บาลีวันละคำ

อาศรม (บาลีวันละคำ 3,040)

อาศรม

มีความหมายมากกว่าที่เข้าใจกัน

อ่านว่า อา-สม

อาศรม” เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “อสฺสม” (อัด-สะ-มะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + สม (ความสงบ), รัสสะ อา เป็น อะ, ซ้อน สฺ ระหว่าง อา + สม

: อา > + สฺ + สม = อสฺสม แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่มีความสงบรอบด้าน

(2) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + สมฺ (ธาตุ = สงบ, ระงับ) + (อะ) ปัจจัย, รัสสะ อา เป็น อะ, ซ้อน สฺ ระหว่าง อา + สมฺ

: อา > + สฺ + สมฺ = อสฺสมฺ + = อสฺสม แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่ระงับความโกรธ” (2) “ที่ซึ่งกิเลสสงบได้อย่างดียิ่ง” (3) “ที่เป็นที่ระงับลงได้รอบด้านแห่งอันตรายที่บีบคั้นกายและจิต

(3) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + สมฺ (ธาตุ = บำเพ็ญเพียร) + ปัจจัย, ลบ , รัสสะ อา เป็น อะ, ซ้อน สฺ ระหว่าง อา + สมฺ

: อา > + สฺ + สมฺ = อสฺสมฺ + = อสฺสมณ > อสฺสม แปลตามศัพท์ว่า “ผู้บำเพ็ญเพียรแรงกล้า

อสฺสม” (ปุงลิงค์) ตามข้อ (1) และ (2) หมายถึง ที่อยู่ของผู้บำเพ็ญพรต (a hermitage) ตามข้อ (3) หมายถึง นักพรต, ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ (ascetic)

บาลี “อสฺสม” สันสกฤตเป็น “อาศฺรม

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อาศฺรม : (คำนาม) ‘อาศรม,’ ที่อาศรัยของปราชญ์; ที่อยู่ของฤษีหรืออริยทั้งหลาย; ป่า, โรงเรียน; คนจำพวกหนึ่งในสี่จำพวก คือ;- ๑. พรหมจารี หรือ พวกนักเรียน, ๒. พวกคฤหัสถ์, ๓. พวกวาณปรัสถ์, ๔. พวกภิกษุ; a hermitage, the abode of sages; the abode of rishis or saints; a wood or thicket; a college or school; a religious class of men, of which there are four classes, viz. 1st, the student of Brahmacāri, 2nd, the householder or Gṛihasth, 3rd, the anchorite or Vāṇaprastha, 4th, the mendicant or Bhikshu.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาศรม, อาศรมบท : (คำนาม) ที่อยู่ของนักพรต. (ส.; ป. อสฺสม, อสฺสมปท).”

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความไว้ว่า –

…………..

อาศรม : ที่อยู่ของนักพรต; ตามลัทธิของพราหมณ์ ในยุคที่กลายเป็นฮินดูแล้วได้วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของชาวฮินดูวรรณะสูง โดยเฉพาะวรรณะพราหมณ์ โดยแบ่งเป็นขั้นหรือช่วงระยะ ๔ ขั้น หรือ ๔ ช่วง เรียกว่า อาศรม ๔ กำหนดว่าชาวฮินดูวรรณะพราหมณ์ทุกคนจะต้องครองชีวิตให้ครบทั้ง ๔ อาศรมตามลำดับ (แต่ในทางปฏิบัติ น้อยคนนักได้ปฏิบัติเช่นนั้น โดยเฉพาะปัจจุบันไม่ได้ถือกันแล้ว) คือ

๑. พรหมจารี เป็นนักเรียนศึกษาพระเวท ถือพรหมจรรย์

๒. คฤหัสถ์ เป็นผู้ครองเรือน มีภรรยาและมีบุตร

๓. วานปรัสถ์ ออกอยู่ป่าเมื่อเห็นบุตรของบุตร

๔. สันยาสี (เขียนเต็มเป็น สันนยาสี) เป็นผู้สละโลก มีผ้านุ่งผืนเดียว ถือภาชนะขออาหารและหม้อน้ำเป็นสมบัติ จาริกภิกขาจารเรื่อยไปไม่ยุ่งเกี่ยวกับชาวโลก

(ปราชญ์บางท่านว่าพราหมณ์ได้ความคิดจากพระพุทธศาสนาไปปรับปรุงจัดวางระบบของตนขึ้น เช่น สันยาสี ตรงกับภิกษุ แต่หาเหมือนกันจริงไม่)

…………..

อภิปราย :

พอพูดว่า “อาศรม” เราก็จะเข้าใจกันว่าหมายถึงที่อยู่ของนักพรตนักบวชอยู่ในป่าเขาลำเนาไพร เช่นพระเวสสันดรถูกเนรเทศไปอยู่ป่า เทวดาก็มาสร้าง “อาศรม” ให้ที่เขาวงกต

แต่ “อาศรม” ในวัฒนธรรมพราหมณ์ไม่ได้หมายถึงอาศรมแบบนั้น แต่หมายถึงการบริหารชีวิตในช่วงวัยต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น 4 ช่วง หรือ 4 อาศรม

อาศรมที่ 1 เรียกว่า “พรหมจารี” พอจะแปลได้ว่า “วัยบริสุทธิ์” หรือ “วัยเรียนรู้” คือศึกษาเล่าเรียนวิทยาการต่างๆ เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะใช้ชีวิตในช่วงต่อไป

อาศรมที่ 2 เรียกว่า “คฤหัสถ์” พอจะแปลได้ว่า “วัยครองเรือน” คือมีคู่ครอง ตั้งครอบครัว ทำมาหากิน หาทรัพย์ให้เป็นหลักฐานมั่นคง

อาศรมที่ 3 เรียกว่า “วานปรัสถ์” หรือ “วนปรัสถะ” พอจะแปลได้ว่า “วัยออกป่า” คือเมื่อลูกหลานเติบโตมีครอบครัวแล้ว ตนเองก็เข้าป่าจำศีลถือพรตบำเพ็ญตบะสร้างสาระในบั้นปลายชีวิตต่อไป

อาศรมที่ 4 เรียกว่า “สันยาสี” พอจะแปลได้ว่า “วัยสละโลก” คือปล่อยวางหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ติดข้องอยู่กับอะไรหมด เป็นช่วงชีวิตที่อยู่ต่อไปจาก “วานปรัสถ์” อีกทีหนึ่ง เป็นวัยเตรียมพร้อมที่จะไปอยู่กับพรหม

ถ้าเอาอายุ 100 ปีเป็นเกณฑ์มาตรฐาน ก็จะใช้เวลาอาศรมละ 25 ปีพอดี

ตั้งแต่เกิดจนอายุ 25 เป็นวัยบริสุทธิ์หรือวัยเรียนรู้

อายุ 25 ถึง 50 เป็นวัยครองเรือน

อายุ 50 ถึง 75 เป็นวัยออกป่า

อายุ 75 ถึง 100 เป็นวัยสละโลก

อาศรม” ตามวัฒนธรรมพราหมณ์นี้คล้ายกับ “วัย” ทั้ง 3 ที่กล่าวถึงในคำสอนทางพระพุทธศาสนา คือ ปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย

หรือที่โคลงโลกนิติว่าไว้ว่า –

๏ ปางน้อยสำเหนียกรู้……เรียนคุณ

ครั้นใหญ่ย่อมหาทุน……..ทรัพย์ไว้

เมื่อกลางแก่แสวงบุญ……ธรรมชอบ

ยามหง่อมทำใดได้……….แต่ล้วนอนิจจัง๚ะ๛

(โคลงโลกนิติ ฉบับประชุมจารึกวัดพระเชตุพน บทที่ 115)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บางเรื่องทำได้เป็นบางที่

: แต่ความดีทำได้ทุกวัย

#บาลีวันละคำ (3,040)

8-10-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย