ปญฺจปฺปติฏฺฐิต (บาลีวันละคำ 50)
ปญฺจปฺปติฏฺฐิต
อ่านว่า ปัน-จับ-ปะ-ติด-ถิ-ตะ
มาจากคำว่า ปญฺจ + ปติฏฺฐิต = ปญฺจปฺปติฏฺฐิต (ซ้อน ปฺ ตามกฎไวยากรณ์บาลี)
ปญฺจ แปลว่า “ห้า” (จำนวน 5)
ปติฏฺฐิต แปลว่า “จรดลงอย่างตั้งใจ”
แปลรวมว่า “จรดลงอย่างตั้งใจห้าอย่าง”
ทั้งคำศัพท์ คำแปล ไม่คุ้น แต่ถ้าแปลงรูปแล้วจะรู้จักกันเป็นส่วนมาก
“ปญฺจ” แปลงรูปเป็นไทยว่า “เบญจ”
“ปติฏฺฐิต” แปลงเป็น “ประดิษฐ์”
รวมทั้งสองคำ เราเอามาแปลงใช้ในภาษาไทยว่า “เบญจางคประดิษฐ์” มีความหมายว่า “กราบโดยให้อวัยวะทั้ง 5 สัมผัสพื้น” เป็นกิริยาแสดงความเคารพอย่างสูงสุด และถ้าทำได้ถูกต้องก็จะเป็นการกราบที่งดงามที่สุด
“อวัยวะทั้ง 5” ที่จะต้อง “สัมผัสพื้น” เมื่อกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ตามแบบฉบับของไทย คือ เข่า 2 ฝ่ามือ 2 และหน้าผาก 1
เวลากราบพระ ถ้าจะให้งดงาม อย่าลืมถามตัวเองว่า “กราบโดยให้อวัยวะทั้ง 5 สัมผัสพื้น” = “เบญจางคประดิษฐ์” ได้ไหม ?
บาลีวันละคำ (50)
22-6-55
ห้องพระ
23-7-55
เบญจางคประดิษฐ์
การกราบด้วยตั้งอวัยวะทั้ง ๕ อย่างลงกับพื้น คือกราบเอาเข่าทั้งสอง มือทั้งสอง และศีรษะ (หน้าผาก) จดลงกับพื้น
น. การกราบโดยให้อวัยวะทั้ง ๕ คือ เข่าทั้ง ๒ มือทั้ง ๒ และหน้าผาก จดลงกับพื้น.
การทำความเคารพโดยก้มกราบด้วยใช้หน้าผาก forehead, สะเอว waist, ข้อศอก elbows, เข่า knees, เท้า feet