บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ทำไมบ้านเมืองเราจึงเป็นแบบที่กำลังเป็นอยู่ทุกวันนี้

ทำไมบ้านเมืองเราจึงเป็นแบบที่กำลังเป็นอยู่ทุกวันนี้

—————————————-

หมู่นี้ผมได้ฟังเรื่องที่น่าหดหู่บ่อยมาก

แต่มี ๒ เรื่องที่หดหู่มากเป็นพิเศษ

เรื่องที่หนึ่ง 

พรรคพวกผมคนหนึ่งเขาอยากรู้เรื่องกฐิน อันที่จริงเขาก็พอจะรู้อยู่บ้าง แต่เขาอยากทราบว่า กฐินที่ทำกันผิดๆ นั้นใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบในการชี้แจงแก่คนทั้งหลายว่าอย่างนั้นผิดอย่างนี้ถูก 

ผมก็เลยแนะนำว่า เรามีหน่วยราชการที่รับผิดชอบเรื่องพระพุทธศาสนาอยู่ น่าจะปรึกษาไปที่นั่น 

เขาก็เลย “ปรึกษา” ไปที่หน่วยราชการที่เรามักเรียกกันว่า “สำนักพุทธฯ” เจาะไปจนถึงหน่วยย่อยที่เรียกว่า “กลุ่มคุ้มครองพระพุทธศาสนา”

จำได้ไหมครับ กลุ่มนี้แหละที่เป็นผู้ยกเรื่อง กรณีการบิณฑบาตไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย เสนอมหาเถรสมาคม เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางเมื่อไม่นานมานี้ 

พรรคพวกผมถามไปทางโทรศัพท์ ถามไป-ตอบมาอยู่พักหนึ่งก็ได้ยินเสียง “เจ้าหน้าที่” ทางปลายสายตอบกันเองว่า “กฐินเป็นเรื่องของพระ ไม่ใช่หน้าที่ของเรา” 

พรรคพวกบอกว่า ได้ยินแบบนั้นก็เลยเศร้าใจ เขาเปรยๆ ว่า ถ้า “เจ้าหน้าที่” สำนักพุทธฯ-โดยกลุ่มคุ้มครองพระพุทธศาสนาแท้ๆ พูดแบบนั้น ชาวบ้านจะหวังพึ่งใครละทีนี้

……….

ตามความเข้าใจของผม เรื่องของพระพุทธศาสนาทุกเรื่องทุกแง่มุมเกี่ยวกับสำนักพุทธฯ ทั้งนั้น-ตามหลักการที่ตั้งหน่วยราชการหน่วยนี้ขึ้นมา 

จะบอกว่า “ไม่ใช่หน้าที่ของเรา” เห็นจะไม่ได้

หลายเรื่อง-ปฏิบัติเองโดยตรง

บางเรื่อง-ส่งลูกต่อและติดตามผล

หลายเรื่อง-สืบค้นข้อมูลหลักฐาน 

และทุกเรื่อง-ประสานงานกับทางคณะสงฆ์

“สืบค้นข้อมูลหลักฐาน” ก็คือเรื่องอะไรที่ยังไม่รู้-เช่นเรื่องกฐิน-ก็ศึกษาสืบค้นจนพอรู้เข้าใจ อธิบายให้คนทั่วไปรู้เรื่องได้ 

ไม่ใช่ปัดลูกว่า-ไม่ใช่หน้าที่

ฟังพรรคพวกเล่าเรื่องแล้ว ผมก็เลยเกิดข้อสงสัยว่า “เจ้าหน้าที่” ที่มีตำแหน่งหน้าที่ในสำนักพุทธฯ ซึ่งมีหน่วยงานในสังกัดอยู่ทั่วทุกจังหวัดนั้น มีความรู้เรื่องพระพุทธศาสนากันมากน้อยแค่ไหน

ถามอีกนัยหนึ่งว่า ข้าราชการสังกัดสำนักพุทธฯ จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดีหรือไม่

ไม่ใช่แปลว่าจะมาไล่เบี้ยหรือไล่บี้กัน แต่ผมเห็นว่าน่าจะถึงเวลาต้องชำเลืองดูคุณสมบัติพื้นฐานกันไว้บ้างแล้ว

ถ้าปล่อยตามสบาย หรืออ้างทฤษฎี “สิทธิการดำรงตำแหน่ง” วันหนึ่ง ผอ.สำนักพุทธฯ ใหญ่ และ ผอ.สำนักพุทธฯ จังหวัด อาจไม่จำเป็นต้องนับถือศาสนาพุทธก็เป็นได้นะครับ

…………….

เรื่องที่สอง 

เรื่องราวกั้นทางเดินชั้นล่างของเขื่อนริมน้ำแม่กลองบริเวณตลาดราชบุรี ซึ่งแต่เดิมสร้างทางเดินชั้นล่างเป็นช่วงๆ จึงต้องมีราวกั้นหัว-ท้ายเพื่อไม่ให้คนเผลอเดินหลุดทางเดินตกน้ำ ตอนนี้สร้างทางเดินเชื่อมถึงกันตลอดแล้ว ราวกั้นจึงหมดความจำเป็น ควรจะรื้อถอนออกเพื่อให้เดินผ่านถึงกันได้สะดวก (โปรดดูภาพประกอบ)

ผมโพสต์เรื่องนี้ไปเมื่อวันก่อน (๑๐ กันยายน ๒๕๖๓ ความจริงโพสต์มาหลายครั้งแล้ว) 

พรรคพวกคนหนึ่งเอาเรื่องนี้ไปถาม “เจ้าหน้าที่” ได้รับคำตอบจากท่านเจ้าหน้าที่ว่า “เอาออกไม่ได้ ประเดี๋ยวคนตกน้ำ” 

ถามย้ำกี่ครั้ง ท่านเจ้าหน้าที่ก็ตอบคำเดิม – “เอาออกไม่ได้ ประเดี๋ยวคนตกน้ำ” 

ผมฟังคำบอกเล่าของพรรคพวกแล้ว หดหู่ก็หดหู่ ขำก็ขำ 

ญาติมิตรลองดูภาพ แล้วนึกดูว่า ถ้ารื้อร้าวกั้นออก คนที่เดินบนทางเดินนั้นจะตกน้ำตรงไหนได้บ้าง?

นึกถึงคำที่พูดกันว่า “หลับตาพูด” เออ มันมีจริง

…………….

คำตอบของ “เจ้าหน้าที่” ทั้ง ๒ หน่วยงานตามที่เล่ามานี้ ทำให้พอจะได้คำตอบว่า ทำไมบ้านเมืองเราจึงเป็นแบบที่กำลังเป็นอยู่ทุกวันนี้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๒ กันยายน ๒๕๖๓

๑๑:๑๑

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *