บาลีวันละคำ

มุทุตา (บาลีวันละคำ 3,019)

มุทุตา

คนละคำกับ “มุทิตา

เมื่อมีการแสดงความยินดีโดยปรารภเหตุอันควรยินดีต่างๆ เช่น ได้งานทำ ได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง ได้บุตรธิดาเป็นต้น เรามีคำใช้กันอยู่คำหนึ่ง คือ “มุทิตา” โดยพูดว่า “แสดงมุทิตาจิต” หรือ “แสดงมุทิตา” บางทีก็พูดลัดตัดสั้น เช่น “ไปมุทิตาท่าน” (ความหมายตรงกับคำว่า “ขอแสดงความยินดี”)

กรณีเช่นว่านี้ เคยมีผู้ใช้คำว่า “มุทุตา” แล้วก็มีผู้ใช้ตามกันไป และเคยได้ยินว่ามีผู้บอกว่า “มุทุตา” ก็ใช้ได้ มีความหมายเหมือนกัน คือมีความหมายเหมือนกับ “มุทิตา

(๑) “มุทุตา”  

ว่าโดยทางคำศัพท์ “มุทุตา” ก็เป็นรูปคำบาลี และมีใช้ในคัมภีร์ รากศัพท์มาจาก มุทุ (อ่อนโยน) + ตา ปัจจัย

(ก) “มุทุ” รากศัพท์มาจาก มุทฺ (ธาตุ = ยินดี) + อุ ปัจจัย

: มุทฺ + อุ = มุทุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยินดี” “สิ่งอันคนยินดี

มุทุ” หมายถึง นุ่ม, ไม่แข็ง, อ่อน, อ่อนโยน (soft, mild, weak, tender)

บาลี “มุทุ” สันสกฤตเป็น “มฤทุ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

มฤทุ : (คำคุณศัพท์) อ่อน, นุ่ม; เย็น; สถูล; ขี้เท่อ; โกมล; กัลยาณ; soft; cool; blunt; gentle, mild.”

(ข) มุทุ + ตา = มุทุตา แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่อ่อนโยน” “ความอ่อนโยน” ตรงกันข้ามกับความแข็งกระด้างหรืออวดดื้อถือดี

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มุทุตา” ว่า softness, impressibility, plasticity (ความนุ่ม, ความใจอ่อน, การปั้นแต่งได้)

คำว่า “มุทุตา” ที่มีใช้ในคัมภีร์ก็อย่างเช่น –

(1) กายมุทุตา (กา-ยะ-มุ-ทุ-ตา) ความอ่อนโยนทางกาย (pliancy of mental body)

(2) จิตฺตมุทุตา (จิด-ตะ-มุ-ทุ-ตา) ความอ่อนโยนแห่งจิต (pliancy of mind)

(๒) “มุทิตา” (มุ-ทิ-ตา)

รากศัพท์มาจาก มุทฺ (มุ-ทะ, ธาตุ = ยินดี, เบิกบาน) + อิ + ปัจจัย = มุทิต > มุทิตา หมายถึง ชื่นชม, ยินดี, พอใจ (pleased, glad, satisfied)

มุทิตา” ถ้าเป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า มีใจชื่นชม, มีใจปราโมทย์, ดีใจ (with gladdened heart, pleased in mind)

คำว่า “มุทิตา” มีความหมายทำนองเดียวกับคำว่า “อนุโมทนา

มุทิตา” เป็นธรรมข้อที่ 3 ในพรหมวิหาร 4

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มุทิตา” ว่า soft-heartedness, kindliness, sympathy (ความมีใจอ่อน, ความกรุณา, ความเห็นอกเห็นใจ)

ความแตกต่างระหว่าง “มุทุตา” กับ “มุทิตา” ก็คือ –

มุทุตา” เป็นคุณภาพของอาการกิริยาและจิตใจที่มีอยู่ในตัวเอง

มุทิตา” เป็นอาการกิริยาที่แสดงออกไปภายนอก

หลักนี้ทำให้ตัดสินได้ กล่าวคือ เมื่อผู้อื่นได้ดีมีสุขสมหวัง เราแสดงอาการกิริยาต่อเขา เป็นการแสดงออกต่ออารมณ์ภายนอก จะใช้ “มุทุตา” ไม่ได้ เพราะ “มุทุตา” เป็นคำบ่งบอกถึงคุณภาพจิตที่มีอยู่ในภายในของตัวเองที่พร้อมจะใช้งาน ยังไม่ใช่การลงมือใช้งาน

กรณีเช่นนี้ต้องใช้คำว่า “มุทิตา” ซึ่งเป็นอาการของจิตที่แสดงออก คือมีอาการเช่นนั้นอยู่ในจิตด้วย และแสดงออกไปด้วย

อาจกล่าวได้ว่า –

คุณภาพของจิตที่อยู่นิ่งๆ เป็น “มุทุตา

จิตแสดงความยินดีออกไปเป็น “มุทิตา

แสดงความยินดี จึงต้องใช้คำว่า “มุทิตา” ไม่ใช่ “มุทุตา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รักด้วยคำพูด ไม่ได้ครึ่งของรักด้วยการกระทำ

: รู้คุณด้วยคำพูด ไม่ได้ครึ่งของรู้ด้วยการกระทำ

#บาลีวันละคำ (3,019)

17-9-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย