ทานาทิธัมมวิธี (บาลีวันละคำ 3,046)
ทานาทิธัมมวิธี
ทาน: 1 ใน 8 วิธีเพื่อชัยชนะ
อ่านว่า ทา-นา-ทิ-ทำ-มะ-วิ-ที
แยกศัพท์เป็น ทาน + อาทิ + ธัมม + วิธี
(๑) “ทาน”
บาลีอ่านว่า ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ, = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ทา + ยุ > อน = ทาน แปลตามศัพท์ว่า “การให้” “สิ่งของสำหรับให้”
“ทาน” มีความหมายว่า –
(1) การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
(2) สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง)
“ทาน” ใช้ในรูปเดียวกันทั้งบาลีและสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ทาน : (คำนาม) ‘ทาน’, การให้, การบริจาค; มันเหลวซึ่งเยิ้มออกจากขมับช้างตกน้ำมัน; การอุปถัมภ์, การบำรุง; วิศุทธิ, นิรมลีกรณ์; การตัด, การแบ่ง; ทักษิณา, ของถวาย, ของให้เปนพิเศษ; การตี, การเฆาะ; อรัณยมธุ, น้ำผึ้งป่า; giving, gift, donation; fluid that flows from the temples of an elephant in rut; nourishing, cherishing; a present, a special gift; striking, beating; wild honey.”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “ทาน” ไว้ว่า –
“ทาน : การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น; สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป.”
(๒) “อาทิ”
เป็นบาลีสันสกฤต รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + ทา (ธาตุ = ให้) + อิ ปัจจัย, “ลบสระหน้า” (คือลบ อา ที่ ทา : ทา > ท)
: อา + ทา = อาทา > อาท + อิ = อาทิ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนอันเขาถือเอาทีแรก”
หมายเหตุ : “อา” (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) ในที่นี้ใช้ในความหมาย “กลับความ” เมื่อนำหน้า “ทา” ธาตุ ซึ่งมีความหมายว่า “ให้” เป็น “อาทา” จึงกลับความจาก “ให้” (give) เป็น “เอา” (take)
“อาทิ” เป็นคำนาม (ปุงลิงค์) หมายถึง จุดเริ่มต้น, เบื้องแรก (starting-point, beginning)
“อาทิ” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง เบื้องต้น, ในชั้นแรก, อันที่หนึ่ง, ตัวการ, หัวหน้า (beginning, initially, first, principal, chief)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อธิบายความหมายของ “อาทิ” เมื่อใช้เป็นคุณศัพท์ไว้ว่า –
beginning with, being the first (of a series which either is supposed to be familiar in its constituents to the reader or hearer or is immediately intelligible from the context), i. e. and so on, so forth. (เริ่มด้วย, เป็นที่หนึ่ง (พูดถึงลำดับอะไรก็ได้ที่เป็นของคุ้นแก่ผู้อ่านหรือผู้ฟัง หรือพอเป็นที่เข้าใจได้จากบริบท), นั่นคือ- และอื่น ๆ, และต่อๆ ไป)
“อาทิ” สันสกฤตก็เป็น “อาทิ” เช่นกัน
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“อาทิ : (คำคุณศัพท์) ต้น, ประถม, แรก; ก่อน; เปนเอก; อื่น; first, primary; prior; pre-eminent; other; – (วลี) และอื่นๆ; et cetera, and the rest, and so forth.”
“อาทิ” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“อาทิ : (คำนาม) ต้น ในคําว่า เป็นอาทิ, เป็นเบื้องต้น, ทีแรก, ข้อต้น. (ป., ส.).”
(๓) “ธัมม”
เป็นรูปคำบาลีเขียนแบบไทย เขียนแบบบาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)
(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)
(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)
(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้”
บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
“ธรรม” ในที่นี้ความหมายเน้นหนักตามข้อ (2) และ (3)
(๔) “วิธี”
บาลีเป็น “วิธิ” (โปรดสังเกต –ธิ สระ อิ ไม่ใช่ –ธี สระ อี) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)
: วิ + ธา > ธ = วิธ + อิ = วิธิ แปลตามศัพท์ว่า “ทรงไว้เป็นพิเศษ”
“วิธิ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การจัดแจง, การจัดการ, การประกอบ, กรรมวิธี (arrangement, get up, performance, process);
(2) พิธีการ, พิธีกรรม (ceremony, rite);
(3) การนัดหมาย, การกำหนด, การจัดหา (assignment, disposition, provision)
“วิธิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิธี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “วิธี” ในภาษาไทยไว้ว่า –
(1) ทํานองหรือหนทางที่จะทํา เช่น วิธีทำฝอยทอง วิธีสอนคณิตศาสตร์ เลขข้อนี้ทำได้หลายวิธี.
(2) แบบ, แบบอย่าง, เช่น ทำถูกวิธี.
(3) กฎ, เกณฑ์.
(4) คติ, ธรรมเนียม.
การประสมคำ :
๑ ทาน + อาทิ = ทานาทิ แปลว่า “(ธรรม) มีทานเป็นต้น”
๒ ทานาทิ + ธมฺม = ทานาทิธมฺม (ทา-นา-ทิ-ทำ-มะ) แปลว่า “ธรรมมีทานเป็นต้น”
๓ ทานาทิธมฺม + วิธิ = ทานาทิธมฺมวิธิ (ทา-นา-ทิ-ทำ-มะ-วิ-ทิ) แปลว่า “วิธีคือธรรมมีทานเป็นต้น” หรือ “ธรรมวิธีมีทานบารมีเป็นต้น”
“ทานาทิธมฺมวิธิ” เขียนแบบไทยเป็น “ทานาทิธัมมวิธี”
อธิบาย :
“ทานาทิธมฺมวิธิ” หรือ “ทานาทิธัมมวิธี” ถอดคำออกมาจากจาก “พุทธชยมังคลอัฏฐกคาถา” หรือคาถาพาหุงบทที่ 1 ข้อความในบาทคาถาว่า “ทานาทิธมฺมวิธินา” ข้อความเต็มทั้งบทว่าดังนี้ –
เขียนแบบบาลี :
พาหุํ สหสฺสมภินิมฺมิตสาวุธนฺตํ
คฺรีเมขลํ อุทิตโฆรสเสนมารํ
ทานาทิธมฺมวิธินา ชิตวา มุนินฺโท
ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ.
เขียนแบบคำอ่าน :
พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
ค๎รีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ.
คำแปล :
พญามารเนรมิตแขนตั้งพัน ถืออาวุธครบมือ
ขี่ช้างคิรีเมขละ พร้อมด้วยเสนามารโห่ร้องกึกก้อง
พระจอมมุนีทรงเอาชนะได้ด้วยธรรมวิธีมีทานบารมีเป็นต้น
ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน
(สำนวนแปลของอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก จากหนังสือ คาถาพาหุง)
ขยายความ :
คำว่า “-มีทานบารมีเป็นต้น” หมายความว่า ธรรมะที่จัดว่าเป็นบารมีคือธรรมที่ทำให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้ามี 10 ข้อ ข้อต้นหรือข้อแรกคือ “ทาน” จึงพูดว่า “-มีทานบารมีเป็นต้น”
อีก 9 ข้อ คือ ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา
ขยายความตามคาถาว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาของเราทั้งหลาย ก่อนแต่ที่จะได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้นได้ทรงถือเพศบรรพชิต บำเพ็ญเพียรแสวงหาทางพ้นทุกข์อยู่เป็นเวลาถึง ๖ ปี ส่วนใหญ่เป็นการปฏิบัติทางทุกรกิริยา คือทรมานตนให้ลำบากด้วยประการต่างๆ เมื่อไม่พบทางพ้นทุกข์ จึงทรงหันมาปฏิบัติในทางบำเพ็ญเพียรทางใจ ไม่นานนักก็ทรงบรรลุความพ้นทุกข์ คือสิ้นกิเลสอาสวะทั้งปวง เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เหตุการณ์ในชัยมงคลข้อที่ 1 นี้เกิดขึ้นในตอนเย็นของวันที่จะได้ตรัสรู้ วันที่ตรัสรู้คือวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ตอนเช้าวันนั้นทรงรับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา ตอนเย็นทรงรับหญ้าคาของโสตถิยพราหมณ์ และทรงใช้หญ้าคานั้นลาดเป็นที่ประทับนั่ง ณ ควงไม้มหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงอธิษฐานพระทัยว่า หากยังมิได้บรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วไซร้ จะไม่ทรงลุกจากที่นั่ง แม้ว่าหฤทัย เนื้อหนัง เอ็น กระดูก และเลือด จะเหือดแห้งสิ้นไปก็ตาม ครั้งนั้นเทพยดาและพรหมทุกชั้นฟ้าพากันมาประชุมแวดล้อมกระทำสักการบูชาอยู่พร้อมพรั่ง
ฝ่ายวสวัตดีพญามาร (เรียกเป็น วัสสวดี ก็มี) ซึ่งได้ติดตามหาโอกาสขัดขวางพระองค์มาตั้งเสด็จออกผนวชเกรงว่าพระองค์จะพ้นจากอำนาจของตน จึงระดมสรรพกำลังอันประกอบด้วยเสนามาร อาวุธยุทธพาหนะ ยกมาอย่างมืดฟ้ามัวดิน หมายจะขู่ขับให้พระโพธิสัตว์ลุกหนีไปเสียจากบัลลังก์ที่ประทับ ตัวพญาวสวัตดีมารนิรมิตแขนข้างละพัน ถืออาวุธนานาชนิด ขึ้นคอช้างคิรีเมขละนำทัพ ขณะนั้นเทพยดาและพรหมที่มาประชุมแวดล้อมอยู่ต่างตกใจกลัวแล่นเตลิดหนีไปคนละทิศคนละทาง เหลือไว้แต่พระมหาบุรุษเพียงผู้เดียว
พระมหาบุรุษระลึกถึงบารมี 30 ทัศ (คือบารมี 10 ประการ แต่ละประการมี 3 ระดับ) มีทานบารมีเป็นต้น ที่ได้ทรงบำเพ็ญมาทุกชาตินับนานถึงสี่อสงไขยแสนมหากัป แล้วประทับสงบนิ่งมิได้หวั่นไหว พญามารจึงสั่งเสนามารเข้ารุกไล่พลางซัดสาดสรรพอาวุธเข้าใส่ อาวุธเหล่านั้นก็กลับกลายเป็นเครื่องสักการบูชาไปสิ้น วสวัตดีมารเห็นดังนั้นจึงใช้วาจาสำทับให้พระมหาบุรุษลุกไปเสีย อ้างว่าบัลลังก์ที่ประทับนั้นเป็นของตน มีเสนามารทั้งหลายเป็นพยานยืนยัน พระมหาบุรุษก็ยืนยันบ้างว่าบัลลังก์นั้นเป็นของพระองค์ ทรงอ้างนางธรณีเป็นพยาน (พระพุทธรูปที่สร้างอิงเหตุการณ์ตอนนี้เรียกว่า ปางมารวิชัย พระหัตถ์ขวาพาดที่พระชานุ คว่ำพระหัตถ์ และนิ้วพระหัตถ์ชี้ลงที่แผ่นดิน) นางธรณีก็ปรากฏกาย คลี่มวยผมแล้วบีบน้ำออกจากมวยผมกลายเป็นท้องทะเลท่วมทัพพญามารพ่ายแพ้ไปสิ้น น้ำที่ออกจากมวยผมนางธรณีนั้นคือน้ำกรวดที่พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญทานบารมีเป็นอาทิมาเป็นอเนกชาตินั่นแล
เรื่องนี้ท่านเล่าไว้เป็นรูปธรรม ที่เรียกว่า “บุคลาธิษฐาน” ถ้าพูดเป็นนามธรรมหรือ “ธรรมาธิษฐาน” ก็คือทรงชำนะสรรพกิเลสาสวะอันเปรียบได้กับพญามารและเสนามารได้สิ้นเชิงนั่นเอง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าตั้งใจจะชนะมาร
: อย่าหยุดอยู่แค่ทานบารมี
#บาลีวันละคำ (3,046)
14-10-63