ม็อบ (บาลีวันละคำ 3,016)
ม็อบ
ภาษาบาลีว่าอย่างไร
“ม็อบ” มาจากคำอังกฤษว่า mob (เมื่อเขียนเป็นอักษรไทย บ ใบไม้ สะกด ไม่ใช่ ม็อป ป ปลา สะกด)
พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกไว้ดังนี้ –
mob n. adj. vt.
๑ โขลง, กลุ่มคน, ฝูงคน
๒ ห้อมล้อม, กลุ้มรุมทำร้าย
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล mob เป็นบาลีดังนี้
(ก) เป็นคำนาม :
(1) janasamūha ชนสมูห (ชะ-นะ-สะ-มู-หะ) = การชุมนุมกันของคน, ประชาชนมาชุมนุมกัน
(2) kalahakārī parisā กลหการี ปริสา (กะ-ละ-หะ-กา-รี ปะ-ริ-สา) = กลุ่มคนที่ก่อการทะเลาะวิวาท
(ข) เป็นคำกริยา :
(1) kalahaṃ karoti กลหํ กโรติ (กะ-ละ-หัง กะ-โร-ติ) = ทำการทะเลาะวิวาท
(2) kalahāya sannipatati กลหาย สนฺนิปตติ = ชุมนุมกันเพื่อทะเลาะวิวาท
ขยายความ :
เมื่อพิจารณาตามความหมายของคำบาลี –
(1) “ชนสมูห” การที่มีคนมาชุมนุมกันมากๆ ก็เรียกว่า “ม็อบ” ได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่ามาชุมนุมกันเพื่ออะไร
(2) “กลหการี ปริสา” คำนี้ระบุว่ามาชุมนุมกันเพื่อก่อการทะเลาะวิวาท หมายความว่า กลุ่มคนที่มาชุมนุมกันนั่นแหละทะเลาะวิวาทกันเอง คือคนตั้งแต่ 2 ฝ่ายหรือ 2 กลุ่มขึ้นไปมาชุมนุมเพื่อทะเลาะกัน
คำกริยาอีก 2 คำก็มีความหมายตามนัยแห่งข้อ (2) นี้
“ม็อบ” ในความหมายตามข้อ (2) นี้ เข้าใจง่ายๆ ก็คือ “คนทะเลาะกัน” หรือ “คนตีกัน”
คำบาลีที่เป็นหลักในความหมายนี้คือคำว่า “กลห”
(๑) “กลห” อ่านว่า กะ-ละ-หะ รากศัพท์มาจาก –
(1) กลหฺ (ธาตุ = ทะเลาะ) + อ (อะ) ปัจจัย
: กลหฺ + อ = กลห แปลตามศัพท์ว่า “อาการเป็นที่ทะเลาะกัน”
(2) กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ) + ห ปัจจัย
: กลฺ + ห = กลห แปลตามศัพท์ว่า “อาการเป็นเครื่องกำหนดความกล้าหาญ” (คือการที่ออกไปทะเลาะกับใครได้ถือว่าเป็นความกล้าหาญ)
“กลห” (ปุงลิงค์) หมายถึง การทะเลาะ, การวิวาท, การโต้เถียง (quarrel, dispute, fight)
แต่ “ม็อบ” ตามความหมายที่คนทั่วไปเข้าใจ ก็คือ “ประชาชนมาชุมนุมกัน” ตามข้อ (1) ซึ่งแปลเป็นคำบาลีว่า “ชนสมูห” แปลตามศัพท์ว่า “การชุมนุมกันของคน”
คำบาลีที่เป็นหลักในความหมายนี้คือคำว่า “สมูห”
(๒) “สมูห” อ่านว่า สะ-มู-หะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค ใช้แทนศัพท์ “สมฺมา” = โดยชอบ และ “วิเสส” = พิเศษ; พร้อมกัน, ดี) + อูหฺ (ธาตุ = นับ; ตั้งอยู่) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ม (สํ > สม)
: สํ > สม + อูหฺ = สมูหฺ + ณ = สมูหณ= สมูห (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “หมู่ที่นับกันโดยชอบและโดยพิเศษ” (2) “หมู่ที่ดำรงอยู่กับส่วนย่อย” (3) “หมู่อันเขารู้กันดีว่าเป็นส่วนเดียวกัน” หมายถึง กอง กลุ่ม, การรวมกัน (multitude, mass, aggregation)
“ม็อบ” ในความหมายตามคำบาลีว่า “ชนสมูห” นี้ โดยปกติก็จะต้องมีข้อเรียกร้องต้องการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่งในการชุมนุมเสมอ
คนที่อยู่ร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ถ้าต้องการให้อีกคนหนึ่งหรืออีกฝ่ายหนึ่งทำอะไรตามที่ตนต้องการ โดยปกติธรรมดาก็จะบอกกล่าวกันแต่โดยดี ฝ่ายที่ถูกบอกกล่าวเมื่อเห็นว่าเรื่องนั้นตนสามารถสนองความต้องการได้ก็จะยอมทำตามแต่โดยดี
ถ้าเป็นเช่นนี้ “ม็อบ” หรือ “ชนสมูห” ก็จะไม่เกิด
“ม็อบ” หรือ “ชนสมูห” ตามความหมายนี้เกิดขึ้นก็เพราะฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ทำตามคำเรียกร้อง ฝ่ายเรียกร้องจึงต้องใช้วิธีการ “ชนสมูห” คือเอาจำนวนคนที่มาชุมนุมกันเป็นเครื่องบีบบังคับ
ที่ว่ามานี้ไม่ได้พิจารณาไปถึงเนื้อหาสาระของข้อเรียกร้อง ซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตของบาลีวันละคำ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าไม่ยอมควบคุมความอยากตั้งแต่เบื้องต้น
: ก็ต้องพร้อมที่จะผจญความยากในเบื้องปลาย
#บาลีวันละคำ (3,016)
14-9-63