บาลีวันละคำ

จิญจมาณวิกา (บาลีวันละคำ 3,014)

จิญจมาณวิกา

สุดสวย แต่สุดทราม

อ่านว่า จิน-จะ-มา-นะ-วิ-กา

ประกอบด้วยคำว่า จิญจ + มาณวิกา

(๑) “จิญจ

รูปคำเดิมเป็น “จิญจา” เขียนแบบบาลีเป็น “จิญฺจา” (จิน-จา มีจุดใต้ ญฺ) รากศัพท์มาจาก จิ (ธาตุ = สะสม) + ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ธาตุ แล้วแปลงเป็น ญฺ (จิ > จึ > จิญฺ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: จิ > จึ > จิญฺ + = จิญฺจ + อา = จิญฺจา แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้ที่สะสมรสเปรี้ยว

พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือ พจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง แปลศัพท์ “จิญฺจา” ว่า มะขาม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จิญฺจา” ว่า the tamarind tree (ต้นมะขาม)

(๒) “มาณวิกา

รากศัพท์มาจาก มาณว + อิก ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

(1) “มาณว” (มา-นะ-วะ) รากศัพท์มาจาก มนุ + ณฺว ปัจจัย

(ก) “มนุ” (มะ-นุ) รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + อุ ปัจจัย

: มนฺ + อุ = มนุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ของสัตวโลก

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปลคำว่า “มนุ” ว่า พระมนู, มนุษย์คนแรก

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มนุ” ว่า human being; man (มนุษย์; คน)

มนุ” ภาษาไทยใช้ว่า “มนู” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มนู : (คำนาม) ชื่อพระผู้สร้างมนุษยชาติและปกครองโลก มี ๑๔ องค์ เรียงกันเป็นยุค ๆ ไป, ยุคหนึ่งเรียกว่า มนวันดร นานกว่า ๔,๐๐๐,๐๐๐ ปี องค์แรก คือ พระสวายมภูวะ พระมนูองค์นี้ถือกันว่าเป็นผู้ทรงออกกฎหมายหรือธรรมศาสตร์ซึ่งยังมีอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้เรียกว่า มนุสัมหิตา หรือ มนุสมฺฤติ, เพราะฉะนั้น คํา มนู จึงหมายถึงกฎหมายก็ได้ เช่น มนูกิจ. (ส. มนุ).”

(ข) มนุ + ณฺว ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺว > ), ทีฆะ อะ ที่ -(นุ) เป็น อา (มนุ > มานุ), “ลบสระหน้า” คือ อุ ที่ มนุ (มนุ > มน), แปลง เป็น

: มนุ + ณฺว = มนุณฺว > มนุว > มานุว > มานว > มาณว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เหล่ากอของมนู

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มาณว” ว่า a youth, young man, esp. a young Brahmin (มาณพ, คนหนุ่ม, โดยเฉพาะอย่างยิ่งพราหมณ์หนุ่ม)

บาลี “มาณว” ภาษาไทยแปลง เป็น ใช้เป็น “มาณพ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มาณพ : (คำนาม) ชายหนุ่ม, ชายรุ่น. (ป., ส.).”

(2) มาณว + อิก ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: มาณว + อิก = มาณวิก + อา = มาณวิกา ความหมายเหมือน “มาณว” หรือ “มาณพ” เพียงแต่เปลี่ยนจากเพศชายเป็นหญิง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มาณวิกา” ว่า a Brahmin girl (นางมาณวิกา, พราหมณ์สาว)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มาณวิกา : (คำนาม) หญิงสาว, หญิงรุ่น. (ป., ส.).”

โปรดสังเกตว่า “มาณว” ภาษาไทยแปลงรูปเป็น “มาณพ” แต่ “มาณวิกา” เราคงใช้ตามรูปคำเดิม ไม่แปลงเป็น “มาณพิกา

จิญฺจา + มาณวิกา รัสสะ อา ที่ (จิญฺ)-จา เป็น อะ (จิญฺจา > จิญฺจ)

: จิญฺจา + มาณวิกา = จิญฺจามาณวิกา > จิญฺจมาณวิกา แปลว่า “พราหมณ์สาวชื่อจิญจา” หรือเรียกทับศัพท์ว่า “นางจิญจมาณวิกา

ชื่อนี้ถ้าจะแปลให้ “จี๊ด” คงต้องแปลว่า “สาวเปรี้ยว

อภิปรายขยายความ :

เนื่องจากคำว่า “จิญจมาณวิกา” เป็นชื่อเฉพาะ (proper name) จะมีความหมายอย่างไรต้องเป็นไปตามประสงค์ของเจ้าของชื่อหรือผู้ตั้ง

ชื่อ “จิญจมาณวิกา” ซึ่งเป็นบุคคลในพุทธประวัตินี้ ยังไม่พบว่ามีคำอธิบายความหมายไว้อย่างไร แต่ในภาษาบาลีมีศัพท์ว่า “จิญฺจา” ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคำเดียวกับ “จิญฺจา” ในชื่อบุคคลผู้นี้

นางจิญจมาณวิกาเป็นสตรีชาวเมืองสาวัตถี มีความงามเป็นเลิศ ในคัมภีร์ใช้คำบรรยายความงามว่า —

…………..

อุตฺตมรูปธรา

ทรงรูปอันเลอโฉม

โสภคฺคปฺปตฺตา

งามเลิศถึงระดับ

เทวจฺฉรา  วิย

ปานว่าเทพอัปสร

อสฺสา  สรีรโต  รํสิโย  นิจฺฉรนฺติ.

รัศมีพราวพรายออกจากเรือนร่าง

ที่มา:

จิญจมาณวิกาวัตถุ ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 6 หน้า 46

มหาปทุมชาดก ทวาทสนิบาต ชาตกัฏฐกถา ภาค 6 หน้า 142-143

…………..

ประวัตินางจิญจมาณวิกาที่บันทึกไว้ในคัมภีร์มีเรื่องเดียวคือ ใส่ความพระพุทธองค์ว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับเธอจนตั้งครรภ์

แต่เมื่อความเท็จปรากฏ ประชาชนก็รังเกียจอย่างที่สมัยนี้ใช้คำว่า “ไม่มีที่ยืนในสังคม” จนหายสาบสูญไปในที่สุด หรือที่สำนวนในคัมภีร์บอกว่า “ถูกแผ่นดินสูบ”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ภาพที่ตาท่านเห็น

: อาจไม่ได้เป็นอย่างที่ใจท่านคิด

#บาลีวันละคำ (3,014)

12-9-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย