ศาลสถิตยุติธรรม (บาลีวันละคำ 3,025)
ศาลสถิตยุติธรรม
คำโบราณ แต่ความหมายยังเป็นปัจจุบัน
อ่านว่า สาน-สะ-ถิด-ยุด-ติ-ทำ
ประกอบด้วยคำว่า ศาล + สถิต + ยุติธรรม
(๑) “ศาล”
ตามรูปคำรูปความ น่าจะตรงกับคำบาลีว่า “สาลา” รากศัพท์มาจาก สลฺ (ธาตุ = ไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือยืดเสียง อะ ที่ ส-(ลฺ) เป็น อา (สลฺ > สาล) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สลฺ + ณ = สลณ > สล > สาล + อา = สาลา แปลตามศัพท์ว่า “โรงเรือนเป็นที่ผู้คนไปหา”
“สาลา” หมายถึง ห้องโถง (มีหลังคาและมีฝาล้อมรอบ), ห้องใหญ่, บ้าน; เพิง, โรงสัตว์ (a large [covered & enclosed] hall, large room, house; shed, stable)
ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศาลา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศาลา : (คำนาม) อาคารทรงไทย ปล่อยโถง ไม่กั้นฝา ใช้เป็นที่พักหรือเพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาวัด ศาลาที่พัก ศาลาท่านํ้า, โดยปริยายหมายถึงอาคารหรือสถานที่บางแห่ง ใช้เพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาพักร้อน ศาลาสวดศพ. (ส.; ป. สาลา).”
สาลา > ศาลา > ศาล
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ศาล” ในภาษาไทยไว้ดังนี้ –
(๑) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) : องค์กรฝ่ายตุลาการซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดี, ผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดี
(๒) (คำนาม) : ที่ชำระความ เช่น ศาลแพ่ง ศาลอาญา
(๓) (คำนาม) : ที่สิงสถิตของเทวดา เทพารักษ์ หรือเจ้าผี เป็นต้น เช่น ศาลเทพารักษ์ ศาลเจ้า ศาลเจ้าแม่ทับทิม.
ในที่นี้ “ศาล” ใช้ในความหมายตามข้อ (๑) และ (๒)
(๒) “สถิต”
บาลีเป็น “ฐิต” อ่านว่า ถิ-ตะ รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่, ดำรงอยู่, ยืนอยู่) + ต ปัจจัย, แปลง อา ที่ ฐา เป็น อิ (ฐา > ฐิ)
: ฐา + ต = ฐาต > ฐิต (คำกริยาและคุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “ตั้งอยู่แล้ว” หมายถึง ยืนอยู่, ไม่เคลื่อนไหว, ดำรงอยู่ (standing, immovable, being)
บาลี “ฐิต” สันสกฤตเป็น “สฺถิต”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“สฺถิต : (คำวิเศษณ์) อันไม่เคลื่อนที่; อันอยู่หรือหยุดแล้ว; อันตั้งใจแล้ว; ตรงหรือสัตย์ซื่อ; สาธุหรือธารมิก; อันได้ตกลงแล้ว; immovable or steady; stayed or stopped; determined or resolved; upright, virtuous; agreed.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สถิต : (คำกริยา) อยู่, ยืนอยู่, ตั้งอยู่, (ใช้เป็นคํายกย่องแก่สิ่งหรือบุคคลที่อยู่ในฐานะสูง) เช่น พระเจ้าสถิตบนสวรรค์ พระมหากษัตริย์สถิตบนพระที่นั่ง สมเด็จพระสังฆราชสถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร. (ส. สฺถิต; ป. ฐิต).”
(๓) “ยุติธรรม”
แยกศัพท์เป็น ยุติ + ธรรม
(ก) “ยุติ” บาลีเป็น “ยุตฺติ” (ต 2 ตัว มีจุดใต้ ต ตัวหน้า) อ่านว่า ยุด-ติ รากศัพท์มาจาก ยุชฺ (ธาตุ = ประกอบ) + ต ปัจจัย, แปลงที่สุดธาตุ (คือ ชฺ) กับ ต เป็น ตฺต + อิ ปัจจัย
: ยุชฺ + ต = ยุชต > ยุตฺต + อิ = ยุตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบแล้ว”
“ยุตฺติ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การประยุกต์, การใช้ (application, use)
(2) ความเหมาะสม (fitness)
(3) (ความหมายทางตรรกศาสตร์) ความเหมาะสม, การแปลความที่ถูกต้อง, ความถูกต้องแห่งความหมาย ([logical] fitness, right construction, correctness of meaning)
(4) กลอุบาย, วิธีกระทำ, การปฏิบัติ (trick, device, practice)
บาลี “ยุตฺติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ยุติ” (ตัด ต ออกตัวหนึ่ง)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายในภาษาไทยไว้ว่า –
(1) ยุติ– ๑ : (คำกริยา) ชอบ, ถูกต้อง. (ป. ยุตฺติ; ส. ยุกฺติ).
(2) ยุติ ๒ : (คำกริยา) ตกลง, จบ, เลิก, เช่น เรื่องนี้ยุติแล้ว ไม่ต้องพิจารณาอีกต่อไป.
โปรดสังเกตว่า “ยุติ” ที่หมายถึง ชอบ, ถูกต้อง นั้น พจนานุกรมฯ เขียน “ยุติ-” (มีขีดท้าย) นั่นคือ ต้องมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย เช่นในที่นี้คือ ยุติ + ธรรม = ยุติธรรม
(ข) “ธรรม” บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)
(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)
(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)
(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้”
“ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายตามข้อ (5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง
ยุตฺติ + ธมฺม = ยุตฺติธมฺม > ยุติธรรม แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมคือความถูกต้อง”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายในภาษาไทยไว้ว่า –
“ยุติธรรม : (คำนาม) ความเที่ยงธรรม, ความชอบธรรม, ความชอบด้วยเหตุผล, เช่น ศาลย่อมทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม; ชื่อกระทรวงที่มีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการศาลยุติธรรม แต่ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี. (คำวิเศษณ์) เที่ยงธรรม, ไม่เอนเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่ง, ชอบด้วยเหตุผล, เช่น ราคายุติธรรม กรรมการตัดสินอย่างยุติธรรม.”
การประสมคำ :
๑ ศาล + สถิต = ศาลสถิต แปลว่า “ศาลอันเป็นที่ดำรง-(ความยุติธรรม)”
๒ สถิต + ยุติธรรม = สถิตยุติธรรม แปลว่า “(ศาล) อันเป็นที่ดำรงความยุติธรรม”
๓ ศาล + สถิต + ยุติธรรม = ศาลสถิตยุติธรรม แปลว่า “ศาลอันเป็นที่ดำรงความยุติธรรม”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายในภาษาไทยไว้ว่า –
“ศาลสถิตยุติธรรม : (คำที่ใช้ในกฎหมาย; คำโบราณ) (คำนาม) เป็นคำรวมที่ใช้เรียกศาลยุติธรรมทั้งปวง.”
ที่คำว่า “ศาลยุติธรรม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“ศาลยุติธรรม : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง ที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลทหาร.”
อภิปรายขยายความ :
แค่ไหนอย่างไรเรียกว่า “ยุติธรรม”?
คำว่า “ยุติ” ในภาษาไทย เรามักเข้าใจกันว่าหมายถึง-จบ, เลิก, ไม่ทำต่อไปอีก เช่น “เรื่องนี้ยุติแล้ว ไม่ต้องพิจารณาอีก” “กรรมการยุติการชก”
แต่ในภาษาบาลี “ยุตฺติ” ไม่ได้แปลว่า จบ หรือเลิกกันไป แต่มีความหมายหลักว่า “ความเหมาะสม” ในด้านต่างๆ เช่น –
(1) การประยุกต์ = ปรับใช้ให้เหมาะสม
(2) ความเป็นธรรม, ความถูกต้อง = เหมาะสมกับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น
(3) การแปลความที่ถูกต้อง, ความถูกต้องแห่งความหมาย (ใช้ในทางตรรกศาสตร์) = ตีความได้เหมาะสม
(4) กลอุบาย, วิธีกระทำ, การปฏิบัติ = ทำและใช้ให้เหมาะสมจนเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดี
คำว่า “ยุติธรรม” เราก็เอาคำว่า “ยุตฺติ” ในความหมายในข้อ (2) มาใช้ กล่าวคือ “กระบวนการทำผู้มีสิทธิ์ไม่ให้เสียสิทธิ์ และทำผู้ไม่มีสิทธิ์ไม่ให้ได้สิทธิ์” หมายถึงความเที่ยงธรรม, ความชอบธรรม, ความชอบด้วยเหตุผล
เหตุที่ “ยุติ” ถูกใช้ในความหมายว่า “จบ, เลิก” น่าจะเป็นเพราะเมื่อสิ่งนั้นหรือเรื่องนั้นถูกดำเนินการให้เกิด “ความเหมาะสม” แล้วก็เป็นที่พอใจ เมื่อพอใจก็ไม่ต้องทำอะไรอีกต่อไป ก็คือ จบ
สรุปว่า “ยุติธรรม” ในหมู่มนุษย์ที่เจริญแล้วไม่ใช่แค่จบ แต่ต้องจบอย่างถูกต้อง เหมาะสม เป็นที่ชื่นชมยินดีของสาธุชนด้วย
…………..
วันที่ 23 กันยายน 2563 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องอดีตพระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยา และผู้ช่วย คดีฟอกเงิน ทุจริตจัดสรรงบประมาณสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่ามัวแต่รอความยุติธรรมจากคนรอบข้าง
: แต่จงสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวท่านเอง
#บาลีวันละคำ (3,025)
23-9-63