บาลีวันละคำ

ปาฐกถาธรรม (บาลีวันละคำ 3,018)

ปาฐกถาธรรม

แสดงธรรมแบบไม่ต้องมีเปลือก

อ่านว่า ปา-ถะ-กะ-ถา-ทำ

ประกอบด้วยคำว่า ปาฐกถา + ธรรม

(๑) “ปาฐกถา” แยกศัพท์เป็น ปาฐ + กถา

(ก) “ปาฐ” อ่านว่า ปา-ถะ รากศัพท์มาจาก ปฐฺ (ธาตุ = สวด, พูด) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(ฐฺ) เป็น อาด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย

: ปฐฺ + = ปฐณ > ปฐ > ปาฐ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อาการอันเขาสวด” “บทอันเขาพูด

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “ปาฐ” ว่า การอ่าน, การสวด, บทสวด, พระบาลี

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปาฐ” ว่า reading, text-reading; passage of a text, text (การอ่าน, การอ่านตัวบท; ข้อความในตัวบท, ตัวบท)

บาลี “ปาฐ” สันสกฤตก็เป็น “ปาฐ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปาฐ : (คำนาม) การเล่าเรียนพระเวทหรือพระธรรม, อันนับว่าเปนมหาสังสการหนึ่งในจำนวนห้าของชาวฮินดู; การสังวัธยาย, การอ่านหรือเล่าเรียนทั่วไป; studying in Vedas or scriptures, considered at one of the five great sacraments of the Hindus; perusal, reading or study in general.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปาฐ-, ปาฐะ : (คำแบบ) (คำนาม) เรื่องราว, บาลี, คัมภีร์, วิธีสาธยายคัมภีร์พระเวท. (ป., ส.).”

(ข) “กถา” รากศัพท์มาจาก กถฺ (ธาตุ = กล่าว) + (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กถฺ + = กถ + อา = กถา แปลตามศัพท์ว่า “เรื่องอันท่านกล่าวไว้

กถา” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การพูด, การคุย, การสนทนา (talk, talking, conversation)

(2) ถ้อยคำ, เทศนา, ปาฐกถา (speech, sermon, discourse, lecture)

(3) เรื่องยาวๆ (a longer story)

(4) คำพูด, ถ้อยคำ, คำแนะนำ (word, words, advice)

(5) การอธิบาย, การขยายเนื้อความ (explanation, exposition)

(6) การสนทนาหรืออภิปราย (discussion)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กถา : (คำนาม) ถ้อยคํา, เรื่อง, คําอธิบาย, คํากล่าว. (ป.).”

ปาฐ + กถา = ปาฐกถา แปลตามศัพท์ว่า “การกล่าวถ้อยคำ” หรือ “ถ้อยคำอันเขากล่าว

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปาฐกถา : (คำนาม) ถ้อยคําหรือเรื่องราวที่บรรยายในที่ชุมนุมชนเป็นต้น. (คำกริยา) บรรยายเรื่องราวในที่ชุมนุมชนเป็นต้น. (ป.).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “ปาฐกถา” เป็นคำบาลี (วงเล็บ ป. คือ ปาลิ หมายถึงภาษาบาลี) แต่พึงทราบว่า เป็นคำบาลีก็จริง แต่เป็นคำที่บัญญัติขึ้นในภาษาไทย ยังไม่พบรูปคำเช่นนี้ในคัมภีร์

(๒) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ปาฐกถา + ธรรม = ปาฐกถาธรรม แปลโดยประสงค์ว่า “การกล่าวธรรม” คือการบรรยายธรรมในที่ชุมนุมชนเป็นต้น

ปาฐกถาธรรม” เป็นคำที่คิดขึ้นเพื่อเรียกการแสดงธรรมแบบใหม่ซึ่งต่างจาก “พระธรรมเทศนา” หรือที่เรียกรู้กันว่า “เทศน์

ความแตกต่าง :

พระธรรมเทศนา” หรือ “เทศน์” ต้องทำอย่างเป็นพิธีการ พระธรรมกถึกหรือองค์แสดงธรรมต้องนั่งบนธรรมาสน์ เมื่อเริ่มพิธีต้องบูชาพระรัตนตรัย รับศีล กล่าวคำอาราธนาธรรม ผู้ฟังต้องประนมมือตลอดเวลาที่พระเทศน์

พระธรรมกถึกต้องถือคัมภีร์เทศน์ ตั้งนะโม ยกหัวข้อธรรมที่เรียกว่า “นิกเขปบท” เป็นภาษาบาลีขึ้นนำก่อนแล้วจึงแสดงเนื้อหา

เนื้อหาที่แสดงต้องนำมาจากคัมภีร์ คือพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกาเป็นต้น (ที่ต้องถือคัมภีร์ก็เนื่องมาจากเหตุข้อนี้) ทำหน้าที่เหมือน “ทูตอ่านสาส์น” คือความในคัมภีร์ว่าไว้อย่างไรก็แสดงไปตามนั้น

ถ้าจะมีคำอธิบายขยายความ คำอธิบายนั้นก็ต้องอ้างอิงจากคัมภีร์ ไม่ใช่คิดเอาเองหรือเข้าใจเอาเอง “อัตโนมัตยาธิบาย” คือความคิดเห็นหรือความเข้าใจส่วนตัว หากจะมีก็น้อยที่สุด

รวมความคือ แสดงธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่แสดงธรรมะของข้าพเจ้า

นิยมจบกระแสความด้วยคำว่า “เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้” จบแล้วต้องอนุโมทนาเป็นภาษาบาลี คือยะถา-สัพพี แล้วจึงลงจากธรรมาสน์ เป็นอันจบการแสดงพระธรรมเทศนา

ปาฐกถาธรรม” ไม่ต้องมีธรรมาสน์ ไม่ต้องกล่าวคำอาราธนาธรรม ไม่ต้องรับศีล ผู้ฟังไม่ต้องประนมมือ

องค์แสดงจะนั่งหรือยืนก็ได้ ไม่ต้องถือคัมภีร์ ไม่ต้องตั้งนะโม ไม่ต้องยกนิกเขปบท ถึงเวลาก็พูดไปตามที่ประสงค์จะพูด ไม่จำเป็นต้องอ้างคัมภีร์

จบแล้วไม่ต้องยะถา-สัพพี จบไปเฉยๆ

อภิปราย :

คนสมัยใหม่มักเห็นว่า รูปแบบของ “พระธรรมเทศนา” หรือ “เทศน์” นั้น เร่อร่า รุ่มร่าม รุงรัง ยืดยาด อืดอาด โอ้เอ เหมือนกับว่าต้องการเนื้อธรรมะล้วนๆ ไม่ต้องการรูปแบบพิธีการใดๆ ทั้งสิ้น

เพราะเหตุนี้ จึงมีผู้คิดรูปแบบ “ปาฐกถาธรรม” ขึ้นมาสนองความต้องการ

มองในแง่ “การตลาด” นับว่าประสบความสำเร็จอย่างดี เพราะคนเรามีแนวโน้มที่จะชอบอะไรแบบง่ายๆ อยู่แล้ว

แต่ถ้ามองในแง่ “สุนทรียะ” คือความละเอียดอ่อน “ปาฐกถาธรรม” มีแต่ “ความง่าย” แต่ตัด “ความงาม” ออกไปเกือบหมด ซ้ำยังลดทอนความอุตสาหะของผู้ฟังลงไปเป็นอันมาก

พระก็ไม่ต้องไหว้

ศีลก็ไม่ต้องรับ

มือก็ไม่ต้องประนม

อนุโมทนาก็ไม่ต้องมี

ถ้าจะอุปมาตามทัศนะของผู้เขียนบาลีวันละคำ –

พระธรรมเทศนา” เหมือนไม้ใหญ่ที่ยืนต้นพร้อมอยู่ทั้งกิ่งใบร่มครึ้ม

ปาฐกถาธรรม” เหมือนเสาไม้แก่นที่ยืนเด่นอยู่ต้นเดียว

งามไปคนละแบบ แล้วแต่ว่าใครจะต้องการแบบไหน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ประคองมือเปล่าประนมฟังพระธรรมเทศนา

เจ้ายังอุทธรณ์ว่าไม่ไหว

: แล้วนี่จะเอามือใคร

ไปประคับประคองสังคม

#บาลีวันละคำ (3,018)

16-9-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย