บาลีวันละคำ

รัชชูปการ (บาลีวันละคำ 3,039)

รัชชูปการ

ใครอุปการะใคร

อ่านว่า รัด-ชู-ปะ-กาน

ประกอบด้วยคำว่า รัชช + อุปการ

(๑) “รัชช

เขียนแบบบาลีเป็น “รชฺช” (รัด-ชะ) รากศัพท์มาจาก ราช (พระราชา) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ), รัสสะ อา ที่ รา-(ช) เป็น อะ (ราช > รช), แปลง ที่ (รา)- กับ ที่ ณฺ ปัจจัย) เป็น ชฺช (ชฺ+ = ชฺช)

: ราช + ณฺย = ราชณฺย > รชณฺย > รชย > รชฺช แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นแห่งพระราชา

รชฺช” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง –

(1) ความเป็นพระราชา, ความเป็นเจ้า, อาณาจักร, จักรพรรดิ; รัชสมัย, ราชบัลลังก์ (kingship, royalty, kingdom, empire; reign, throne)

(2) ความเป็นเอกราช, อำนาจอธิปไตย (sovereignty)

ขอให้สังเกตขั้นตอนการกลายรูปของ “รชฺช”จะผ่านการเป็น “ราชณฺย” ด้วย

ราชณฺย” อ่านว่า รา-ชัน-ยะ ถ้าเขียนแบบไทย การันต์ที่ ก็จะเป็น “ราชัณย์” ตรงกับรูปคำสันสกฤตที่เป็น “ราชนฺย” (ขั้นตอนนี้ “-ชัณ-” บาลีเป็น เณร) นี่ก็คือคำที่พูดกันในภาษาไทยว่า รา-ชัน นั่นเอง

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ราชนฺย : (คำนาม) ‘ราชนย์,’ กษัตริย์, นรผู้ไสนิกหรือกษัตริยวรรณ; นามของอัคนิ; ต้นไม้; a Kshatriya, a man of the military or regal tribe; a name of Agni; a tree.”

ราชา > ราชณฺย ( > ราชนฺย) > รชฺช > รัชช

รชฺช” ตามปกติในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งเป็น “รัช” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

รัช ๒, รัช– : (คำนาม) ความเป็นพระราชา, ราชสมบัติ. (ป. รชฺช).”

แต่ในที่นี้ เนื่องจาก “รชฺช” มีคำที่ขึ้นต้นด้วยสระ คือ “อุปการ” มาต่อท้าย ซึ่งสามารถสนธิกันได้ จึงคงตัวสะกดไว้ตามเดิมเป็น “รัชช” เพื่อให้ -ช- ตัวหน้าเป็นตัวสะกด และ -ช ตัวหลังเป็นที่อาศัยของสระ อุ

(๒) “อุปการ

บาลีอ่านว่า อุ-ปะ-กา-ระ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + การ

(ก) ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “อุป-” :

อุป-” (ขีด – ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ) เป็นคำจำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค

นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “อุป : เข้าไป, ใกล้, มั่น

อุป” ในบาลีใช้ในความหมายตามบริบทต่างๆ ประมวลได้ดังนี้ –

(1) ข้างบน, บน (on upon, up)

(2) ข้างนอก (out)

(3) สุดแต่ (up to)

(4) สูงขึ้น, ข้างต้น (higher, above)

(5) ใกล้ชิด, ใกล้เคียง, ใกล้ (close by, close to, near)

(6) ทีเดียว, โดยประการทั้งปวง (quite, altogether)

(7) เกือบ, ราว ๆ, ค่อนข้าง, เล็กน้อย, รอง, โดย –, น้อย ๆ, ทำตามแบบ (nearly, about, somewhat, a little, secondary, by — , miniature, made after the style of)

(ข) “การ

บาลีอ่านว่า กา-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (กรฺ > การ)

: กรฺ + = กรณ > กร > การ แปลตามศัพท์ว่า “การทำ

การ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การกระทำ, กิริยาอาการ, วิธีทำ (doing, manner, way)

(2) กรรม, การบริการ, การกระทำที่แสดงความเมตตา หรือความเคารพ หรือความนับถือ (deed, service, act of mercy or worship, homage)

(3) ผู้ทำ หรือผู้จัดการ หรือผู้ค้า (one who does, handles or deals)

อุป + การ = อุปการ (อุ-ปะ-กา-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าไปทำ” หมายถึง ความอุปการะ, การช่วยเหลือ, การอนุเคราะห์, การทำบุญคุณ, การสงเคราะห์ (service, help, benefit, obligation, favour)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุปการ– ๑, อุปการะ : (คำนาม) ความช่วยเหลือเกื้อกูล, ความอุดหนุน, คู่กับ ปฏิการะ = การสนองคุณ, การตอบแทนคุณ. (คำกริยา) ช่วยเหลือเกื้อกูล, อุดหนุน. (ป., ส.).”

รชฺช + อุปการ ทีฆะ อุ– เป็น อู

: รชฺช + อุปการ = รชฺชุปการ > รชฺชูปการ > รัชชูปการ แปลว่า “การช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ทางราชการบ้านเมือง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

รัชชูปการ : (คำนาม) เงินช่วยราชการตามที่กําหนดเรียกเก็บจากราษฎรชายที่มิได้รับราชการทหารเป็นรายบุคคล.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –

รัชชูปการ : (คำโบราณ) (คำนาม) เงินช่วยราชการตามที่กำหนดเรียกเก็บจากชายฉกรรจ์ที่มีอายุตั้งแต่ ๑๘-๖๐ ปีที่มิได้รับราชการทหารหรือได้รับการยกเว้นเป็นรายบุคคล เริ่มในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระราชบัญญัติลักษณะการเก็บเงินรัชชูปการ พุทธศักราช ๒๔๖๒).”

พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ของอาจารย์เปลื้อง ณ นคร บอกไว้ดังนี้ –

รัชชูปการ : (คำนาม) ‘เครื่องอุปการแก่ราชสมบัติ’ หมายถึงเงินที่ราษฎรให้แผ่นดิน เป็นเงินเก็บจากชายฉกรรจ์ที่ไม่ได้รับราชการทหาร เลิกเก็บเมื่อใช้ พ.ร.บ. ภาษีเงินได้หลัง พ.ศ. ๒๔๗๕.”

เพิ่มเติม :

บทความเรื่อง “อำนาจของสตรีสยามกับชายโสด: แรงงานชายขอบหลังเลิกทาสและไพร่” ของ ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์ และ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ในวารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2561) หน้า 236 หัวข้อ 3. “ค่ารัชชูปการและเงินการศึกษาพลี การเกณฑ์ทหาร พันธะของแรงงานชาย ทศวรรษ 2460” มีข้อความกล่าวถึงบุคคลที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสีย “เงินรัชชูปการ” ไว้ตอนหนึ่ง ดังนี้

…………..

ทศวรรษ 2460 แรงงานชายได้รับภาระเพิ่มเติมจากการเปลี่ยนระบบการจ่ายเงินให้รัฐ นั่นคือ เสีย “เงินรัชชูปการ” ที่หมายถึง “บรรดาเงินซึ่งบุคคลต้องถวายหลวง” จำนวนไม่เกิน 6 บาทที่เปลี่ยนจากค่าราชการและค่าแทนแรงเกณฑ์ในมาตรฐานแบบใหม่ตามพระราชบัญญัติลักษณการเก็บเงินรัชชูปการ พ.ศ. 2462 กฎหมายนี้มีการยกเว้นแรงงานชายบางประเภท นั่นคือ ภิกษุ สามเณร บาทหลวง ครูสอนศาสนาคริสเตียน และผู้สอนศาสนาอิสลาม (ให้นับไม่เกิน 3 คนต่อหนึ่งสุเหร่า) ทหารบก ทหารเรือ ตำรวจภูธร ตำรวจพระนครบาลที่ประจำการ และอยู่ในกองหนุนบางส่วน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตร แพทย์ประจำตำบล คนทุพพลภาพที่ไม่สามารถจะประกอบการหาเลี้ยงชีพได้เอง และคนพวกอื่นๆ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเว้นโดยเฉพาะในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง …

…………..

ท่านผู้ใดมีข้อมูลรายละเอียดว่าด้วย “รัชชูปการ” หากจะกรุณานำมาร่วมบูรณาการเพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าระบบการปกครองไม่สร้างคนมีคุณธรรม

: ก็ต้องให้คนมีคุณธรรมเข้าไปสร้างระบบการปกครอง

#บาลีวันละคำ (3,039)

7-10-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย