บาลีวันละคำ

สุคติ – ทุคฺคติ (บาลีวันละคำ 49)

สุคติ – ทุคฺคติ

อ่านว่า สุ-คะ-ติ, ทุก-คะ-ติ

(โปรดสังเกต สุ- ไม่ซ้อน ค, ทุ- ซ้อน คฺ)

เอามาใช้ในภาษาไทยเป็น สุคติ, ทุคติ อ่านว่า สุก-คะ-ติ, ทุก-คะ-ติ ก็ได้

สุคติ คือ ภูมิ หรือแดนกำเนิด หรือ “สถานภาพ” ที่เมื่อไปเกิด คือไปอยู่ไปเป็นแล้ว “ดี” คือมีโอกาสทำความดีได้ง่าย ได้แก่ มนุษย์ และสวรรค์

ทุคติ คือ ภูมิ หรือแดนกำเนิด หรือ “สถานภาพ” ที่เมื่อไปเกิด คือไปอยู่ไปเป็นแล้ว “ไม่ดี” คือไม่มีโอกาสทำความดี หรือมีก็ทำได้ยาก ได้แก่ นรก ดิรัจฉาน เปรต

ในภาษาไทย มักเขียนผิดเป็น สุขคติ/ทุกข์คติ เนื่องจากไปเข้าใจผิดว่า มาจากคำว่า สุข + คติ, ทุกข์ + คติ (ไม่มีคำรวมศัพท์เช่นนี้ในภาษาบาลี)

สุขคติ (เขียนผิด) จะต้องแปลว่า “ภูมิหรือแดนกำเนิดที่มีแต่ความสุข”

ทุกข์คติ (เขียนผิด) จะต้องแปลว่า “ภูมิหรือแดนกำเนิดที่มีแต่ความทุกข์”

ภูมิหรือแดนกำเนิดที่มีแต่ความสุขอย่างเดียวไม่มีทุกข์เลย หรือมีแต่ความทุกข์อย่างเดียวไม่มีสุขเลยนั้น ไม่มี แม้แต่เทวดาก็ยังมีเวลา “เสียใจ” สัตว์นรกก็ยังมีเวลา “ดีใจ”

เพราะฉะนั้น สุขคติ หรือ ทุกข์คติ จึงไม่มี

มีแต่ “สุคติ = ภูมิที่ไปเกิดแล้วดี” หรือ “ทุคติ = ภูมิที่ไปเกิดแล้วไม่ดี”

บาลีวันละคำ (49)

21-6-55

สุคติ

  [สุคะติ, สุกคะติ] น. ภูมิที่ถือว่าไปเกิดแล้วมีความสุขความสบาย, สวรรค์, เช่น ขอให้วิญญาณไปสู่สุคติ. (ป., ส.).

ทุคติ

  [ทุกคะติ] น. ภูมิที่ถือว่าไปเกิดแล้วมีความทุกข์ความลําบาก, นรก. (ป. ทุคฺคติ).

คติ  

1. การไป, ทางไป, ความเป็นไป, ทางดำเนิน, วิธี, แนวทาง, แบบอย่าง

2. ที่ไปเกิดของสัตว์, ภพที่สัตว์ไปเกิด, แบบการดำเนินชีวิต มี ๕ คือ

        ๑. นิรยะ นรก

        ๒. ติรัจฉานโยนิ กำเนิดดิรัจฉาน

        ๓. เปตติวิสัย แดนเปรต

        ๔. มนุษย์ สัตว์มีใจสูงรู้คิดเหตุผล

        ๕. เทพ ชาวสวรรค์ ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึง อกนิษฐพรหม;

        ใช้คำเรียกเป็นชุดว่า: นิรยคติ ติรัจฉานคติ เปตคติ มนุษยคติ เทวคติ, ๓ คติแรกเป็น ทุคติ (ที่ไปเกิดอันชั่ว หรือแบบดำเนินชีวิตที่ไม่ดี) ๒ คติหลังเป็น สุคติ (ที่ไปเกิดอันดี หรือแบบดำเนินชีวิตที่ดี)

        สำหรับทุคติ ๓ มีข้อสังเกตว่า บางทีเรียกว่า อบาย หรืออบายภูมิ แต่อบายภูมินั้นมี ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย ดิรัจฉาน, อรรถกถากล่าวว่า (อุ.อ.๑๔๕;  อิติ.อ.๑๔๕) การที่มีจำนวนไม่เท่ากัน ก็เพราะรวมอสุรกาย เข้าในเปตติวิสัยด้วย จึงเป็นทุคติ ๓; ดู อบาย

        คติ ๕ นี้ เมื่อจัดเข้าใน ภพ ๓ พึงทราบว่า ๔ คติแรกเป็นกามภพทั้งหมด ส่วนคติที่ ๕ คือ เทพ มีทั้งกามภพ รูปภพ และอรูปภพ (เทพนั้น แบ่งออกไปเป็น ก.เทวดาในสวรรค์ ๖ ชั้น อยู่ในกามภพ ข.รูปพรหม ๑๖ ชั้น อยู่ในรูปภพ และ ค.อรูปพรหม ๔ ชั้น อยู่ในอรูปภพ); เทียบ ภพ

        เมื่อจัดเข้าใน ภูมิ ๔ พึงทราบว่า ๔ คติแรกเป็นกามาวจรภูมิทั้งหมด ส่วนคติที่ ๕ คือ เทพ มีทั้งกามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ และอรูปาวจรภูมิ (ทำนองเดียวกับที่กล่าวแล้วใน ภพ ๓) แต่มีข้อพิเศษว่า ภูมิสูงสุด คือภูมิที่ ๔ อันได้แก่ โลกุตตรภูมินั้น แม้ว่าพวกเทพจะอาจเข้าถึงได้ แต่มนุษยคติเป็นวิสัยที่มีโอกาสลุถึงได้ดีที่สุด; เทียบ ภูมิ

สุคติ 

คติดี, ทางดำเนินที่ดี, แดนกำเนิดอันดีที่สัตว์ผู้ทำกรรมดีตายแล้วไปเกิด ได้แก่ มนุษย์ และ เทพ; ตรงข้ามกับ ทุคติ; ดู คติ

ทุคติ

คติไม่ดี, ทางดำเนินที่ไม่ดีมีความเดือดร้อน, ที่ไปเกิดอันชั่ว หรือที่ไปเกิดของผู้ทำกรรมชั่ว, แดนกำเนิดที่ไม่ดีมากไปด้วยความทุกข์ มี ๓ ได้แก่ นรก ดิรัจฉาน เปรต; คติที่ไม่ดี คือ ทุคติ ๓ นี้ ตรงข้ามกับคติที่ดี คือ สุคติ ๒  (มนุษย์ และ เทพ) รวมทั้งหมดเป็น คติ ๕

        ที่ไปเกิดหรือแดนกำเนิดไม่ดีนี้ บางทีเรียกว่า อบาย หรืออบายภูมิ (แปลว่าแดนซึ่งปราศจากความเจริญ) แต่อบายภูมินั้นมี ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย ดิรัจฉาน, เหตุให้จำนวนไม่เท่ากันนั้น มีคำอธิบาย ดังที่อรรถกถาบางแห่งกล่าวไว้ว่า (อุ.อ.๑๔๕; อิติ.อ.๑๔๕) ในกรณีนี้ รวม อสุรกาย เข้าในจำพวกเปรตด้วย จึงเป็นทุคติ ๓; ตรงข้ามกับ สุคติ; ดู คติ, อบาย

        อนึ่ง ในความหมายที่ลึกลงไป ถือว่า นรก เปรต จนถึงติรัจฉาน ที่เป็นทุคติก็โดยเทียบว่ามีทุกข์เดือดร้อนกว่าเทวะและมนุษย์ แต่กำเนิดหรือแดนเกิดทั้งหมดทั้งสิ้น แม้แต่ที่เรียกว่าสุคตินั้น ไม่ว่าจะเป็นเทวดา หรือพรหมชั้นใดๆ ก็เป็นทุคติ ทั้งนั้น (เนตฺติ.๖๑/๔๕; ๑๐๖/๑๐๕) เมื่อเทียบกับนิพพาน เพราะคติเหล่านั้นยังประกอบด้วยทุกข์ หรือเป็นคติของผู้ที่ยังมีทุกข์

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย