อัญชลีกรณีโย (บาลีวันละคำ 2,178)
อัญชลีกรณีโย
อ่านว่า อัน-ชะ-ลี-กะ-ระ-นี-โย
เขียนแบบบาลีเป็น “อญฺชลีกรณีโย”
ประกอบด้วยคำว่า อญฺชลี + กรณีโย
(๑) “อญฺชลี” (อัน-ชะ-ลี)
ศัพท์นี้ในบาลีเป็น “อญฺชลิ” (-ลิ เสียงสั้น) ก็มี รากศัพท์มาจาก อญฺชฺ (ธาต = ประกาศ, เปิดเผย; ไป, เป็นไป) + อลิ ปัจจัย
: อญฺชฺ + อลิ = อญฺชลิ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาเป็นเครื่องประกาศความภักดี” (2) “กิริยาที่ประกาศความแจ่มแจ้ง” (คือประกาศความฉลาด) (3) “กิริยาที่เป็นไปเพื่อเชื่อมประสานเป็นอันเดียวกัน”
ที่เป็น “อญฺชลี” (-ลี เสียงยาว) เพราะลง อลี ปัจจัย
“อญฺชลิ – อญฺชลี” หมายถึง การไหว้, ประคองอัญชลี, ยกมือขึ้นประนมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการนับถือกัน, บรรจงสิบนิ้วรวมกันเข้าและยกขึ้นถึงศีรษะ (extending, stretching forth, gesture of lifting up the hands as a token of reverence, putting the ten fingers together and raising them to the head)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อัญชลี : (คำนาม) การประนมมือ, การไหว้, บางทีใช้เป็น อัญชุลี หรือ ใช้ละว่า ชุลี ก็มี. (ป., ส. อญฺชลิ).”
(๒) “กรณีโย”
คำเดิมคือ “กรณีย” (กะ-ระ-นี-ยะ) รากศัพท์คือ กร (ธาตุ = ทำ) + อนีย (ปัจจัย = ควร, พึง) แปลง น เป็น ณ
: กร + อนีย = กรนีย > กรณีย แปลตามศัพท์ว่า “พึงทำ” หรือ “ควรทำ”
“กรณีย” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) (คุณศัพท์) ซึ่งควรทำ, ซึ่งต้องทำหรือพึงทำ, หรือจะต้องทำขึ้น (that ought to be, must or should be done, to be done, to be made)
(2) การกระทำ, การสร้าง (doing, making)
(3) กระทำ, ในความหมายของการแก้, คือ เอาชนะ, ทำลาย (done, in the sense of undoing, i. e. overcome, undone)
(4) ผู้มีกิจที่ยังจะต้องทำอยู่ (one who has still something left to perform)
(5) สิ่งที่ควรทำ, ธุรกิจ, หน้าที่, พันธะ, การงาน (what ought to be done, duty, obligation; affairs, business)
(6) ประโยชน์, ความต้องการ (use, need)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กรณีย-, กรณีย์, กรณียะ : (คำนาม) กิจ. (คำวิเศษณ์) อันควรทํา, อันพึงทํา. (ป.).”
อญฺชลี + กรณีย = อญฺชลีกรณีย (คุณศัพท์) แปลว่า ซึ่งควรแก่อัญชลี, อันเป็นที่ตั้งแห่งการทำอัญชลี (that is worthy of being thus honoured)
“อญฺชลีกรณีย” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) ปุงลิงค์ เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “อญฺชลีกรณีโย”
“อญฺชลีกรณีโย” เป็นบทหนึ่งในสังฆคุณ 9 บท กล่าวคือ –
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค —
๑ สุปฏิปนฺโน (สุปะฏิปันโน) ปฏิบัติดี
๒ อุชุปฏิปนฺโน (อุชุปะฏิปันโน) ปฏิบัติตรง
๓ ญายปฏิปนฺโน (ญายะปะฏิปันโน) ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์
๔ สามีจิปฏิปนฺโน (สามีจิปะฏิปันโน) ปฏิบัติสมควร
๕ อาหุเนยฺโย (อาหุเนยโย) ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา
๖ ปาหุเนยฺโย (ปาหุเนยโย) ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ
๗ ทกฺขิเณยฺโย (ทักขิเณยโย) ควรรับทักษิณาทาน
๘ อญฺชลีกรณีโย (อัญชะลีกะระณีโย) ควรทำอัญชลี
๙ อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส (อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ) เป็นเนื้อนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
ข้อสังเกต :
คำว่า “อญฺชลีกรณีโย” บางสำนักสวดเป็น “อญฺชลีกรณิโย” คือ “-ณีโย” ( –ณี– เสียงยาว) ออกเสียงเป็น “-ณิโย” ( –ณิ– เสียงสั้น) ซึ่งเป็นการออกเสียงผิด
ถ้าสำนักที่สวดต่างกันมาสวดรวมกัน พอถึงบทนี้จะเห็นความผิดเพี้ยนชัดเจน
“-ณีโย” ( –ณี– เสียงยาว ถูกต้อง) ณี– ยังไม่ทันลง –โย “-ณิโย” ( –ณิ– เสียงสั้น ผิด) กระโดดไปที่ –โย ก่อนแล้ว
อย่ายอมให้คำเพียงพยางค์เดียวประจานความมักง่าย –
“อญฺชลีกรณีโย” –ณี– เสียงยาว ถูกต้อง
“อญฺชลีกรณิโย” –ณิ– เสียงสั้น ผิด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เจอคนดี ไม่อัญชลีก็เสียใจ
: เจอคนจัญไร ไหว้ก็เสียมือ
#บาลีวันละคำ (2,178)
30-5-61