บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ช่วยกันหาความรู้นะครับ

ช่วยกันหาความรู้นะครับ 

————————-

เมื่อเช้าวานนี้ (๙ กันยายน ๒๕๖๓) ผมเดินออกกำลังไปทางโรงพยาบาลราชบุรี

โรงพยาบาลราชบุรีนี้เมื่อก่อนด้านหน้าอยู่ทางตะวันออก ถ้าอยู่หน้าโรงพยาบาล มองออกไปก็จะเห็นสถานีรถไฟอยู่ไม่ไกลนัก

ปัจจุบันโรงพยาบาลราชบุรีปรับปรุงใหม่ เปลี่ยนด้านหน้าไปอยู่ทางตะวันตก ถ้าอยู่หน้าโรงพยาบาลเดินข้ามถนนไปก็เข้าสนามกีฬาได้เลย

จากบ้านผม โรงพยาบาลอยู่ทางทิศใต้ ออกจากบ้านไปทางโรงเจประปา ผ่านหลังวัดศรีสุริยวงศาราม ผ่านโรงเจ ไปถึงแยกตระการมอเตอร์ ข้ามถนนตรงปั๊มเชลล์ ตรงนั้นเป็นทางแยก เดินไปทางซ้ายนิดเดียวแล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนซอยสนามกีฬา ถนนนี้ผ่านหลังโรงเรียนดรุณาราชบุรีก่อนถึงโรงพยาบาล+สนามกีฬา

ผมเดินฟากตะวันตก (ถนนจากเหนือไปใต้) หรือฝั่งขวา หรือฟากรถสวน ก่อนถึงหลังโรงเรียนดรุณาราชบุรีเล็กน้อยผมก็เห็นธนบัตรที่มีคนทำตกอยู่บนทางเท้า เป็นธนบัตรฉบับราคา ๒๐ และมีฉบับราคา ๕๐ บาทซ้อนอยู่ด้านใน 

ผมมองไปข้างหน้า ไม่มีใครเดินอยู่ข้างหน้า ข้างหลังไม่มีใครเดินสวนไป และบริเวณนั้นไม่มีใครอยู่ใกล้ๆ 

คนที่ทำเงินตกไว้คงไปไกลเกินกู่แล้ว 

ผมถือธนบัตร ๒ ฉบับนั้นไป (ไม่ได้เอาใส่กระเป๋า) พอถึงประตูเข้าโรงพยาบาลผมก็ข้ามถนน เข้าไปในบริเวณโรงพยาบาล ผ่านหน้าอาคารอำนวยการไปที่หอพระ 

เดินออกกำลังมาทางนี้ผมจะเข้าไปไหว้พระที่หอพระเสมอ บนหอพระมีตู้รับบริจาค ผมเอาธนบัตร ๒ ฉบับนั้นใส่ตู้พร้อมกับตั้งจิตอุทิศส่วนบุญให้แก่เจ้าของธนบัตรเสมือนว่าเขามาบริจาคเอง ขอให้เทพยดาผู้ทรงเทวฤทธานุภาพสื่อสารไปถึงเจ้าของธนบัตรให้รับรู้และอนุโมทนาด้วยเถิด 

เสร็จแล้วผมก็เอาเงินบริจาคส่วนของผมเองใส่ตู้เป็นการบำเพ็ญบุญทานมัยอันเป็นกิจประจำวันประจำชีวิต 

ผมไม่ได้ใส่บาตรประจำวันด้วยเหตุผลหลายประการ (เคยเปรยให้ฟังแล้ว) และผมต่อต้านการเอาสตางค์ใส่บาตรพระที่ออกบิณฑบาตดังที่คนสมัยนี้ชอบทำกัน จึงใช้วิธีนี้-เอาสตางค์ใส่ตู้

………………

ญาติมิตรที่อ่านเรื่องที่ผมเล่านี่ (เอาสตางค์ที่มีผู้ทำตกไปใส่ตู้บริจาค) น่าจะมีความคิดเป็น ๒ กลุ่ม 

กลุ่มที่ชอบแย้งค้านก็คงจะบอกว่า ผมทำงั้นได้ไง ทางที่ถูกผมควรจะเอาธนบัตรนั้นไปแจ้งตำรวจเพื่อให้สืบหาเจ้าของ เจ้าของเขาอาจจะกำลังเดือดร้อน ผมไม่มีสิทธิ์ที่จะเอาเงินของคนอื่นไปบริจาค การที่ผมทำแบบนี้เข้าข่ายอทินนาทาน

ขอบพระคุณท่านที่คิดแบบนี้ ถ้าสะดวกอย่างไรละก็ขอแรงไปแจ้งตำรวจแทนผมทีนะครับ บอกเจ้าของให้ไปรับคืนที่ผม ผมยินดีเอาเงินของผมจ่ายคืนโดยยังคงถือว่าเงินที่ใส่ตู้ไปแล้วนั้นก็ยังคงเป็นเงินส่วนที่ท่านเจ้าของเงินบริจาคอยู่นั่นเอง บุญเป็นของท่าน 

ญาติมิตรอีกกลุ่มหนึ่งก็คงจะยินดีอนุโมทนาในสิ่งที่ผมทำไป 

เรื่องเจอเงิน แล้วเองเงินไปใส่ตู้รับบริจาคก็จบลงแค่นี้ 

เพื่อให้เรื่องนี้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นไป ผมจะขอถามความรู้จากญาติมิตรว่า 

๑ การที่ผมเอาเงินที่เก็บได้ไปใส่ตู้รับบริจาคตามเรื่องที่เล่านี้ เข้าข่ายอทินนาทานหรือไม่ 

ถ้าเข้าข่าย มีเหตุผลอย่างไร 

และถ้าไม่เข้าข่าย มีเหตุผลอย่างไร 

๒ การที่ผมเอาเงินที่เก็บได้ไปใส่ตู้รับบริจาคแล้วอุทิศส่วนบุญให้เจ้าของเงินโดยถือเสมือนว่าเจ้าเงินได้บริจาคด้วยตนเอง เช่นนี้ เจ้าของเงินจะได้บุญหรือไม่ 

ถ้าได้ มีเหตุผลอย่างไร 

และถ้าไม่ได้ มีเหตุผลอย่างไร 

แล้วก็เช่นเคย ขอความกรุณาอย่าตอบตามความเห็นส่วนตัว ขอความกรุณาไปศึกษาหลักเกณฑ์หลักการเกี่ยวกับกรณีเช่นนี้มาก่อน แล้วแสดงความเห็นบนหลักการนั้น 

ไม่ได้ปิดกั้นการ “แสดง” ความเห็น 

แต่ต้องการให้ “แสวง” ความรู้ก่อน

เวลานี้เราติดนิสัย-แสดงความเห็นโดยไม่แสวงความรู้แม้ในเรื่องที่เรากำลังแสดงความเห็นอยู่นั่นเอง 

เอาความเห็นนำหน้า 

หลักวิชาไม่สน

พอบอกให้ไปแสวงความรู้ เราก็มักจะเบะปาก ส่ายหน้า 

ไม่มีเวลา 

ไม่ใช่หน้าที่ 

– นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราพลาดกันมานาน 

คือชาวบ้านเรามักเข้าใจว่า การศึกษาเรียนรู้หลักคำสอนในพระพุทธศาสนานั้นเป็นหน้าที่ของพระภิกษุสามเณรหรือคนที่อยู่ในวัด ไม่ใช่หน้าที่ของชาวบ้าน 

ขอให้ทราบเถิดว่า-ที่เข้าใจไปอย่างนี้นี่แหละก็เพราะไม่ศึกษาเรียนรู้นั่นเอง

เริ่มกลับตัวกันตรงนี้ได้เลย-โดยการศึกษามหาปรินิพพานสูตร (ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐)

ศึกษาพระสูตรสำคัญนี้แล้วจะสะดุ้งใจว่า-โอ เราพลาดกันมานานแล้วหรือนี่

ผมขออนุญาตเป็นไกด์ นำทางให้เล็กน้อย

………………

เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว พญาวสวัตดีมารได้เข้าไปกราบทูลว่า บัดนี้พระองค์ก็ได้ตรัสรู้สมความปรารถนาแล้ว ไม่มีกิจที่จะต้องทำอีกต่อไปแล้ว ขอให้ปรินิพพานเสียเถิด

พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า พระองค์ขอเวลาประกาศธรรมที่ได้ตรัสรู้นี้สักระยะหนึ่งก่อน เมื่อพุทธบริษัทมีความรู้ความสามารถที่จะรักษาพระศาสนาสืบต่อไปได้แล้วพระองค์ก็จะปรินิพพาน

พระพุทธองค์เสด็จประกาศพระศาสนาอยู่ ๔๕ พรรษา จนมีพุทธบริษัทแพร่หลายพรั่งพร้อมแล้ว พญาวสวัตดีมารก็ได้เข้าไปกราบทูลทวงสัญญา

ตามคำของมารที่กราบทูล เป็นอันพระพุทธองค์ทรงยอมรับว่า บัดนี้พุทธบริษัทมีความสามารถที่จะรักษาพระธรรมวินัยสืบอายุพระพุทธศาสนาต่อไปได้แล้ว ก็จึงตกลงพระทัยที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน 

คำของมารที่กราบทูลเฉพาะความตอนที่แสดงคุณสมบัติของพุทธบริษัทมีว่าดังนี้ –

………

เอตรหิ  โข  ปน  ภนฺเต  ภิกฺขู  ภควโต  สาวกา 

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ ภิกษุ (ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) ผู้เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า 

วิยตฺตา เป็นผู้ฉลาด 

วินีตา ได้รับแนะนำดีแล้ว 

วิสารทา เป็นผู้แกล้วกล้า 

พหุสฺสุตา เป็นพหูสูต 

ธมฺมธรา เป็นผู้ทรงธรรม 

ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺนา ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม 

สามีจิปฏิปนฺนา เป็นผู้ปฏิบัติชอบ 

อนุธมฺมจาริโน ประพฤติตามธรรม 

สกํ  อาจริยกํ  อุคฺคเหตฺวา เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว 

อาจิกฺขนฺติ  เทเสนฺติ  ปญฺญเปนฺติ  ปฏฺฐเปนฺติ  วิวรนฺติ  วิภชนฺติ  อุตฺตานีกโรนฺติ 

ย่อมบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้นได้

อุปฺปนฺนํ  ปรปฺปวาทํ  สหธมฺเมน  สุนิคฺคหิตํ  นิคฺคเหตฺวา  สปฺปาฏิหาริยํ  ธมฺมํ  เทเสนฺติ 

แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรัปวาทที่เกิดขึ้นได้โดยสหธรรมเรียบร้อย

………………

นี่คือคุณสมบัติของพุทธบริษัทที่พระพุทธองค์ทรงรับรองว่าจะสามารถรักษาสืบทอดพระพุทธศาสนาเอาไว้ได้

พระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสว่าเฉพาะภิกษุภิกษุณีหรือพุทธบริษัทฝ่ายบรรพชิตเท่านั้นมีหน้าที่รักษาสืบทอดพระพุทธศาสนา

แต่ตรัสว่า พุทธบริษัททั้งหมด คือทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มีหน้าที่รักษาสืบทอดพระพุทธศาสนา

การยกพระพุทธศาสนาให้ชาววัดรับผิดชอบแต่ฝ่ายเดียวจึงเป็นความผิดพลาดอย่างยิ่ง และอย่างร้ายแรง 

ที่เห็นกันง่ายๆ เพราะชาวบ้านไม่มีความรู้ทางหลักพระธรรมวินัยใช่ไหมเราจึงสนับสนุนให้ชาววัดทำผิดพระธรรมวินัยกันอยู่ทุกวัน

และเพราะชาวบ้านไม่มีความรู้ทางหลักพระธรรมวินัยใช่ไหม จึงถูกพวกที่หวังลาภสักการะชักจูงไปในทางที่ไม่ใช่บุญแต่บอกว่าเป็นบุญ-กันอยู่ทุกวัน

ที่น่าเศร้าที่สุดก็คือ แม้แต่ข้าราชการในหน่วยราชการที่มีหน้าที่ดูแลพระพุทธศาสนาโดยตรงแท้ๆ ก็ยังตอบแก่ประชาชนที่ไปขอความรู้เรื่องกฐินว่า “เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของพระ ไม่ใช่หน้าที่ของผม” 

อีกไม่กี่วันเราก็จะเห็นบุญกฐินที่เหยียบย่ำพระธรรมวินัยกันอย่างอึกทึกครึกโครม-โดยอาศัยความไม่รู้ของผู้คน เวลานี้ก็โหมโรงกันคึกคักแล้ว

เพียงแต่มหาเถรสมาคมอัญเชิญพระธรรมวินัยออกมา มอบหมายให้ผู้ทรงคุณวุฒิของคณะสงฆ์ศึกษาสอบสวนทบทวนให้ถ้วนทั่ว แล้วประกาศเป็นมติคณะสงฆ์ออกมาว่า กฐิน-ทำอย่างนี้ๆ ได้ ทำอย่างนี้ๆ ผิด ขอให้วัดต่างๆ ทั่วสังฆมณฑลทำอย่างนี้ๆ ห้ามทำอย่างนี้ๆ – เท่านี้ก็เรียบร้อย 

ไม่ต้องปล่อยให้อ้างกันว่า-ท่านเจ้าคุณโน้นว่าทำได้ ท่านมหานี้ว่าทำไม่ได้ ฯลฯ

เอาประกาศมหาเถรสมาคมเป็นหลัก

โดยมหาเถรสมาคมก็ยึดพระธรรมวินัยเป็นหลัก-จบ 

แต่มหาเถรสมาคมท่านก็ไม่ทำ ท่านเฉยตลอด

เพราะฉะนั้น เราชาวบ้านก็ต้องช่วยพระ คือช่วยกันศึกษาเรียนรู้หลักพระธรรมวินัย จนถึงระดับที่รู้ชัดว่า ทำแบบไหนใช่ ทำแบบไหนไม่ใช่ ทำแบบไหนผิด ทำแบบไหนถูก 

ตัวเราเองก็จะไม่ตกเป็นเครื่องมือหรือเป็นเหยื่อแห่งการทำผิด

ทั้งเป็นการป้องปรามผู้ที่คิดจะทำผิดไม่ให้ทำได้ง่ายๆ เพราะรู้ตัวว่าเรารู้ทัน 

ช่วยกันหาความรู้นะครับ 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๐ กันยายน ๒๕๖๓

๑๓:๓๓

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *