บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คำถามสามข้อ

คำถามสามข้อ

—————

พระพุทธศาสนาบอกว่า – 

สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา

(สัพเพ สัตตา อาหารัฏฐิติกา) 

สิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งอย่างเดียวในบรรดาสิ่งมีชีวิต คือ สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร

ปัญหาใหญ่ของสิ่งมีชีวิตก็คือ ทำอย่างไรจึงจะอยู่รอด 

ปัญหานี้ แม้สัตว์ก็มีคำตอบ แต่คำตอบของสัตว์เป็นคำตอบตามสัญชาตญาณ เมื่อพันปีหมื่นปีที่แล้วบรรพบุรุษของมันทำอย่างไรจึงอยู่รอด ทุกวันนี้มันก็ทำอย่างนั้น และในอนาคตมันก็คงจะทำอย่างเดียวกัน

แต่ “ทำอย่างไรจึงจะอยู่รอด?” สำหรับคน มีคำตอบที่หลากหลาย คนทุกวันนี้ไม่ได้ทำเหมือนกับที่บรรพบุรุษของคนเมื่อพันปีหมื่นปีที่แล้วเคยทำกัน และวิธีที่จะอยู่รอดของคนในอนาคตก็คงจะไม่เหมือนกับที่คนในทุกวันนี้ทำกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ผลของคำตอบ ไม่ว่าจะเป็นของคนหรือของสัตว์ ก็ย่อมตรงกัน คือ ทำแล้วอยู่รอด หรือที่คำพูดเก่าๆ บอกว่า หมามันยังไม่อดตาย คนจะยอมอดตายได้อย่างไร 

แต่ถึงกระนั้น วิธีที่จะไม่อดตายของคนกับของสัตว์ก็ย่อมจะแตกต่างกันอยู่

สัตว์ เมื่อมันหิว มันหากินไม่เลือกวิธี ไม่ว่าของที่มันจำเป็นจะต้องกินนั้นอยู่ที่ไหน มันก็จะตะเกียกตะกายเอามากินให้จงได้ มันไม่รับรู้ว่าของนั้นเป็นของใคร เจ้าของเขาหวงเขาห้ามหรือเปล่า มันไม่มีกฎเกณฑ์กติกาใดๆ บางทีของนั้นกำลังอยู่ในปากของตัวอื่นอยู่แท้ๆ มันก็แย่งเอามากินจนได้ (ถ้ามันสามารถแย่งได้ เช่น ดุกว่า เร็วกว่า)

แต่คนที่เจริญแล้วทำอย่างนั้นไม่ได้ ในสังคมที่เจริญแล้วก็ไม่อนุญาตให้ใครทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงอาจไม่แน่นักที่คนจะไม่อดตายเหมือนสัตว์ โดยเฉพาะคนที่ไม่สามารถจะหากินแบบไม่เลือกวิธีได้เหมือนสัตว์ 

ดังนั้น คนจึงมีการหากินที่พลิกแพลงไปต่างๆ แต่สรุปแล้วก็คงรวมลงใน ๒ ทางเท่านั้น คือ 

สัมมาอาชีพ หากินเลือกวิธี และ –

มิจฉาอาชีพ หากินไม่เลือกวิธี

แต่ปัญหาของคน ไม่ใช่หมดเพียงแค่ “ทำอย่างไรจึงจะอยู่รอด” เหมือนสัตว์

ผู้รู้บอกว่า –

……………………..

อาหารนิทฺทา ภยเมถุนญฺจ 

สามญฺญเมตปฺปสุภี นรานํ 

(อาหาระนิททา ภะยะเมถุนัญจะ 

สามัญญะเมตัปปะสุภี นะรานัง) 

สิ่งที่มีเหมือนกันทั้งคนทั้งสัตว์ 

คือ กิน นอน กลัว สืบพันธุ์

ธมฺโม ว เตสํ อธิโก วิเสโส

ธมฺเมน หีนา ปสุภิ สมานา.

(ธัมโมวะ เตสัง อะธิโก วิเสโส

ธัมเมนะ หีนา ปะสุภี สะมานา)

ธรรมะเท่านั้นที่ทำให้คนประเสริฐเหนือกว่าสัตว์

ขาดธรรมะเสียแล้ว คนก็เท่ากับสัตว์

……………………..

จะเห็นได้ว่า ถ้าคนตอบปัญหาได้เพียงแค่เรื่องกิน คือเรื่องทำอะไรหรือทำอย่างไรจึงจะมีกิน คนก็ไม่ดีไปกว่าสัตว์ เพราะสัตว์มันก็ตอบปัญหาเรื่องกินของมันได้เท่าๆ กับคนเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ปัญหาสำหรับคน จึงมิใช่เพียงแค่ “ทำอย่างไรจึงจะอยู่รอด” แต่จะต้องตอบให้เหนือขึ้นไปอีกว่า จะอยู่รอดไปทำอะไร

จะอยู่รอดไปทำอะไร? คำถามนี้ จะว่าไปแล้ว แม้แต่สัตว์มันก็มีคำตอบ แต่ก็เช่นเดิม คำตอบของสัตว์เป็นคำตอบตามสัญชาตญาณ นั่นก็คือ อยู่รอดไปเพื่อกิน นอน กลัว แล้วก็สืบพันธุ์ 

ถ้าคนตอบได้เท่านี้ คนก็ไม่ดีไปกว่าสัตว์อยู่นั่นเอง

พระพุทธศาสนาตอบคำถามข้อนี้ไว้ว่า คนควรอยู่รอดไปเพื่อทำ ๒ สิ่ง คือ

อัตตัตถะ (อัตตัตถสมบัติ) ประโยชน์ตน, สิ่งที่เป็นคุณแก่ชีวิต ช่วยให้เป็นอยู่ด้วยดี สามารถพึ่งตน หรือเป็นที่พึ่งแก่ตนได้, ความมีชีวิตและสิ่งอันเกื้อหนุนให้ชีวิตเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติทั้งหลาย ทั้งทางกาย ทางสังคม ทางจิตใจ และทางปัญญา, ชีวิตที่มีคุณภาพ มีคุณค่า และมีความหมาย

ปรัตถะ (ปรหิตปฏิบัติ) ประโยชน์ผู้อื่น, ประโยชน์เพื่อคนอื่น อันพึงบำเพ็ญด้วยการช่วยให้เขาเป็นอยู่ด้วยดี พึ่งตนเองได้ 

(คำจำกัดความตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต)

ตอบสั้นๆ ก็คือ คนควรอยู่รอดไปเพื่อทำประโยชน์ตน และเพื่อทำประโยชน์ผู้อื่น

แต่คำตอบสั้นๆ นี้ อาจจะมีคำจำกัดความที่ยืดยาวและหลากหลายไปตามวิสัยทัศน์ของแต่ละคน เอาแค่ถามว่า ประโยชน์ตนคืออะไรบ้าง เท่านี้ คำตอบก็แตกต่างกันไปจนสุดจะพรรณนาทีเดียว

แต่กรอบขอบเขตก็มิใช่ว่าจะไม่มี และกรอบขอบเขตที่ว่านี้ก็ไม่ต้องไปแสวงหาจากที่ไหนเลย ดูกันตรงที่คนกับสัตว์แตกต่างกันตรงไหนบ้างนั่นเอง ก็จะพบ

ถ้าใครเห็นว่า การได้กิน ได้นอน (พักผ่อนเสพสุขในรูปแบบและวิธีการต่างๆ ตามที่ปรารถนา) ได้กลัว (แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวให้หมดไปวันหนึ่งทีหนึ่ง) และได้สืบพันธุ์ (หาความสุขทางเนื้อหนัง) นี่แหละคือประโยชน์ตน 

ถ้าคนมองได้แค่นี้ ก็ไม่ดีไม่ประเสริฐไปกว่าสัตว์ที่ตรงไหนเลย เพราะสัตว์มันก็รู้จักทำประโยชน์ตนแบบที่ว่านี้

เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็จะต้องหาคำจำกัดความให้ดีว่า ประโยชน์ตนคืออะไร 

พระท่านย่อมว่า –

………………..

อสาเร สารมติโน 

สาเร จาสารทสฺสิโน

เต สารํ นาธิคจฺฉนฺติ

มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจรา.

(อะสาเร สาระมะติโน

สาเร จาสาระทัสสิโน

เต สารัง นาธิคัจฉันติ

มิจฉาสังกัปปะโคจะรา)

สิ่งที่ไม่เป็นสาระ เห็นว่าเป็นสาระ

สิ่งที่เป็นสาระ เห็นว่าไม่เป็นสาระ

เขาก็ย่อมไม่ประสบสิ่งอันเป็นสาระ

เพราะมีวิสัยทัศน์ที่ผิด

สารญฺจ สารโต ญตฺวา 

อสารญฺจ อสารโต 

เต สารํ อธิคจฺฉนฺติ

สมฺมาสงฺกปฺปโคจรา.

(สารัญจะ สาระโต ญัต๎วา

อะสารัญจะ อะสาระโต 

เต สารัง อะธิคัจฉันติ

สัมมาสังกัปปะโคจะรา)

สิ่งที่เป็นสาระ รู้ว่าเป็นสาระ

สิ่งที่ไม่เป็นสาระ ก็รู้ว่าไม่เป็นสาระ

เขาย่อมประสบสิ่งอันเป็นสาระ

เพราะมีวิสัยทัศน์ที่ถูก

………………..

สูงไปกว่านั้น ท่านสอนให้อยู่รอดไปเพื่อทำประโยชน์ผู้อื่นด้วย 

คนจะประเสริฐกว่าสัตว์แค่ไหนเพียงไรก็ดูกันที่ตรงนี้แหละ

ถ้าจะว่าไปแล้ว สัตว์หลายชนิดมันก็ทำประโยชน์ผู้อื่นได้เหมือนกัน แต่ก็เป็นได้แค่ประโยชน์ตามธรรมชาติของสัตว์ชนิดนั้นๆ เช่น ให้เนื้อเป็นอาหาร ให้เขาหนังเป็นเครื่องใช้เครื่องประดับ ซึ่งไม่ใช่ประโยชน์ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ขึ้นเหมือนคน 

ดังที่โคลงโลกนิติว่าไว้ว่า –

………………..

๏ โคควายวายชีพได้……..เขาหนัง

เป็นสิ่งเป็นอันยัง………….อยู่ไซร้

คนเด็ดดับสูญสัง-…………ขารร่าง

เป็นชื่อเป็นเสียงได้……….แต่ร้ายกับดี๚ะ๛

………………..

หรือที่กฤษณาสอนน้องว่าไว้ว่า –

………………..

๏ พฤษภกาสร………….อีกกุญชรอันปลดปลง

โททนต์เสน่งคง………..สำคัญหมายในกายมี

๏ นรชาติวางวาย……….มลายสิ้นทั้งอินทรีย์

สถิตทั่วแต่ชั่วดี…………ประดับไว้ในโลกา

………………..

สรุปว่า คนที่เกิดมาแล้วจะต้องตอบคำถามอย่างน้อย ๓ ข้อ คือ

๑ ทำอย่างไรจึงจะอยู่รอด

๒ จะอยู่รอดไปทำอะไร

๓ จะสร้างสรรค์ประโยชน์เพื่อโลกได้อย่างไร

คำถามข้อ ๑ สัตว์มันก็ตอบได้ ถ้าคนตอบไม่ได้ก็อายสัตว์

คำถามข้อ ๒ สัตว์มันก็ตอบได้อีก แต่ตอบได้ตามประสาสัตว์เท่านั้น คนจึงต้องตอบให้ดีกว่าสัตว์

คำถามข้อ ๓ สัตว์มันไม่ต้องตอบ ถ้าคนไม่ตอบคำถามข้อนี้ คนก็ไม่ดีไปกว่าสัตว์

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๙ ตุลาคม ๒๕๖๓

๑๓:๑๙

————-

เขียนเมื่อ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๔

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *