เมื่อไรจะมีตลาดรองรับ
เมื่อไรจะมีตลาดรองรับ
———————–
ปีนี้มีพระภิกษุสามเณรสอบประโยค ป.ธ.๙ ได้ ๖๓ รูป เป็นที่น่าอนุโมทนาสาธุอย่างยิ่ง
การสอบบาลีสมัยก่อนโน้นใช้วิธีสอบปากเปล่า หรือที่เรียกกันว่า “แปลปาก” คือนักเรียนต้องแบกคัมภีร์เข้าไปแปลให้กรรมการฟังสดๆ
ได้หรือตกรู้กันเดี๋ยวนั้นเลย
ต่อมาจึงปรับปรุงวิธีสอบโดยใช้วิธีเขียนคำตอบ หรือที่เรียกกันว่า “สอบข้อเขียน” เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๙
ครั้งแรกปีแรกที่ใช้วิธีสอบข้อเขียน มีพระภิกษุที่สอบประโยค ป.ธ.๙ ได้เพียงรูปเดียว คือ พระมหาเมฆ อิสิญาโณ วัดเทพศิรินทราวาส
ผมยังไม่เคยเห็นสถิติตรงๆ ชัดๆ ว่า ตั้งแต่มีการสอบบาลีโดยวิธีสอบข้อเขียนนับจนถึงปี ๒๕๖๓ นี้ มีพระภิกษุสามเณรสอบประโยค ป.ธ.๙ ได้เป็นจำนวนทั้งสิ้นกี่รูป
รวมทั้งสถิติต่อเนื่อง เช่น ดำรงสมณเพศต่อมาหรือลาสิกขากี่รูป มรณภาพหรือเสียชีวิตแล้วกี่รูปกี่คน ยังมีชีวิตอยู่กี่รูปกี่คน ที่ยังมีชีวิตอยู่มีสถานภาพเป็นอะไรอยู่ที่ไหนบ้าง ฯลฯ
ผมเคยพยายามนับดู แต่ไม่ประสบความสำเร็จ (ตัวเลขกับผมนี่เป็นปฏิปักษ์กันอย่างแรง) ได้เค้าโครงหยาบๆ เพียงว่า ตั้งแต่ปี ๒๔๖๙ เป็นต้นมามีผู้สอบประโยค ป.ธ.๙ ได้ประมาณ ๑,๕๐๐ ล่วงลับไปแล้วประมาณ ๕๐๐ ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ ๑,๐๐๐ ดำรงสมณเพศประมาณ ๕๐๐ ลาสิกขาประมาณ ๕๐๐
ผมเคยเสนอให้กองบาลีสนามหลวงทำโครงการนี้-โครงการสำรวจสถิติเชิงประวัติผู้จบประโยค ป.ธ.๙ ในประเทศไทย
แต่คำเสนอแนะก็เหมือนกับชื่อหนังฝรั่งเรื่องหนึ่ง Gone with the Wind
ยิ่งนานไป การสืบค้นก็จะทำได้ยากยิ่งขึ้น หรือบางราย-หลายราย ข้อมูลอาจสูญหายไปแล้ว
บ้านเรา-คณะสงฆ์เราเป็นเสียอย่างนี้ มีงานที่น่าทำควรทำ แต่ไม่มีคนทำ แม้แต่คนที่-ดูตามตำแหน่งหน้าที่แล้วควรทำที่สุด
แต่ท่านก็ไม่คิดจะทำ
………………
เมื่อวาน (๑๔ มีนาคม ๒๕๖๓) เป็นวันประกาศผลสอบบาลี ผมเขียนเรื่อง “ยังไม่จบ-อันที่จริงยังไม่ได้เริ่มต้น” มีพระคุณท่านที่เป็นมิตรสนิทแสดงความเห็นไว้น่าฟัง ขออนุญาตคัดมาเสนอดังนี้ –
………………
…ท่านที่จบการศึกษาสายบาลีจนถึงประโยค ๙ แล้ว สำนักเรียนก็ดี เจ้าคณะผู้ปกครองก็ดี มหาเถรสมาคมก็ดี มีนโยบายหรือแผน (Plan) ตั้งเอาไว้บ้างไหมว่า
—มีงานพระศาสนาด้านการปกครอง ซึ่งมีรายละเอียดมากมายหลายด้าน เขียนแผนภาคปฏิบัติ (เอาเฉพาะ) ด้านตัวบุคลากรเพื่อไปบริหาร มีสถานที่ มีวิธีการ มีงบประมาณไว้บ้างหรือไม่
—ด้านการเผย มีความคิดที่จะสร้างบุคลากร มีสนามให้ท่านทดลอง มีระบบการตรวจสอบการเผยแผ่ที่ออกนอกรีตนอกรอย และบริหารจัดการ พร้อมทั้งมีรูปแบบปฏิบัติการเชิงรุก มีการแก้ไขเรื่องคาใจในเวลาที่มีปัญหาเถียงกันตกลงกันไม่ได้ มีโฆษกคอยบอกข่าวคราวหรือประกาศเรื่องราวของคณะสงฆ์ให้ชาวโลกรู้บ้าง มีหรือไม่
พูดไว้แค่สองประเด็นนี้ก่อน ไม่งั้นก็จะมีเสียงถามอย่างที่อาจารย์พูดไว้ทุกๆ ปี พร้อมทั้งยังน่าสงสารพระหนุ่มเณรน้อยเหล่านี้ว่า อนาคตของท่านจะทำประโยชน์อะไรที่ออกมาเป็นรูปธรรมอย่างมีระเบียบในระบบได้บ้าง หรือจะไปทางไหนในวิถีชีวิตหลังจากจบ ป.ธ.๙ แล้ว ….
………………
สรุปความคิดเห็นของพระคุณท่านก็คือ จะเอาผู้จบประโยค ป.ธ.๙ ไปใช้งานอะไร คณะสงฆ์มีแผนรองรับหรือไม่
พระคุณท่านอ้างอิงว่า – อย่างที่ผมพูดไว้ทุกๆ ปี
ความจริงผิดนะครับ ผมไม่ได้พูดไว้ทุกปี แต่พูดทุกวัน
ผมเรียกร้องทุกวันให้คณะสงฆ์ทำงานที่ควรทำ โดยเฉพาะงานศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก-คือพระธรรมวินัยอันเป็นตัวพระศาสนา เพื่อ … แก้ไขเรื่องคาใจในเวลาที่มีปัญหาเถียงกันตกลงกันไม่ได้ … อย่างที่พระคุณท่านว่า
ผมพูดมาตลอดว่า
งานก็มี
คนที่สามารถทำงานได้ก็มี (ปีนี้ก็มีเพิ่มขึ้นอีกตั้ง ๖๓ รูป)
เงินก็มี
ฝ่ายที่พร้อมจะสนับสนุนก็มี
เรียกว่ามีพร้อมทุกอย่าง
แต่ความคิดที่จะทำงาน ไม่มี
จบ
เวลานี้ เปรียบเหมือนคณะสงฆ์ผลิตสินค้าออกมาแล้ว เป็นสินค้าคุณภาพทั้งนั้น
แต่ไม่ได้เตรียมตลาดรองรับ ไม่รู้จะเอาไปจำหน่ายที่ไหน ผลิตแล้วก็เก็บ “กอง” ไว้เฉยๆ
ตลาดรองรับนั้นมีครับ แต่ต้องเปิด
และคณะสงฆ์ก็สามารถเป็นผู้เปิดตลาดได้เองด้วย
ยกตัวอย่างให้ดูตลาดเดียว ที่เห็นๆ กันอยู่ – งานทำพจนานุกรมบาลี
คณะสงฆ์ไทยยังไม่เคยทำพจนานุกรมบาลีฉบับคณะสงฆ์ไทยเลยแม้แต่ฉบับเดียว – ถ้ากระผมเข้าใจผิด กรุณาทักท้วงนะครับ
ตอนนี้ท่านศาสตราจารย์ ดร. อุทิส ศิริวรรณ กับคณะของท่านกำลังทำพจนานุกรมบาลีอยู่ ทำไปได้มากแล้วด้วย น่าจะสำเร็จในเวลาอันไม่ช้านานนัก
งานแบบนี้ควรเป็นงานของคณะสงฆ์ทำ โดยกำลังคนของคณะสงฆ์เอง-ที่คณะสงฆ์ผลิตออกมาทุกปีๆ
แต่คณะสงฆ์ก็ไม่ทำ และคงไม่คิดจะทำ
นี่เป็นแค่เรื่องเดียว ตลาดเดียว ที่คณะสงฆ์สามารถเปิดตลาดได้ด้วยตนเอง
ยังมี “ตลาด” เป็นอเนกอนันตัง ที่คณะสงฆ์สามารถส่ง “สินค้า” ของตนเข้าไปจำหน่ายได้
คณะสงฆ์ลองเรียกผู้ที่จบประโยค ๙ สัก ๕ ท่าน ไปนั่งประชุมกัน คิดหา “ตลาด” ที่จะใช้งานผู้ที่จบประโยค ๙ ให้คุ้มค่า
ผมว่า-ที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ ๑,๐๐๐ คนนี่ไม่พอใช้ด้วยซ้ำไป
………………
หลังจากร่วมกันชื่นชมยินดี และเฉลิมฉลองความสำเร็จกันพอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้พวกเราช่วยกันคิดดังๆ เผื่อจะได้ยินไปถึงคณะสงฆ์บ้าง
อุตส่าห์เรียนบาลีจนจบประโยค ๙ มาตั้งเท่าไร
เมื่อไรคณะสงฆ์ไทยจะเปิดตลาดรองรับ
ถ้ายังไม่ชัดก็พูดใหม่
เมื่อไรคณะสงฆ์ไทยจะคิดแผนงาน
แล้วเอาผู้จบประโยค ๙ ไปใช้งาน?
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๕ มีนาคม ๒๕๖๓
๑๓:๒๙
…………………………….
……………………………