บาลีวันละคำ

วิญญูหิ (ชุดธรรมคุณ 6) (บาลีวันละคำ 3,777)

วิญญูหิ (ชุดธรรมคุณ 6)

…………..

ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ

คำบาลีแสดงพระธรรมคุณว่าดังนี้ –

…………..

สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม

สนฺทิฏฺฐิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก

โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหีติ.

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 89 หน้า 111

…………..

พระพุทธคุณ 6 ท่านนับบทว่า “ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ” เป็นบทที่ 6

บาลีวันละคำขอแยกเป็น “ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ” คำหนึ่ง “วิญฺญูหิ” อีกคำหนึ่ง

คำว่า “วิญญูหิ” เขียนแบบบาลีเป็น “วิญฺญูหิ” (มีจุดใต้ ญฺ ตัวหน้า) อ่านว่า วิน-ยู-หิ รูปคำเดิมเป็น “วิญฺญู” อ่านว่า วิน-ยู รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ญา (ธาตุ = รู้) + รู ปัจจัย, ซ้อน ญฺ ระหว่างอุปสรรคและธาตุ (วิ + ญฺ + ญา), ลบ ร ที่ รู (รู > อู) และ “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ ญา (ญา > ญ)

: วิ + ญฺ + ญา = วิญฺญา > วิญฺญ + รู = วิญฺญรู > วิญฺญู แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้สิ่งวิเศษเป็นปกติ” หมายถึง ผู้รู้, ผู้คงแก่เรียน, ผู้ฉลาด (intelligent, learned, wise)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

“วิญญู : (คำนาม) ผู้รู้แจ้ง, นักปราชญ์. (ป.; ส. วิชฺญู).”

“วิญฺญู” แจกด้วยวิภัตตินามที่สาม (ตติยาวิภัตติ) พหูพจน์ ลง หิ วิภัตติ คง หิ ไว้ ได้รูปเป็น “วิญฺญูหิ” แปลว่า “(พระธรรม) อันวิญญูชนทั้งหลาย (พึงรู้ได้เฉพาะตัว)”

แถม :

ในคำบาลีแสดงพระธรรมคุณ ลงท้ายว่า “วิญฺญูหีติ” นั่นคือ “วิญฺญูหิ” สนธิกับ “อิติ” (อิ-ติ แปลได้หลายอย่าง ในที่นี้แปลว่า “ดังนี้”) ทีฆะ อิ เป็น อี (หรือจะว่า อิ ที่ -หิ + อิ- ที่ อิติ = อี ก็ได้)

: วิญฺญหิ + อิติ = วิญฺญูหีติ

ศิลปะในการอ่านคำบางคำ :

คำว่า “วิญฺญูหีติ” มีปัญหาในการอ่านสำหรับคนไทย เพราะคำว่า “-หี-” ที่อยู่หลัง ญู- หน้า -ติ พยัญชนะและสระไปพ้องกับคำไทยที่หมายถึงอวัยวะเพศของหญิง

ท่านแต่ปางก่อนจึงแนะนำกันมาว่า พยัญชนะและสระในภาษาบาลีที่สะกดเป็น “-หี-” ให้ออกเสียงว่า ฮี (ฮ นกฮูก + สระ อี) เพื่อเลี่ยงเสียงที่พ้องกับคำไทยคำนั้น

แต่ถ้าจะว่าไปแล้ว เสียง “ฮี” นับว่าใกล้เคียงกับเสียงเดิมในบาลีมากกว่าเสียงคำไทยคำนั้นด้วยซ้ำไป

การแนะนำให้ออกเสียง “-หี-” เป็น “ฮี” นี้ ต่อมาได้เกิดปัญหาอีก คือคนทำต้นฉบับที่ “หัวใจกระดุกกระดิก” อยู่สักหน่อยเกิดใช้ ฮ นกฮูก แทน ห หีบ ในตัวบท คือสะกดเป็น “วิญฺญูฮีติ” เสียเลย

หนังสือสวดมนต์บางสำนักในระยะหลังๆ มานี้เราจะพบการสะกดเป็น “วิญฺญูฮีติ” กันหนาตาขึ้น

ทั้งนี้รวมไปถึงคำว่า “มหีตเล” (มะหีตะเล) ในพระคาถาชินบัญชรก็มีสะกดเป็น “มฮีตเล” (มะฮีตะเล) อยู่หลายสำนัก

ขอได้โปรดช่วยกันเข้าใจ ช่วยกันจำ และช่วยกันบอกต่อๆ กันไปด้วยว่า อย่าสะกดอย่างนี้ เพราะในภาษาบาลีไม่มี ฮ นกฮูก

ขอแรงให้สำนักที่พิมพ์หนังสือสวดมนต์หรือสำนักที่ทำบทสวดมนต์ออกเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ สะกดคำนี้เป็น “วิญฺญูหีติ” (วิญญูหีติ) และ “มหีตเล” (มะหีตะเล) ให้ตรงตามบาลีด้วย อย่าอุตริสะกดให้ผิดเพี้ยนเป็นอย่างอื่น

โปรดสะกดให้ตรงคำ

แต่ออกเสียงตามคำแนะนำของท่านแต่ปางก่อนนั้นเถิด

…………..

“วิญฺญูหิ” รวมกับ “ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ” เป็น “ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ” เขียนแบบไทยเป็น “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ” อ่านว่า ปัด-จัด-ตัง เว-ทิ-ตับ-โพ วิน-ยู-หิ

ขยายความ :

“ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ” เป็นคุณนามบทที่ 6 ของพระธรรม แปลว่า “พระธรรมเป็นสิ่งที่วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตัว”

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 278 (ฉอนุสสตินิทเทส) สรุปเหตุที่พระธรรมได้นามว่า “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ” ไว้ดังนี้ –

…………..

พาลานํ ปน อวิสโยเวส ฯ

แท้จริง โลกุตรธรรมนั้นไม่เป็นวิสัยของพวกคนโง่เลยทีเดียว (ฉะนี้แหละจึงว่า พระธรรมเป็นสิ่งที่วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตัว คือไม่เป็นสิ่งที่คนโง่จะพึงรู้ได้เลย)

(สรุปความ)

อปิจ โข สฺวากฺขาโต อยํ ธมฺโม ฯ

โดยที่แท้ พระธรรมนี้เป็นสวากขาตะ (อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว)

กสฺมา ฯ

เพราะเหตุไร

สนฺทิฏฺฐิกตฺตา ฯ

เพราะธรรมนี้เป็นสันทิฏฐิกะ (อันผู้บรรลุเห็นได้เอง)

สนฺทิฏฺฐิโก อกาลิกตฺตา ฯ

ธรรมนี้ได้ชื่อว่าสันทิฏฐิกะ ก็เพราะเป็นอกาลิกะ (ให้ผลไม่จำกัดด้วยกาลเวลา)

อกาลิโก เอหิปสฺสิกตฺตา ฯ

ธรรมนี้ได้ชื่อว่าอกาลิกะ ก็เพราะเป็นเอหิปัสสิกะ (ควรเรียกให้มาดู)

โย จ เอหิปสฺสิโก นาม โส โอปนยิโก โหตีติ ฯ

และธรรมใดได้ชื่อว่าเอหิปัสสิกะ ธรรมนั้นก็ย่อมเป็นโอปนยิกะ (ควรน้อมเข้ามาไว้ในใจ) ดังนี้แล

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ” สรุปความไว้ดังนี้ –

…………..

ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ : (พระธรรม) อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ผู้อื่นไม่พลอยตามรู้ตามเห็นด้วย เหมือนรสอาหาร ผู้บริโภคเท่านั้นจึงจะรู้รส ผู้ไม่ได้บริโภคจะพลอยรู้รสด้วยไม่ได้ (ข้อ ๖ ในธรรมคุณ ๖)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เพียงรู้ว่าตัวเองยังโง่อยู่

: ก็เป็นวิญญูได้ทันที

#บาลีวันละคำ (3,777)

15-10-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *