บาลีวันละคำ

คาถา – กถา (บาลีวันละคำ 3,032)

คาถากถา

ต่างกันอย่างไร

(๑) “คาถา

รากศัพท์มาจาก คา (ธาตุ = ส่งเสียง) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: คา + = คาถ + อา = คาถา แปลตามศัพท์ว่า “วาจาอันเขาขับร้อง” หมายถึง คำกลอน, โศลก, คำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง (a verse, stanza, line of poetry)

ในภาษาบาลี คำว่า “คาถา” หมายถึงคําประพันธ์ประเภท “ร้อยกรอง” อย่างที่ภาษาไทยเรียกว่า กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์

คาถาบทหนึ่งจะมี 4 บาท หรือ 4 วรรค จำนวนคำแต่ละวรรคและตำแหน่งคำภายในวรรคที่จะต้องใช้เสียงสั้น-ยาว หนัก-เบา เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของคาถาแต่ละชนิด ทำนองเดียวกับกาพย์กลอนของไทยที่กำหนดว่าคำไหนต้องสัมผัสกับคำไหน

คาถา ในความหมายว่า “ร้อยกรอง” นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ฉันท์

ตัวอย่างคาถาหรือฉันท์ 1 บท ในภาษาบาลี เช่นปัฐยาวัตฉันท์ มีบาทละ 8 พยางค์ –

อาโรคฺยปรมา  ลาภา

สนฺตุฏฺฐีปรมํ  ธนํ

วิสฺสาสปรมา  ญาติ

นิพฺพานปรมํ  สุขํ.

คาถา” แปลว่า “วาจาอันเขาขับร้อง” ความประสงค์ของการแต่งถ้อยคำให้เป็นคาถา ก็เพื่อจะได้ขับขานเป็นท่วงทำนองให้ชวนฟังกว่าการพูดธรรมดานั่นเอง

ในภาษาไทย คำว่า “คาถา” มักเข้าใจกันว่า เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เสกเป่าหรือร่ายมนต์ขลังให้เกิดเป็นอิทธิฤทธิ์บันดาลผลที่ต้องการ

เพื่อเสริมความเข้าใจที่ถูกต้อง โปรดดูความหมายของ “คาถา” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

คาถา : (คำนาม) ‘คาถา,’ กวิตา, คำประพันธ์; โศลก; ฉันทัส, คำฉันท์, พฤตต์; ดาล; เพลง, คำว่า ‘คีต, คีติ, รพ, ราพ, รวะ, ราวะ, เคยะ, คานะ’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; ประกฤตหรือภาษาใดภาษาหนึ่งซึ่งมิใช่สํสกฤต; ชื่อของอารยาฉันท์ (คำประพันธ์ซึ่งมีหกสิบอักษรมาตรา, จัดไว้ต่างๆ กัน); a verse; a stanza, metre; rhythm; a song, a chant; Prākrit or any language not Sanskrit; the name of the Āryā metre (a verse which contains sixty syllabic instants, variously arranged).”

จะเห็นว่า “คาถา” ในสันสกฤตก็ไม่มีความหมายไปในทางคำเสกเป่าเพื่อเกิดความขลังศักดิ์สิทธิ์แต่ประการใด

เหตุที่ “คาถา” ในภาษาไทยความหมายเคลื่อนที่ไปจากเดิมน่าจะเป็นเพราะคนไทยนับถือภาษาบาลีว่าเป็นคำพระ เมื่อเห็นคำสอนที่แต่งเป็น “คาถา” มีความหมายในทางดี จึงน้อมมาเป็นกำลังใจ เดิมก็คงเอามาท่องบ่นด้วยความพอใจในความหมายด้วยความรู้ความเข้าใจ แต่เมื่อนานเข้าก็ทิ้งความเข้าใจในหลักคำสอนที่มีอยู่ในถ้อยคำอันเป็น “คาถา” นั้นๆ คงยึดถือแต่เพียงถ้อยคำหรือเสียงโดยเชื่อว่าเมื่อท่องบ่นแล้วจะเกิดผลดลบันดาลให้สำเร็จในทางนั้นๆ คำว่า “คาถา” จึงกลายความหมายเป็นคำขลังศักดิ์สิทธิ์ไปในที่สุด

(๒) “กถา

รากศัพท์มาจาก กถฺ (ธาตุ = กล่าว) + (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กถฺ + = กถ + อา = กถา แปลตามศัพท์ว่า “เรื่องอันท่านกล่าวไว้

กถา” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การพูด, การคุย, การสนทนา (talk, talking, conversation)

(2) ถ้อยคำ, เทศนา, ปาฐกถา (speech, sermon, discourse, lecture)

(3) เรื่องยาวๆ (a longer story)

(4) คำพูด, ถ้อยคำ, คำแนะนำ (word, words, advice)

(5) การอธิบาย, การขยายเนื้อความ (explanation, exposition)

(6) การสนทนาหรืออภิปราย (discussion)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กถา : (คำนาม) ถ้อยคํา, เรื่อง, คําอธิบาย, คํากล่าว. (ป.).”

ความแตกต่าง :

คาถา : คำที่แต่งเป็นกาพย์กลอน (a verse, stanza, line of poetry)

กถา : คำพูดทั่วไป (talking, speech, word)

เช่น –

วิสาขบูชาคาถา : คำที่แต่งเป็นกาพย์กลอนบรรยายเรื่องวันวิสาขบูชา

วิสาขบูชากถา : ถ้อยคำธรรมดาที่บรรยายเรื่องวันวิสาขบูชา เช่น พระธรรมเทศนาเรื่อง “วิสาขบูชากถา

อภิปราย :

ผู้ที่ไม่ได้เรียนบาลีหรือไม่คุ้นเคยกับคำบาลีมักไม่เข้าใจว่า คำว่า “คาถา” กับคำว่า “กถา” ต่างกันอย่างไร จึงมักพูดคลุมๆ หรือมัวๆ กันไป โดยที่ตัวเองก็ไม่แน่ใจว่าต้องการจะพูดว่า “คาถา” หรือ “กถา” กันแน่

และเมื่อพูดคำว่า “คาถา” หรือ “กถา” ออกไปแล้ว ก็ยังไม่รู้หรือเข้าใจไม่ชัดเจนอยู่นั่นเองว่า “คาถา” คืออะไร และ “กถา” คืออะไร จึงปรากฏอยู่เสมอว่า มีผู้เรียกคำที่แต่งเป็นกาพย์กลอนภาษาบาลีว่า “กถา” และเรียกถ้อยคำธรรมดาที่บรรยายธรรมะ เช่นพระธรรมเทศนาที่พระเทศน์ว่า “คาถา

การที่เรียกเพราะความไม่เข้าใจเช่นนี้ ถ้าเรียกผิดกันมากเข้าก็มักจะมีท่านผู้ทำท่าจะรู้ออกมาอธิบายเป็นเชิงแก้แทนให้ว่า เรียกเช่นนั้นไม่ผิดหรอกด้วยเหตุผลเช่นนั้นเช่นนี้ พอคนเชื่อคำอธิบายกันมากๆ คำที่เรียกผิดพูดผิดนั้นเลยกลายเป็นถูกไปก็มี

วิธีแก้ ไม่ใช่ช่วยกันอธิบายผิดให้กลายเป็นถูก แต่ต้องช่วยกันให้ความรู้ที่ถูกต้องแล้วแก้ไขเรื่องที่ผิดนั้นให้กลับมาพูด มาเรียก หรือมาใช้กันให้ถูกต้อง

…………..

: แก้ไขผิดให้กลับเป็นถูก คือคนแท้

: อธิบายผิดให้กลายเป็นถูก คือคนแถ

ดูก่อนภราดา!

ท่านเป็นคนชนิดไหน?

#บาลีวันละคำ (3,032)

30-9-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย