้เต็มต้น)
(2) ปต (ธาตุ = ตกไป) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง ต เป็น ณฺณ
: ปตฺ + อ = ปต > ปณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะร่วงไปโดยไม่นาน”
(3) ปณฺณฺ (ธาตุ = เขียวสด) + อ (อะ) ปัจจัย
: ปณฺณฺ + อ = ปณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เขียวสด”
“ปณฺณ” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ใบไม้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใบพลู) (a leaf [esp. betel leaf])
(2) ใบไม้ที่ใช้เขียน, ใบไม้ที่มีหนังสือจารึกอยู่, จดหมาย; ของบริจาค, เครื่องบรรณาการ (a leaf for writing upon, written leaf, letter; donation, bequest)
(3) ขนนก, ปีกนก (a feather, wing)
ชั้นเดิมศัพท์นี้หมายถึง “ใบไม้” แต่ต่อมาความหมายขยายไปถึง “หนังสือ” อาจเป็นเพราะแต่เดิมมนุษย์ใช้ใบไม้เป็นที่ขีดเขียนลายลักษณ์ลงไป “ปณฺณ” จึงหมายถึงหนังสือไปด้วย
“ปณฺณ” ในภาษาไทยใช้เป็น “บรรณ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บรรณ, บรรณ– : (คำนาม) ปีก; หนังสือ; ใบไม้. (ส. ปรฺณ; ป. ปณฺณ).”
(๒) “อาลัย”
บาลีเป็น “อาลย” (อา-ละ-ยะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, มาก, ยิ่ง) + ลิ (ธาตุ = ติดใจ, ติดแน่น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง อิ ที่ ลิ เป็น ย (ลิ > ลย)
: อา + ลิ = อาลิ + ณ = อาลิณ > อาลิ > อาลย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ติดใจยินดีแห่งผู้คน” “สิ่งที่ใจไปติดแน่นอยู่”
นักภาษาอธิบาย “อาลย” เป็นรูปธรรมว่า เหมือน “คอน” ที่นกเกาะนอน เท้านกจะต้องยึดแน่นอยู่กับคอนนั้น มิเช่นนั้นก็ตก อาการที่จับติดแน่นไม่ยอมปล่อยนั่นเองคือ “อาลัย”
ตามรากศัพท์เช่นนี้ “อาลัย” ในทางรูปธรรมจึงหมายถึงสถานที่พักอาศัย, ที่อยู่, แหล่งรวมของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น –
ชลาลัย = แหล่งรวมแห่งน้ำ คือแม่น้ำ หรือทะเล
หิมาลัย = แหล่งรวมแห่งหิมะ คือภูเขาที่มีหิมะปกคลุมตลอดปี
“อาลย” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) คอนสำหรับนกหรือไก่เกาะหรือนอน (ความหมายเดิม), สถานที่พักอาศัย, บ้านเรือน (roosting place, perch, abode settling place, house)
(2) เกาะเกี่ยวอยู่, ความรักใคร่, ความต้องการ, ตัณหา, ราคะ (hanging on, attachment, desire, clinging, lust)
(3) การแสร้งทำ, มารยา, ข้อแก้ตัว (pretence, pretext, feint)
บาลี “อาลย” ภาษาไทยใช้เป็น “อาลัย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) อาลัย ๑ : (คำกริยา) ห่วงใย, พัวพัน, ระลึกถึงด้วยความเสียดาย.น. ความห่วงใย, ความพัวพัน, ความระลึกถึงด้วยความเสียดาย. (ป., ส. อาลย).
(2) อาลัย ๒ : (คำนาม) ที่อยู่, ที่พัก, เช่น ชลาลัย = ที่อยู่แห่งนํ้า หมายถึง ทะเล แม่น้ำ เป็นต้น หิมาลัย = ที่อยู่แห่งหิมะ เป็นชื่อของเทือกเขาสูงอยู่ทางทิศเหนือของอินเดีย ยอดเขามีหิมะปกคลุมตลอดปี.
ปณฺณ + อาลย = ปณฺณาลย (ปัน-นา-ละ-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “ที่อยู่ของหนังสือ” คือที่ซึ่งหนังสือมารวมกันอยู่ โดยความหมายในปัจจุบันคือ ห้องสมุด
“ปณฺณาลย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บรรณาลัย” (บัน-นาไล)
คำว่า “บรรณาลัย” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ความหมายทางโบราณคดี :
ผู้เขียนบาลีวันละคำรวบรวมข้อความที่วงการโบราณคดีกล่าวถึง “บรรณาลัย” แบบเก็บเล็กผสมน้อยไม่ปะติดปะต่อ ได้ดังต่อไปนี้
…………..
… บรรณาลัยหมายถึงสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์ต่างๆ ทางศาสนา
… อาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าสร้างด้วยศิลาแลง มีทางเข้าเฉพาะด้านหน้าเรียกว่า บรรณาลัย คือห้องสมุดที่เก็บคัมภีร์หรือหนังสือสำคัญทางศาสนา
… เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสร้างด้วยศิลาแลง ขนาด 11.60 X 7.10 เมตร ภายในไม่มีรูปเคารพ อาคารลักษณะนี้ในศิลปะเขมรเรียกว่า “บรรณาลัย” หมายถึงหอสมุดซึ่งคงเป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์ทางศาสนา
… บรรณาลัยอาจจะใช้เป็นอาคารเก็บข้าวของเครื่องใช้ในพิธีกรรม หรืออาจจะเก็บคัมภีร์สำคัญทางศาสนา ตามที่มีการกล่าวไว้ในศิลาจารึก หรือในบางครั้งอาจเป็นห้องประดิษฐานรูปเคารพรองก็เป็นได้ เนื่องจากบางองค์มีการพบรูปเคารพและฐานอยู่ภายใน
…………..
คำถาม :
“บรรณาลัย” เป็นคำที่มีบันทึกหรือจารึกไว้เป็นชื่อเช่นนี้มาแต่เดิม หรือเป็นคำที่นักโบราณคดีเรียกกันเองในภายหลัง เป็นเรื่องที่ควรศึกษาสืบค้นกันต่อไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
“บรรณาลัย” คือ “ห้องสมุด” เป็นที่ “อ่าน” แสวงหาความรู้
: ท่านมีวันนี้เพราะ “อ่านเอง” ไม่ใช่เพราะครูสอน
: ก็แล้วใครเล่าที่สอนท่านให้ “อ่านออก”?
#บาลีวันละคำ (3,011)
9-9-63