บาลีวันละคำ

อนุสัย (บาลีวันละคำ 3,033)

อนุสัย

มะเร็งร้ายที่แฝงเร้น

อ่านว่า อะ-นุ-ไส

อนุสัย” เขียนแบบบาลีเป็น “อนุสย” อ่านว่า อะ-นุ-สะ-ยะ รากศัพท์มาจาก อนุ + สย

(ก) “อนุ” (อะ-นุ) เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –

(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind)

(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)

นักเรียนบาลีท่องกันมาว่า “อนุ = น้อย, ภายหลัง, ตาม” และที่เรียนรู้กันต่อมา คือ “เนืองๆ” หรือ “บ่อยๆ

(ข) “สย” มาจาก “สิ” ธาตุ คือ อนุ + สิ (ธาตุ = นอน) + (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (สิ > เส > สย)

: อนุ + สิ = อนุสิ + = อนุสิ > อนุเส > อนุสย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานเพราะยังละไม่ได้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุสย” ว่า Bent, bias, proclivity, the persistence of a dormant or latent disposition, predisposition, tendency (ความมีใจเอนเอียง, ความมีใจโอนเอียง, กิเลสเป็นเหตุนอนตาม, ความฝังแน่นของอารมณ์ที่แอบแฝงอยู่หรือซ่อนเร้นอยู่ภายใน, สิ่งจูงใจ, อนุสัย)

บาลี “อนุสย” ภาษาไทยใช้เป็น “อนุสัย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อนุสัย : (คำนาม) กิเลสที่สงบนิ่งอยู่ในสันดาน, กิเลสอย่างละเอียด มี ๗ อย่าง ได้แก่ ๑. กามราคะ = ความกำหนัดในกาม ๒. ปฏิฆะ = ความขัดใจคือโทสะ ๓. ทิฏฐิ = ความเห็นผิด ๔. วิจิกิจฉา = ความลังเลสงสัย ๕. มานะ = ความถือตัว ๖. ภวราคะ = ความกำหนัดในภพ ๗. อวิชชา = ความไม่รู้แจ้งคือโมหะ. (ป. อนุสย; ส. อนุศย).”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [288] แสดงเรื่อง “อนุสัย” ไว้ดังนี้ –

…………..

อนุสัย 7 (กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน — Anusaya: latent tendencies)

1. กามราคะ (ความกำหนัดในกาม, ความอยากได้ติดใจในกาม — Kāmarāga: lust for sensual pleasures)

2. ปฏิฆะ (ความขัดใจ, ความหงุดหงิดขัดเคือง คือ โทสะ — Paṭigha: repulsion; irritation; grudge)

3. ทิฏฐิ (ความเห็นผิด, การยึดถือความเห็น เอาความคิดเห็นเป็นความจริง — Diṭṭhi: wrong view; speculative opinion)

4. วิจิกิจฉา (ความลังเล, ความสงสัย — Vicikicchā: doubt; uncertainty)

5. มานะ (ความถือตัว — Māna: conceit)

6. ภวราคะ (ความกำหนัดในภพ, ความอยากเป็น อยากยิ่งใหญ่ อยากยั่งยืน — Bhavarāga: lust for becoming)

7. อวิชชา (ความไม่รู้จริง คือ โมหะ — Avijjā: ignorance)

อนุสัย 7 นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังโยชน์ 7

…………..

แถม :

กิเลสที่มีอยู่ในตัวคนท่านว่ามี 3 ระดับ คือ –

วีติกมกิเลส (วี-ติก-กะ-มะ-) กิเลสที่ล้นออกมาทางกิริยาวาจา คือลงมือกระทำ เช่นทุบตีด่าว่ากันเป็นต้น

ปริยุฏฐานกิเลส (ปะ-ริ-ยุด-ถา-นะ-) กิเลสที่เผารุมคุกรุ่นอยู่ภายในใจ คือไม่แสดงออกก็จริง แต่ก็ทำให้เดือดร้อนวุ่นวายอยู่ข้างใน ตัวเองรู้ได้เอง

อนุสัยกิเลส (อะ-นุ-ไส-) กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน ยามปกติเหมือนไม่มีอะไร แต่พอมีอารมณ์ภายนอกไปกวนเข้าจึงจะขุ่นขึ้นมา

อนุสัยกิเลสนี่แหละคือ “อนุสย” หรือ “อนุสัย” ที่กำลังพูดถึงนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เขานิ่งอย่านึกว่าเขากลัว

: กิเลสนอนนิ่งอยู่ในตัวอย่านึกว่ากิเลสไม่มี

#บาลีวันละคำ (3,033)

1-10-63 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย