ฉาตกภัย (บาลีวันละคำ 2,832)
ฉาตกภัย
อ่านว่า ฉา-ตะ-กะ-ไพ
แยกคำเป็น ฉาตก + ภัย
(๑) “ฉาตก”
บาลีอ่านว่า ฉา-ตะ-กะ รากศัพท์มาจาก ฉาทฺ (ธาตุ = กิน) + ต ปัจจัย, ลบที่สุดธาต (ฉาทฺ > ฉา) + ก สกรรถ (กะ สกัด คือเติม –ก เข้าข้างท้าย แต่ความหมายเท่าเดิม)
: ฉาทฺ + ต = ฉาทต > ฉาต + ก = ฉาตก แปลตามศัพท์ว่า “อันบุคคลจำต้องกิน”
“ฉาตก” ในบาลี ใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง หิว (hungry)
(2) เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ความหิว, ความอดอยาก (hunger, famine)
(๒) “ภัย”
บาลีเป็น “ภย” อ่านว่า พะ-ยะ รากศัพท์มาจาก ภี (ธาตุ = กลัว) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อี (ที่ ภี) เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย
: ภี + ณ = ภีณ > ภี > เภ > ภย แปลตามศัพท์ว่า “ความกลัว”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภย” เป็นอังกฤษว่า fear, fright, dread (ความกลัว, ความหวาดหวั่น, สิ่งที่น่ากลัว)
“ภย” ใช้ทับศัพท์ในภาษาไทยว่า “ภัย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภัย : (คำนาม) สิ่งที่น่ากลัว, อันตราย, เช่น อัคคีภัย คือ ภัยที่เกิดจากไฟ อุทกภัย คือ ภัยที่เกิดจากน้ำ. (ป., ส. ภย).”
ความหมายของ “ภย” ในบาลีคือ “ความกลัว” (fear) หรือ “สิ่งที่น่ากลัว” (fright) แต่ “ภัย” ในภาษาไทยน้ำหนักของความหมายอยู่ที่ “อันตราย” (danger, dangerous)
โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ที่ฝรั่งเป็นผู้ทำไม่ได้แปล “ภย” ว่า danger หรือ dangerous
ฉาตก + ภย = ฉาตกภย (ฉา-ตะ-กะ-พะ-ยะ) แปลว่า “สิ่งที่น่ากลัวอันเกิดแต่ความหิวโหย” หมายถึง ภัยอันเกิดแต่ความหิวอันเนื่องมาจากความอดอยาก (ไม่มีอาหารจะกิน)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ฉาตกภัย : (คำนาม) ภัยที่เกิดจากความแห้งแล้ง, ภัยที่เกิดจากข้าวยากหมากแพง. (ป. ฉาต, ฉาตก, ว่า หิว, อิดโรยเพราะการอดอาหาร).”
อภิปรายขยายความ :
“ฉาตกภัย” หมายถึง เกิดความอดอยากขึ้นทั่วไปอันเนื่องมาจากมีอาหารไม่พอกิน คือขาดแคลนอาหาร (อาจมีของใช้เพียงพอ แต่ขาดแคลนของกิน)
โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมฯ บอกความหมายแรกว่า “ภัยที่เกิดจากความแห้งแล้ง” ซึ่งในภาษาบาลีไม่มีความหมายนี้ แต่ตีความได้ว่า เพราะแห้งแล้งจึงอดอยาก จึงหิว
ในคัมภีร์บาลี คำว่า “ฉาตกภย” มักจะมาควบคู่กับ –
“ทุพฺภิกฺขภย” (ทุบ-พิก-ขะ-พะ-ยะ) = ทุพภิกขภัย ภัยที่เกิดจากของแพงและขาดแคลน > ขาดแคลนของใช้ (ถ้ากล่าวเฉพาะทุพภิกขภัยอย่างเดียว หมายถึงขาดแคลนอาหารด้วย)
“โรคภย” (โร-คะ-พะ-ยะ) แปลว่า “สิ่งที่น่ากลัวอันเกิดแต่โรค” หมายถึง ภัยที่เกิดจากโรคระบาด เป็นเหตุให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก
รวม “ฉาตกภย” เข้าด้วย เป็น 3 ภัย
ในที่บางแห่ง รวมภัยอีก 2 อย่างเข้าด้วย คือ –
“ราชภย” (รา-ชะ-พะ-ยะ) = ราชภัย ภัยที่เกิดจากทางราชการบ้านเมืองกดขี่ขูดรีดประชาชน
“โจรภย” (โจ-ระ-พะ-ยะ) = โจรภัย ภัยที่เกิดจากโจรผู้ร้ายชุกชุม
รวมทั้งหมดเป็น 5 ภัย
ภัยอื่นๆ ก็ยังมีอีก แต่ที่พูดถึงเป็นกลุ่มหรือเป็นชุด มักนิยมระบุภัยทั้ง 5 อย่างนี้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: จงกินเมื่อหิว
: แต่อย่ากินเมื่ออยาก
#บาลีวันละคำ (2,832)
14-3-63