อนุสรณ์สถาน (แห่งชาติ) (บาลีวันละคำ 3,012)
อนุสรณ์สถาน
“สถานเป็นที่นึกถึงเนืองๆ”
อ่านว่า อะ-นุ-สอน-สะ-ถาน
ประกอบด้วยคำว่า อนุสรณ์ + สถาน
(๑) “อนุสรณ์”
เขียนแบบบาลีเป็น “อนุสฺสรณ” อ่านว่า อะ-นุด-สะ-ระ-นะ ประกอบด้วย อนุ + สรณ
(ก) “อนุ” (อะ-นุ) เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –
(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind)
(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)
นักเรียนบาลีท่องกันมาว่า “อนุ = น้อย, ภายหลัง, ตาม” และที่เรียนรู้กันต่อมา คือ “เนืองๆ” หรือ “บ่อยๆ”
(ข) “สรณ” (สะ-ระ-นะ) รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = คิดถึง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ
: สรฺ + ยุ > อน = สรน > สรณ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่นึกถึงการกระทำที่ดีและไม่ดี”
อนุ + สรณ ซ้อน สฺ ระหว่างศัพท์
: อนุ + สฺ + สรณ = อนุสฺสรณ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่นึกถึงเนืองๆ ซึ่งการกระทำที่ดีและไม่ดี” ใช้ในความหมายว่า การอนุสรณ์, การระลึกถึง, ความทรงจำ (remembrance, memory, recollection)
(๒) “สถาน”
บาลีเป็น “ฐาน” (ถา-นะ) รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ฐา + ยุ > อน = ฐาน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งแห่งผล”
“ฐาน” ใช้ในความหมายหลายอย่างตามแต่บริบท เช่น สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ฐานะ, การตั้งอยู่, การดำรงอยู่, การหยุดอยู่, การยืน, ที่ตั้ง, ตำแหน่ง, เหตุ, โอกาส (ภาษาอังกฤษอาจใช้ได้หลายคำ เช่น place, region, locality, abode, part, state, condition, standing position, location, ground)
บาลี “ฐาน” สันสกฤตเป็น “สฺถาน”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“สฺถาน : (คำนาม) สถล, ที่, ตำแหน่ง; การอยู่; สมพาท, ความแม้น; อวกาศหรือมัธยสถาน; ที่แจ้งในเมือง, ทุ่ง, ฯลฯ; เรือน, บ้านหรือที่อาศรัย; บริเฉท; บุรี, นคร; สำนักงาร; บท, สถิติ; การหยุด; place, site, situation; staying; resemblance, likeness; leisure or interval; an open place in a town, a plain, &c.; a house, a dwelling; a chapter; a town, a city; an office; degree, station; halt.”
ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “สถาน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สถาน ๑ : (คำนาม) ที่ตั้ง เช่น สถานเสาวภา สถานพยาบาล สถานพักฟื้น สถานบริบาลทารก, ถ้าใช้ประกอบคำอื่นหมายถึง ที่, แหล่ง, เช่น โบราณสถาน ศาสนสถาน ฌาปนสถาน ปูชนียสถาน สังเวชนียสถาน; ประการ เช่น มีความผิดหลายสถาน. (ส.; ป. ฐาน).”
อนุสรณ์ + สถาน = อนุสรณ์สถาน แปลโดยประสงค์ว่า “สถานที่อันเป็นที่ระลึกถึง”
คำว่า “อนุสรณ์สถาน” นี้ ว่าตามหลักการเขียนคำสมาสสนธิ ควรสะกดเป็น “อนุสรณสถาน” (ไม่มีการันต์ที่ ณ) แต่เนื่องจากคำนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิสามานยนาม (proper name) การสะกดการันต์จึงอยู่เหนือกฎเกณฑ์
คำว่า “อนุสรณ์สถาน” นี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำเล็งไปที่ “อนุสรณ์สถานแห่งชาติ” โดยเฉพาะ
ขยายความ :
เว็บไซต์กองกองประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหาร กองบัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (อ่านเมื่อ 10 กันยายน 2563 เวลา 20:30) กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของ “อนุสรณ์สถานแห่งชาติ” ไว้ดังนี้
————-
พลเอก สายหยุด เกิดผล ผู้บัญชาการทหารสูงสุดขณะนั้น ได้พิจารณาจัดทำโครงการสร้างอาคารอนุสรณ์วีรชนแห่งชาติเป็นส่วนรวมขึ้น และได้นำโครงการนี้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ขออนุมัติหลักการโครงการจัดสร้างเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๕
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ และอนุมัติหลักการ ให้จัดสร้างอาคารอนุสรณ์วีรชนแห่งชาติได้ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ต่อมาคณะกรรมการจัดงานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ได้รับโครงการนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ด้วย
กระทรวงกลาโหมจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๕ เรียกว่า คณะกรรมการจัดสร้างอาคารอนุสรณ์วีรชนแห่งชาติ โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นประธาน รองเสนาธิการทหาร รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นกรรมการ เจ้ากรมการศึกษาวิจัย (กรมยุทธศึกษาทหาร) เป็นกรรมการและเลขานุการ หัวหน้ากองประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหาร กรมการศึกษาวิจัย (ผู้อำนวยการกองประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหาร กรมยุทธศึกษาทหารในปัจจุบัน) เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๕ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ใช้พื้นที่บริเวณ สามเหลี่ยมดอนเมือง ช่วงถนนวิภาวดีรังสิต บรรจบกับถนนพหลโยธิน พื้นที่ ๓๘ ไร่ ๑ งาน ๙๗ ตารางวา ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพอากาศ เป็นสถานที่จัดสร้างอนุสรณ์วีรชนแห่งชาติ
หลังจากได้รับอนุมัติให้ดำเนินการจัดสร้างแล้ว กองบัญชาการทหารสูงสุดได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานชื่ออนุสรณ์ที่จะก่อสร้างเพื่อเป็นสิริมงคล และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสถานที่แห่งนี้ว่า “อนุสรณ์สถานแห่งชาติ” เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๖
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๗
วัตถุประสงค์ :
๑. เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้เสียสละชีวิตเพื่อประเทศชาติ และจารึกนามผู้กล้าหาญเหล่านี้ไว้ให้สถิตถาวรสืบไป
๒. เพื่อเป็นสถานที่แสดงประวัติวีรกรรม และเหตุการณ์รบครั้งสำคัญต่างๆ
๓. เพื่อเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงภัยที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต อันเป็นผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
๔. เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้และพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป
…………..
อนุสรณ์สถานแห่งชาติเปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 09:00 – 15:00 น. เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยไม่เสียค่าเข้าชม
…………..
ดูก่อนภราดา!
ท่านเลือกจะทำอะไร –
: ทำเลวให้โลกสาป
ก็มีสิทธิ์จะอดสู
: ทำดีให้โลกดู
ก็มีสิทธิ์จะยินดี
#บาลีวันละคำ (3,012)
10-9-63