บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ลักษณนามกับความเป็นไทย

ลักษณนามกับความเป็นไทย

——————————

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า –

ลักษณนาม : (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) (คำนาม) คำนามที่แสดงลักษณะของสิ่งต่าง ๆ เช่น คน ๓ คน แมว ๒ ตัว ขลุ่ย ๓ เลา ลูกคนโต หมวกใบใหญ่.”

คำว่า “คน” (หลังเลข ๓) “ตัว” “เลา” “ใบ” นั่นคือ “ลักษณนาม” 

คำอื่นๆ ที่เราพูดกันจนชินก็เช่น รถ ๑ “คัน” บ้าน ๑ “หลัง” ถัง ๑ “ใบ” ไข่ ๕ “ฟอง” น้ำ ๓ “ขวด” ตำรวจ ๔ “นาย” ผู้ร้าย ๒ “คน” 

คำในเครื่องหมาย – “” – นั่นคือลักษณนาม

ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ก็คือ คนไทย-โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่-ใช้ลักษณนามกันไม่ค่อยถูก หรือที่จริงควรจะเรียกว่าใช้ไม่เป็น 

ที่สะดุดหูอยู่เป็นประจำก็เช่น “ผลิตภัณฑ์ตัวนี้” “สินค้าตัวนี้”

เรียกผลิตภัณฑ์ เรียกสินค้าเป็น “ตัว”

หลายปีมาแล้ว ผมได้อ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์ฉบับหนึ่ง ลงวันเดือนปีว่า Wednesday, March 22, 2017 หัวข้อข่าว “ชงตั้งเจ้าอาวาส พระนอกจานบิน” ข้อความตอนหนึ่งเขียนว่า –

“ตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 24 หากไม่มีรักษาการเจ้าอาวาส สามารถแต่งตั้งเจ้าอาวาสคนใหม่ได้”

“เจ้าอาวาสคนใหม่” – เดี๋ยวนี้เขาใช้ลักษณนามแบบนี้กันแล้วหรือ? 

อันที่จริงน่าจะบอกว่าหนังสือพิมพ์ชื่ออะไร แต่สังคมเรามีค่านิยมเกรงใจคนทำผิด กลัวเขาจะเสียหาย จึงขอไม่บอก 

นี่ก็เป็นผลเสียอีกอย่างหนึ่ง คือเท่ากับช่วยกันปกป้องคนทำผิด ทำให้คนทำผิดได้ใจ เพราะเชื่อว่าอย่างไรเสียความผิดก็ไม่มาถึงตัว ทำผิดอีกก็ไม่ต้องกลัว ไม่มีใครกล้าเอาชื่อคนทำผิดไปเปิดเผย

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่เกิดมานานแล้วและยังคงเป็นอยู่ก็คือ ไม่ใช้ลักษณนาม แต่ใช้วิธีพูดแบบฝรั่ง เช่น “ผู้ต้องหา ๒ คน” ก็พูด (หรือเขียน) ว่า “๒ ผู้ต้องหา”

ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีลักษณนาม ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งและเป็นความงามหรือเสน่ห์ของภาษา ควรช่วยกันศึกษาเรียนรู้แล้วใช้ให้ถูกต้อง 

ลักษณนามเป็นสมบัติของภาษาไทย

ภาษาไทยเป็นสมบัติของชาติ 

การรักษาภาษาก็คือรักษาชาติ รักษาความเป็นไทย

ถ้าเห็นว่าการใช้ภาษาให้ถูกต้องไม่ใช่เรื่องสำคัญ หรือถึงกับเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ –

เราก็จะเสียความเป็นไทยไปอีกเรื่องหนึ่ง

เมื่อยอมให้เสียได้เรื่องหนึ่ง เรื่องอื่นๆ ก็จะเสียตามไปอีกเรื่อยๆ

และในที่สุด เราก็จะไม่เหลืออะไรที่เป็นไทย-แม้แต่แผ่นดินที่จะอาศัยอยู่ได้อย่างภาคภูมิใจ

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๙ ธันวาคม ๒๕๖๔

๑๔:๐๒

…………………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *